เอ็นไอเอ ดึงจิสด้าและภาคธุรกิจอวกาศฝรั่งเศส ดัน “เศรษฐกิจอวกาศ” หรือ “สเปซอีโคโนมี” ประเทศไทย ระดมองค์ความรู้และเครือข่ายพัฒนาวงโคจรสตาร์ทอัพอวกาศไทย ตั้งเป้า 10 ปี 100 ราย
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เดินหน้าฉลองปีนวัตกรรมไทย – ฝรั่งเศส จับมือสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA และ สตาร์เบิร์ส (Starburst) ภาคธุรกิจอวกาศขนาดใหญ่ของฝรั่งเศส ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศของไทยให้เติบโตสู่ตลาดโลก โดยมีแผนเริ่มโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอวกาศและอากาศยาน หรือ F1 พร้อมดึงสตาร์ทอัพจากต่างประเทศมาร่วมเร่งสร้างการเติบโตและเพิ่มมูลค่าธุรกิจ
ทั้งนี้ NIA ตั้งเป้าปั้นสตาร์ทอัพด้านอวกาศและอากาศยานรายใหม่เข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่องประมาณปีละ 10 ราย ภายใน 10 ปี ไทยจะมีสตาร์ทอัพด้านอวกาศกว่า 100 ราย
นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า เทคโนโลยีด้านอวกาศเป็นกระแสที่มาแรงและอยู่ในความสนใจของหลายประเทศทั่วโลก ประเทศไทยเองก็กำหนดให้กิจการอวกาศเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ต้องเร่งขับเคลื่อนและพัฒนาเช่นกัน
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา NIA ได้บ่มเพาะสตาร์ทอัพด้านเศรษฐกิจอวกาศรายใหม่ผ่านโครงการ Space Economy: Lifting Off จำนวน 24 ราย ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้น ขณะนี้ได้เตรียมต่อยอดด้วยการเร่งสร้างห่วงโซ่อุปทาน ระบบนิเวศด้านอุตสาหกรรมอวกาศและอากาศยานของประเทศ เพื่อผลักดันนโยบายให้เกิดการใช้เทคโนโลยีเชิงลึกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการสร้างสตาร์ทอัพด้านอวกาศ โดยในปี 2023 นี้ถือเป็นปีสำคัญที่ประเทศไทยและสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้กำหนดให้เป็น “ปีแห่งนวัตกรรมไทย – ฝรั่งเศส”
NIA จึงมองว่า เป็นโอกาสดีที่ไทยจะดึงสตาร์ทอัพจากต่างประเทศมาร่วมเร่งสร้างการเติบโต เพิ่มมูลค่าธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมเศรษฐกิจอวกาศรายใหม่ของไทย พร้อมทั้งดึงดูดบริษัทขนาดใหญ่มาร่วมลงทุนให้กับสตาร์ทอัพทั้งไทยและต่างประเทศ คล้ายกับโมเดลที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านอาหาร และการเกษตร อย่างโครงการ SPACE-F และ AGrowth ทั้งนี้แต่ละปีคาดว่าจะสามารถผลิตสตาร์ทอัพได้เพิ่มปีละประมาณ 10 ราย
จากแนวทางดังกล่าวจึงเกิดเป็นความร่วมมือ ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศประเทศไทย ระหว่าง NIA GISTDA และ สตาร์เบิร์ส (Starburst) ขึ้น โดยจะพัฒนาระบบนิเวศด้านอุตสาหกรรมอวกาศและอากาศยานของประเทศ ด้วยการต่อยอดงานวิจัย การพัฒนาบุคลากรของประเทศให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอวกาศและอากาศยานในระดับอุตสาหกรรม สร้างโอกาสในเชิงพาณิชย์และการพัฒนาตลาดของสตาร์ทอัพผ่านโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอวกาศและอากาศยาน หรือ F1 ที่นำไปสู่การพัฒนา “เศรษฐกิจอวกาศ” และอุตสาหกรรมอากาศยานและการบิน รวมถึงการจัดทำมาตรการส่งเสริม ประสานงาน และผลักดันนโยบายให้เกิดการใช้เทคโนโลยีเชิงลึกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้ได้ 3 แสนล้านบาทในอีก 10 ปี ข้างหน้า
นายปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลไทยกำลังเร่งส่งเสริมและพัฒนากิจการด้านอวกาศและอากาศยานของไทย ให้ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศใหม่ โดยการออกแบบและพัฒนาดาวเทียม การทดลองและวิจัยการสำรวจอวกาศ และนวัตกรรมอื่นผ่าน 5 โครงสร้างพื้นฐานที่สามารถพัฒนาต่อยอดจากกิจการด้านอวกาศในไทย ได้แก่ อวกาศเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า อวกาศเพื่อไลฟ์สไตล์ดิจิทัล อวกาศเพื่อรัฐบาลและรัฐบาลเพื่ออวกาศ ศูนย์กลางอาเซียนสำหรับธุรกิจอวกาศแห่งใหม่ และอวกาศสำหรับมนุษยชาติในอนาคต
สิ่งเหล่านี้จะเป็นจุดเชื่อมโยงทุกภาคส่วน ทั้งการลงทุน สตาร์ทอัพ สังคม สิ่งแวดล้อม และนโยบาย เพื่อตอกย้ำว่า อวกาศคือเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย มากกว่าการเป็นเพียงเทคโนโลยีที่ไกลตัว
ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องเริ่มจากการพัฒนากำลังคน โดยมุ่งหวังให้คนรุ่นใหม่มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น และทำให้ทุกคนเชื่อว่าเศรษฐกิจอวกาศใหม่จะสามารถเกิดขึ้นได้จริงในไทย
นอกจากนี้ การได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรทั่วโลกก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจอวกาศใหม่ไปสู่เวทีโลก
นายฟรองซัว โชปาร์ด ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารสตาร์เบิร์ส กล่าวว่า ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้จะเกิดโรคระบาดขึ้นทั่วโลก แต่ธุรกิจทางด้านอากาศยานและการบินยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
หลายประเทศมีการนำเทคโนโลยีอวกาศมาประยุกต์ใช้ในสิ่งที่ใกล้ตัว ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องถึง 8 สาขา ได้แก่ อากาศยานไร้คนขับ ระบบการขนส่งทางอากาศที่ในระดับความสูงต่ำ การบินภูมิภาค ซูเปอร์โซนิค ระบบการส่งอวกาศ ดาวเทียม การสำรวจอวกาศ และระบบป้องกัน
จะเห็นได้ว่าการที่วัฏจักรของธุรกิจทางด้านอวกาศ อากาศยานและการบินจะเติบโตได้นั้น ต้องใช้ระยะเวลา เพราะไม่ใช่เป็นแค่การพัฒนาซอฟต์แวร์เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องพัฒนาไปถึงเรื่องของดาวเทียม และอุปกรณ์ที่ส่งไปยังอวกาศ และสิ่งสำคัญคือเงินทุนในการพัฒนา จึงทำให้เราต้องเร่งพัฒนาระบบนิเวศที่ดึงดูดนักลงทุนด้วยเช่นกัน
“การที่สตาร์เบิร์สได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนานวัตกรรมด้านอวกาศและอากาศยานของไทย โดยการนำประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มาจากสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปมาช่วยพัฒนาสตาร์ทอัพรายใหม่ จะทำให้เป้าหมายในด้านการสร้างระบบนิเวศและการพาสตาร์ทอัพทะยานไปสู่ระดับนานาชาติเกิดขึ้นได้จริง”
การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการประกาศอย่างเป็นทางการว่า ไทยและฝรั่งเศสจะร่วมกันสร้างและพัฒนาศูนย์การบ่มเพาะและเร่งการเติบโตด้านนวัตกรรมอวกาศและอากาศยาน เพื่อให้เศรษฐกิจอวกาศไทยพัฒนาสู่สายตาชาวโลก
แหล่งข้อมูล