เมื่อ TikTok กำลังกลายเป็นช่องทางการหางานของชาว Gen Z

Share

Loading

เชื่อว่าถ้าใครได้มีโอกาสเล่น TikTok ในช่วงนี้ น่าจะเคยเห็นคลิปที่มีเนื้อหาแนว ๆ รีวิวชีวิตการทำงานของพนักงานในสายงานต่าง ๆ เช่น

– รีวิวการเป็นพนักงานคลินิกเสริมความงาม 1 วัน ทำอะไรบ้าง ?

– รีวิวชีวิตการทำงานในบริษัท Agency ว่าวัน ๆ ทำอะไรกัน ?

– รีวิวชีวิตการทำงานของ Auditor ในบริษัทตรวจสอบบัญชียักษ์ใหญ่ BIG4

ซึ่งท้ายคลิปก็มักจะมีการแนบสวัสดิการที่ดีมาก ๆ แถมบางคลิปยังมีช่องทางการสมัครงาน มาให้เสร็จสรรพ จนดูเหมือนกับว่า คลิปดังกล่าว ถูกตั้งใจทำขึ้นมาเพื่อหาพนักงานมากกว่าจะแค่มารีวิวการทำงานเฉย ๆ

อย่างไรก็ตาม เชื่อหรือไม่ว่า จริง ๆ แล้ว คลิปประเภทนี้ ในบางครั้งก็เป็นคลิปที่บริษัทตั้งใจทำขึ้นมา เพื่อใช้หาพนักงานจริง ๆ และบางบริษัท ถึงกับมีการจ้างให้พนักงานทำคลิปให้เลยทีเดียว..

แล้วทำไม TikTok แอปพลิเคชันที่เอาไว้เสพความบันเทิงมาแต่ไหนแต่ไรถึงเริ่มกลายมาเป็นช่องทางในการทำเรื่องจริงจัง อย่างการหางานทำได้ ?

ปัจจุบันหลาย ๆ บริษัท กำลังมองหาและดึงดูดพนักงานในระดับเริ่มต้น ให้เข้ามาทำงานด้วย ซึ่งพนักงานที่จะเข้ามาเป็นพนักงานในระดับเริ่มต้น ส่วนใหญ่ก็คงหนีไม่พ้นกลุ่มคน Gen Z หรือคนที่มีอายุประมาณ 20 ต้น ๆ เพราะมีเรตค่าจ้างที่ยังไม่สูงมาก, ทันโลก และเทคโนโลยี แถมมักมีไอเดียใหม่ ๆ อยู่เสมอ

โดยกลุ่มคน Gen Z นั้น มีสถิติที่น่าสนใจว่า เป็นคนที่ใช้เวลาเฉลี่ยอยู่บนโซเชียลมีเดีย มากถึง 3 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่ง TikTok คือสื่อโซเชียลมีเดียที่กลุ่มคน Gen Z ใช้เวลาด้วยมากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ แถมในบางประเทศยังมีสถิติพบว่า ชาว Gen Z ใช้เวลาบน TikTok มากกว่า YouTube เสียอีก ทำให้การประกาศหาพนักงานบน TikTok จะมีโอกาสเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้มากกว่าช่องทางการรับสมัครงานแบบดั้งเดิม ตามไปด้วย

และรู้หรือไม่ว่า การใช้ TikTok เพื่อมองหาและดึงดูดพนักงาน จริง ๆ เกิดขึ้นมาสักพักใหญ่ ๆ แล้ว แถมไม่ใช่เฉพาะที่ไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงที่สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศด้วย

โดยสาเหตุของเรื่องนี้ คุณ Kate Barney หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคลของ TikTok Global Business Solutions ก็ได้ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจ

เมื่อเรานึกถึงการหางานทำ หลายคนคงนึกถึงการใช้แพลตฟอร์มอย่าง LinkedIn หรือตามเว็บไซต์หางาน ซึ่งช่องทางสุดคลาสสิกเหล่านี้ มักจะมีขั้นตอนการสมัครงานคล้าย ๆ กัน คือ เริ่มต้นด้วยการส่งเรซูเม ที่มีประวัติการทำงาน, ประวัติการศึกษา แล้วรอให้บริษัทที่สนใจติดต่อกลับมา เพื่อนัดสัมภาษณ์ ซึ่งค่อนข้างเป็นขั้นตอนที่น่าเบื่อ..

ผิดกับ TikTok ที่เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น และใช้งานง่าย จนไม่ว่าใครก็สามารถตัดต่อวิดีโอได้ ทำให้หลายคน โดยเฉพาะกลุ่มคน Gen Z มีทางเลือกในการพรีเซนต์ตัวเอง ได้มากกว่าแค่การยื่นกระดาษ 1 แผ่น..

เช่นเดียวกับฝั่งบริษัท ก็สามารถโชว์สวัสดิการต่าง ๆ รวมถึงบรรยากาศการทำงาน ผ่านภาพ เสียง และวิดีโอได้ เพื่อดึงดูดพนักงาน ซึ่งทำได้น่าสนใจและชัดเจน กว่าการประกาศผ่านเว็บไซต์

พูดง่าย ๆ คือ บริษัทก็ Win เพราะได้พนักงาน ที่เข้าใจในรายละเอียดงานเบื้องต้นจากคลิป TikTok ส่วนพนักงานก็ Win เพราะได้เห็นวัฒนธรรมองค์กร และขั้นตอนการทำงานจากคลิป TikTok ของบริษัท

พอเป็นแบบนี้ จึงไม่แปลกที่บริษัทและแบรนด์ใหญ่ ๆ ในสหรัฐอเมริกา จะเริ่มหันมาใช้ TikTok เป็นสื่อกลางในการหาพนักงานกันมากขึ้น ในช่วงหลัง ๆ อย่างเช่น

– HBO แพลตฟอร์มสตรีมมิงชื่อดัง ก็ได้มีการใช้ Hashtag #HBOMassummerintern มาประกาศรับสมัครเด็กฝึกงาน ผ่าน TikTok และได้ผู้เข้าร่วมมากกว่า 300 คนในที่สุด

– Hasbro บริษัทของเล่นรายใหญ่ เจ้าของแบรนด์ Nerf ครั้งหนึ่งก็เคยรับสมัครตำแหน่ง CTO (Chief TikTok Officer) โดยผู้สมัครส่วนใหญ่ ก็ไม่ได้ยื่นเรซูเมแบบปกติ แต่พากันทำคลิปลง TikTok แล้วใส่ Hashtag #NerfApplication ในการสมัครงาน

นอกจากนี้ การที่แบรนด์มาเปิดรับสมัครพนักงานผ่าน TikTok ยังมีข้อดีอีกหลายอย่าง

เริ่มตั้งแต่ ได้สร้างการรับรู้ในแบรนด์ (Brand Awareness) ที่จะได้มาจากยอดคนดู ซึ่งแบรนด์ไหนที่ให้สวัสดิการดี ๆ และทำคลิปได้น่าสนใจ ก็มีโอกาสที่วิดีโอจะแมสขึ้นมาเป็นไวรัลได้ง่าย ๆ จากอัลกอริทึมของ TikTok แถมยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้องค์กรได้อีกทางด้วย

สุดท้ายนี้ มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 กลุ่มคน Gen Z จะกลายเป็นแรงงานที่ครองสัดส่วน 30% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด

นั่นก็อาจหมายถึงว่า ถ้ากลุ่มคนเหล่านี้ เริ่มเรียนรู้และคุ้นชินกับการใช้ TikTok ในการหางานทำในวันนี้ ไม่แน่ว่าในอนาคต คนที่เดือดร้อน อาจเป็นเว็บไซต์และแพลตฟอร์มหางานที่อาจปรับตัวไม่ทัน กับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ ก็ได้..

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/MarketThinkTH/photos/a.1393665140725873/5994699320622409/