ในอดีต คนมักจะมองว่าเทคโนโลยีและศาสนาเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกัน แต่ในความเป็นจริง ศาสนาและความเชื่อยุคปัจจุบันก็ปรับตัวไปตามเทคโนโลยีเยอะมาก ศาสนสถานต่างๆ มีการใช้เทคโนโลยีดึงดูดให้คนมาศาสนสถานกันมากขึ้น และการใช้ ‘หุ่นยนต์’ ทำหน้าที่บางอย่างแทนนักบวชก็มีมาแล้ว เช่น ‘หุ่นยนต์พระสงฆ์’ ในญี่ปุ่น
แต่การมีหุ่นยนต์พระก็อาจจะไม่แปลกเท่าการสร้างหุ่นยนต์มาทำการสักการะเทพเจ้าแทนผู้ศรัทธา ซึ่งที่จริงก็เริ่มมีใช้ในศาสนสถานที่อินเดียครั้งแรกเมื่อปี 2017 เพื่อบูชาพระพิฆเนศ และทุกวันนี้ก็มีการใช้หุ่นยนต์สักการะอย่างหลากหลายขึ้นในวัดวาอารามต่างๆ และสร้างข้อถกเถียงกันมากพอสมควรในสังคมฮินดูของอินเดีย จนมีนักมานุษยวิทยาลงไปศึกษา
ความน่าสนใจของปรากฏการณ์นี้ก็คือ ไม่มีความชัดเจนเท่าไรนักว่ามันเริ่มขึ้นได้อย่างไร แต่ไปๆ มาๆ การปฏิบัติแบบนี้ก็เริ่มแพร่กระจายไปทั่วแล้ว ซึ่งจริงๆ ก็ไม่แปลกสำหรับสังคมที่มีเทพเจ้ากว่า 330 ล้านองค์อย่างอินเดีย ที่ไปทางไหนก็เจอรูปเคารพเทพเจ้าและวัด ซึ่งเทพแต่ละองค์ก็จะมีวิธีบูชาที่เฉพาะตน และถ้าไปถามคนอินเดียเอง คนอินเดียก็ไม่น่าจะรู้ทั้งหมด
การที่มีเทพเจ้าจำนวนมาก แต่จำนวนคนบูชาน้อยลงไปตามยุคสมัย ก็เลยทำให้มีบริษัทหัวใสจำนวนไม่น้อยเสนอว่าบางวัดก็ให้หุ่นยนต์ทำหน้าที่บูชาเทพเจ้าแทนมนุษย์ไปเลย จะได้มีพิธีกรรมอย่างต่อเนื่อง ผู้ศรัทธาที่มีเงินเยอะๆ ก็บริจาคเงินให้วัดซื้อและดูแลหุ่นยนต์ทำการบูชาแทนตัวเองไปเลย วัดได้เงิน บริษัทก็ได้เงิน เรียกได้ว่าวินๆ กันทุกฝ่าย
แน่นอน ถ้าหากฟังในแง่หนึ่งก็สมเหตุสมผล เพราะถ้า ‘พิธีกรรม’ คือสิ่งจำเป็น แต่ผู้ศรัทธาไม่ว่างทำ เพราะต้องเอาเวลาไปทำมาหากิน การใช้เครื่องจักรประกอบพิธีกรรมแทนก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ และจริงๆ แม้แต่ ‘คนในอดีต’ ที่ต้องประกอบพิธีกรรมให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติไม่เกิดความพิโรธและสร้างหายนะ ก็น่าจะเห็นด้วยกับแนวคิดแบบนี้
เพราะถ้าคิดแบบตรรกะของคนโบราณจริงๆ พิธีกรรมต่างๆ ไม่ได้ ‘ทำด้วยใจ’ ก็เพียงพอ แต่มีความเคร่งครัดเรื่องขั้นตอนและความถูกต้องด้วย ถ้าทำผิดก็ถือว่าพิธีกรรมไม่ได้ผล และในแง่นี้ การใช้หุ่นยนต์ที่สามารถประกอบพิธีกรรมต่างๆ ได้ถูกต้องตามขั้นตอนเป๊ะๆ จะว่าไปก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เทพเจ้าพึงพอใจได้มากกว่ามนุษย์ทำพิธีกรรมเองเสียอีก
แต่เหล่า ‘ผู้ศรัทธา’ ก็เริ่มปาดเหงื่อ เพราะคงไม่มีใครคิดว่า ‘หุ่นยนต์’ จะมา ‘แย่งงาน’ ในการบูชาเทพเจ้าของตน จนกระทั่งมันเกิดขึ้นแล้วจริงๆ คนจำนวนหนึ่งจึงจริงจังมากในการต่อต้านการเอาหุ่นยนต์มาทำพิธีสักการะบูชาเทพเจ้าในวัด
เรื่องแบบนี้อาจฟังดูตลกหรือแปลกในสายตาใครหลายคน แต่ถ้าเอาไปรวมกับเรื่องที่เล่าตอนต้นก็จะกลายเป็นเรื่องที่ชวนตั้งคำถามว่า ถ้าอีกหน่อยศาสนสถานเป็นเรื่องของนักบวชหุ่นยนต์ทำการปฏิสัมพันธ์กับผู้มาสักการะบูชาที่เป็นหุ่นยนต์เหมือนกัน วัดวาอารามอาจเป็นพื้นที่ของหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมทางจิตวิญญาณที่เป็นของมนุษย์แทน
แต่ถ้าถามว่ามนุษย์เลิกบูชาเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วหรือ? คำตอบที่ดีก็น่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่คนไทยเริ่มไป ‘ขอหวย’ กับ ChatGPT เพราะสิ่งเหล่านี้ตอบคำถามของมนุษย์ที่ไม่มีมนุษย์คนไหนตอบได้ หรือให้ตรงคือ AI ตอบคำถามแล้วมนุษย์อาจเชื่อในคำตอบมากกว่า เพราะรู้สึกว่าสิ่งนั้นมีการทำงานที่ ‘เหนือมนุษย์เกินกว่าที่มนุษย์จะเข้าใจ’ จึงไม่แปลกถ้าคนบางส่วนมองว่าวันหนึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะมาทำหน้าที่แทน ‘เทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์’ ได้
แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/brandthink.me/photos/a.1767934240198787/3612643949061131/