เรือไฟฟ้า ทางเลือกใหม่ไร้คาร์บอนในอีอีซี

Share

Loading

การสัญจรทางน้ำ คือหนึ่งจุดเด่นของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่จะพัฒนาเรือไฟฟ้าในทุกเส้นทาง มีเป้าหมายเดินหน้าสู่ กรีนซิตี้ เต็มรูปแบบ

เมื่อเร็วๆ นี้ ปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ได้ประสานจัดประชุมทำแผนปฏิบัติการสร้างเมืองระยองร่วมกับ ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC HDC และคณะผู้เชี่ยวชาญจาก 2 ศูนย์เครือข่ายเชี่ยวชาญคือ ศูนย์ EV Connex  มหาวิทยาลัยบูรพา และศูนย์พาณิชยนาวี มหาวิทยาลัยเกษตรศรีราชา ร่วมปฏิบัติการปรับสร้างระยองสู่ Green and Digital City โดยมีการสำรวจเกาะเสม็ดและสภาพเมืองระยอง เพื่อปรับระบบการเดินทางคมนาคมของเกาะเสม็ด ตั้งแต่ฝั่งระยอง ถึงบนเกาะให้เป็นระบบยานยนต์ไฟฟ้า ทั้ง เรือ รถ และมอเตอร์ไซค์

โดยทาง อบจ.ระยอง ได้มีการจัดการพื้นฐานด้านขยะและพลังงานบางส่วนรองรับไว้แล้ว ขณะที่ทางศูนย์เชี่ยวชาญ EV connex และศูนย์พาณิชยนาวี จะร่วมกันดัดแปลงและพัฒนามาตรฐานการดัดแปลง พัฒนาระบบนิเวศการเป็นเมืองยุคใหม่แบบ Green & Digital City รวมทั้งจะเชื่อมต่อกับ Data Center และทีมผู้เชี่ยวชาญ ร่วมมือกับ ซิลิคอน เทค พาร์ค พัฒนาพื้นฐาน mindset ความเข้าใจรับรู้ใหม่ในการปรับฐานการพัฒนาความก้าวหน้าของเมือง จากการใช้ข้อมูลและการสื่อสาร 5G เพื่อการบริหารและบริการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ครอบคลุมทั้ง 68 แห่งในระยอง เป็นอีกความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ ที่ต้องใช้พลังความรู้ความเข้าใจและความร่วมมืออย่างมากของชาวระยอง

ล่าสุด (17 มี.ค. 2566) ทีมงานสร้างเครือข่าย EEC Network เพื่อส่งเสริมการใช้เรือไฟฟ้า สำหรับพื้นที่อีอีซีมุ่งสู่กรีนซิตี้ นำโดย ประธาน EEC HDC ได้ร่วมล่องเรือเพื่อเยี่ยมชมและศึกษาดูงานเรือไฟฟ้า กฟผ. ชลพัฒน์ 1 ในเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยา จากท่าเรือพระราม 7-สะพานตากสิน เป็นเรือไฟฟ้าแบบสองท้อง (Catamaran) รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 80 คน ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขนาด 215 กิโลวัตต์-ชั่วโมง สามารถทำความเร็วได้ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ระบบปรับอากาศในห้องโดยสารถูกออกแบบให้ใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งอยู่บริเวณหลังคาเรือ ลดต้นทุนการใช้น้ำมันได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 30 ตัน/ปี เป็นส่วนหนึ่งในโครงการวิจัยเรื่องโครงการนำร่องศึกษาการเดินเรือไฟฟ้า เพื่อสาธารณะและพัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทาง “ล้อ ราง เรือ” ระหว่าง กฟผ. กับ คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา

รศ.ดร.ยอดชาย เตียเปิ้น อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทางทะเล คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา กล่าวถึงการพัฒนาเรือลำนี้ว่า เราทำงานวิจัยร่วมกับ กฟผ. พัฒนาต้นแบบเรือไฟฟ้า ตั้งแต่การออกแบบ การจัดหาวัสดุ เพื่อพลังงานสะอาด และการประหยัดพลังงาน โดยได้รับทุนสนับสนุนงานงานวิจัยพัฒนาเรือลำนี้จาก กฟผ. พัฒนาเรือไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด ลดการปล่อยมลภาวะ ไม่ว่าจะเป็นทางอากาศ ทางเสียง รวมถึงคลื่นที่มีความนุ่มนวลไม่ทำลายชายฝั่ง สร้างการเดินทางและท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ รวมถึงนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ด้วย เราจึงอยากเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาเห็นของจริง ได้สัมผัส เพื่อนำไปต่อยอดโครงการในพื้นที่อีอีซี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ให้ความสำคัญกับการลดมลภาวะ ไม่ว่าจะเป็นเรือโดยสาร เรือท่องเที่ยว เรือแม่น้ำ สามารถนำองค์ความรู้ตรงนี้ไปพัฒนาต่อยอดได้ เป็นการนำงานวิจัยมาตอบโจทย์สังคม สร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ

ศูนย์พาณิชยนาวี มหาวิทยาลัยเกษตรศรีราชา ยังมีบทบาทร่วมพัฒนาเรือไฟฟ้าในอีอีซี ด้วยการพัฒนาอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการใช้งานเรือประเภทต่างๆ โดยได้รับงบจัดสรรจากอีอีซี ในการพัฒนาห้องแลปต่างๆ รองรับการออกแบบเรือที่จะนำไปใช้ในพื้นที่อีอีซี เช่น โครงการระยองกรีน เป็นต้น

“ในฐานะที่คณะพาณิชยนาวี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา สอนทั้งวิศวกรรมศาสตร์การเดินเรือ การขนส่งทางทะเล ครอบคลุมอุตสาหกรรมพาณิชยนาวีทั้งระบบ จึงนำองค์ความรู้ถ่ายทอดทั้งนักศึกษาและบุคคลทั่วไป เพื่อตอบโจทย์สังคม ไม่ใช่แค่มุ่งผลิตงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์อย่างเดียว แต่ได้ร่วมมือกับอุตสาหกรรมในพื้นที่สร้างสรรค์การสัญจรทางน้ำรูปแบบใหม่ ยกระดับการพัฒนาเรือไฟฟ้าให้ดียิ่งขึ้น นำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแพร่หลาย ซึ่งอีอีซีเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความโดดเด่นด้านการลดมลภาวะ เป็นสมาร์ทซิตี้ หรือ กรีนซิตี้ ทุกภาคส่วนต่างสะสมองค์ความรู้ให้ตอบโจทย์ทั้งนักลงทุนและประชาชนผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ ให้มองเห็นเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งการพัฒนาคนด้านพาณิชยนาวี เราสามารถเติมเต็มได้ตลอด” รศ.ดร.ยอดชาย กล่าว

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ซึ่งร่วมกำกับดูแลงานด้านสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการแผนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อีอีซีด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือยุทธศาสตร์ที่ 1 การลดมลพิษ กำจัดของเสีย และควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง เพิ่มพื้นที่ดูดซับมลพิษทางอากาศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมการผลิต บริการ และบริโภคที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม และ ยุทธศาสตร์ที่ 4 เร่งฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ ลำธาร ทรัพยากรดิน และความหลากหลายทางชีวภาพ

การพัฒนา “เรือไฟฟ้า” จึงเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายนำพาอีอีซีไปสู่เป้าหมายระยะสั้นที่ต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 หรือประมาณ 68 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ภายในปี 2569 ทำให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งทำให้ประเทศไทยไปถึงเป้าหมายมีความเป็นกลางทางคาร์บอนในอนาคต

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2023/03/22/egat-electric-boat-for-eec/