นักวิทยาศาสตร์พบเทคนิคใหม่ที่จะเปลี่ยนให้ ‘อากาศ’ เป็น ‘ไฟฟ้า’ ได้

Share

Loading

การต่อสู้กับภาวะโลกร้อนได้บีบให้มนุษย์มองหาทางใช้พลังงานที่สะอาดและยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งหลายคนก็คงสงสัยว่าทำไมพลังงานที่มีอย่างมหาศาลอย่างแสงอาทิตย์ถึง ‘ไม่พอใช้’ เพราะพลังงานแสงอาทิตย์แค่ชั่วโมงเดียวก็เพียงพอที่มนุษยชาติใช้ทั้งปีแล้ว คำตอบก็คือ เพราะแสงอาทิตย์มันส่องมายังโลกไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากโลกยังมี ‘เวลากลางคืน’ อยู่ ซึ่งไม่มีพลังงานแสงอาทิตย์ และมนุษย์ไม่มีเทคโนโลยีเก็บพลังงานที่มีประสิทธิภาพและราคาถูกพอจะเก็บพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในเวลากลางคืนได้

ดังนั้นปัญหาของพลังงานแสงอาทิตย์เลยกลายเป็นเรื่องพัฒนาการของแบตเตอรี่ ซึ่งก็ไปเจอปัญหาอีกว่าแร่ธาตุต่างๆ ที่ต้องเอามาผลิตแบตเตอรี่ในยุคนี้ก็ดูท่าจะไม่พอแล้ว และวัตถุดิบที่จำเป็นต่อการผลิตแบตเตอรี่ในเทคโนโลยีปัจจุบันอาจหมดโลกเร็วกว่าน้ำมันด้วยซ้ำ

​นี่เลยทำให้เริ่มมีแนวคิดใหม่ๆ ที่จะหาแหล่งพลังงานสะอาดและยั่งยืนที่ใช้ได้ทุกที่ใน 24 ชั่วโมง และแหล่งพลังงานไม่ใช่อะไรนอกจาก ‘อากาศ’

​อธิบายง่ายๆ คือ ถ้าเราเอาธาตุใดๆ ที่มีอยู่ในอากาศมาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ พลังงานนั้นย่อมจะเจ๋งกว่าพลังงานแสงอาทิตย์เพราะมันใช้ได้ 24 ชั่วโมง

​นักวิทยาศาสตร์ก็เลยเริ่มไปศึกษาพวกแบคทีเรีย เพราะนี่คือสิ่งมีชีวิตที่ ‘ใช้อากาศเป็นพลังงาน’ ได้จริงๆ หรือเรียกได้ว่ามัน ‘กินอากาศเป็นอาหาร’ ก็ได้ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์รู้มานานแล้ว แต่ไม่รู้ว่าพวกมันทำแบบนั้นได้ยังไง

​ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียวิจัยและพบว่า แบคทีเรียที่ทำแบบนี้ได้ เพราะมี ‘เอนไซม์’ (มันคือโปรตีนที่สิ่งมีชีวิตผลิตมาเพื่อใช้กระตุ้นปฏิกิริยาทางเคมีต่างๆ) ชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถแปลงธาตุไฮโดรเจนในอากาศให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ และนักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อเอนไซม์ตัวนี้ว่า ‘Huc’ ​และความน่าสนใจของ Huc ก็คือ มันเป็นเอนไซม์พื้นๆ ของแบคทีเรียทั่วไปที่หาได้ในดินเลย ไม่เท่านั้น เจ้า Huc ยังทำให้แบคทีเรียมีความสามารถ ‘แปลงอากาศเป็นไฟฟ้า’ ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีไฮโดรเจนมากอะไรเลย และจริงๆ มันใช้ไฮโดรเจนความเข้มข้นเพียง 0.00005 เปอร์เซ็นต์ ของที่มีในอากาศมันก็เริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าได้แล้ว

​การค้นพบนี้มันน่าจะเป็นฐานให้เกิดพวกไอเดียแบบ ‘โรงไฟฟ้าพลังงานแบคทีเรีย’ ขนาดจิ๋ว แบบที่สามารถอยู่ในอุปกรณ์อัจฉริยะที่ใช้กระแสไฟฟ้าไม่มากได้ ซึ่งการใช้กระแสไฟฟ้าแบบนี้ จะทำให้อุปกรณ์ทำงานไปได้ตลอดที่มีอากาศมาหล่อเลี้ยง ซึ่งก็แน่นอน คือทำงานได้ 24 ชั่วโมง ได้ทุกที่ที่มนุษย์หายใจได้แน่ๆ ซึ่งทำให้มันดีกว่าพลังงานแสงอาทิตย์ในแง่ความต่อเนื่องของพลังงานที่มีมากกว่า

​ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ก็พบอีกว่า ถ้าเพิ่มความเข้มข้นไฮโดรเจนเข้าไปแบคทีเรียก็จะผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้น และนี่ก็อาจเป็นไอเดียที่จะทำให้เทคโนโลยีแบบนี้สามารถเป็นแหล่งพลังงานสะอาดตลอด 24 ชั่วโมง ให้กับอุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้ในอนาคต

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/brandthink.me/photos/a.1767934240198787/3608283716163821/