สูตรสำเร็จ ! นโยบายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกไต้หวัน บทเรียนที่ไทยควรตามรอย

Share

Loading

พามาดูนโยบายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ของประเทศไต้หวัน ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก และได้รับความร่มมือจากทุกภาคส่วน จนมีการลงทุนพลังงานสะอาดจำนวนมาก ถือว่าบทเรียนที่ไทยควรตามรอย

หลายประเทศทั่วโลกกำลังเดินหน้านโยบายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งก็มีหลายประเทศที่ทำแล้วประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศไต้หวัน ประเทศในทวีปเอเชียเหมือนไทยที่มีนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม และได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน จนนโยบายดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างมาก

โดยล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศ ออกมาเปิดเผย นโยบายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกไต้หวัน นายเอกวิทย์ ซอหะซัน เจ้าหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์ข่าว กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้บอกเล่าเรื่องราวที่ นางธีรางกูร อุชิโนะ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ ประจำสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ณ ไทเป   ที่ได้พามารู้จักกับวิธีการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (climate change) ของไต้หวัน โดยเมื่อปี 2564 ไต้หวันได้ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2050 หรือ “2050 Net-Zero Transition”โดยล่าสุดได้ปรับปรุงกฎหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้สอดคล้องกับนโยบาย 2050 Net-Zero Transition คือ “Climate Change Response Act” ซึ่งผ่านสภานิติบัญญัติไต้หวันแล้วเมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้นโยบาย 2050 Net-Zero Transition จะมุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านใน 4 มิติ  ได้แก่ พลังงาน อุตสาหกรรม วิถีชีวิต และสังคม โดยผ่าน  12 ยุทธศาสตร์สำคัญ  คือ

1) พลังงานลมและแสงอาทิตย์

2) พลังงานไฮโดรเจน

3) นวัตกรรมพลังงานทางเลือกอื่น ๆ

4) ระบบการบริหารจัดการและกักเก็บพลังงาน

5) การประหยัดพลังงานและการเพิ่มประสิทธิภาพ

6) การใช้เทคโนโลยี Carbon Capture Utilization & Storage (CCUS)

7) การใช้รถยนต์ไฟฟ้า

8) การรีไซเคิลและ Zero Waste

9) การพัฒนาแหล่งธรรมชาติเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์

10) ไลฟ์สไตล์สีเขียว

11) ระบบการเงินสีเขียว

และ 12) ระบบการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition)

อย่างไรก็ตามนโยบาย Net-Zero Transition จะเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจปัจจุบันไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมเดินหน้าสู่ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ด้วยการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน กระบวนการผลิตและการใช้ทรัพยากรของภาคเอกชน เพื่อให้ไต้หวันสามารถก้าวทันความคืบหน้าในการลดคาร์บอนในระดับสากลได้ในเร็ววัน

จากความสำเร็จในนโยบายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไต้หวัน ซึ่งหากไทยนำมาเป็นบทเรียนก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะไทยก็ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ซึ่งไทยเป็นภาคี โดยไทยตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 พร้อมกันนี้ไทยยังมียังมีโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) หรือโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งมีเป้าหมายคือการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการอนุรักษ์คล้ายกับนโยบาย Net-Zero Transition ของไต้หวัน

ดังนั้นไทยจึงสามารถแลกเปลี่ยนและเรียนรู้จากแนวปฏิบัติที่ดีจากไต้หวันมาปรับใช้กับบริบทของไทยได้ และการเปลี่ยนแปลงสีเขียวของภาคธุรกิจไต้หวัน ยังเป็นโอกาสให้แก่ธุรกิจด้านพลังงานสะอาดของไทยเข้าสู่ตลาดไต้หวันด้วย เพราะไต้หวันดำเนินนโยบาย 2050 Net-Zero Transition ในรูปแบบ Whole-of-Society Approach หรือการดำเนินการที่อาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคม โดยมีภาคเอกชนไต้หวันที่ขานรับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างแข็งขัน ทั้งนี้กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดใช้เงินทุนมหาศาล ซึ่งไต้หวันต้องอาศัยการลงทุนจากต่างชาติ

จากโมเดลความสำเร็จนโยบายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไต้หวันทำให้กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปกำลังเข้ามาลงทุนด้านพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้นในไต้หวัน ซึ่งบริษัทไทยก็เริ่มเข้าไปลงทุนในไต้หวันแล้วเช่นกัน จะเห็นได้ว่า นโยบาย 2050 Net-Zero Transition ได้เปลี่ยนไต้หวันเป็นสนามการลงทุนด้านพลังงานสะอาดขนาดใหญ่ ซึ่งบริษัทต่างชาติต่าง ๆ เริ่มหลั่งไหลเข้ามา เนื่องจากไต้หวันถือว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน

นอกจากนี้คนไต้หวันทุกคนจะมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการแยกขยะ เพราะมีกฎหมายห้ามวางขยะทิ้งตามจุดต่าง ๆ ทุกคนจะต้องรอรถขยะมาตามตารางเวลา เพื่อนำขยะที่แยกแล้วออกจากบ้านมาทิ้งเอง และต้องใช้ถุงขยะของทางการเท่านั้น เพื่อให้สะดวกในการทำลาย ซึ่งนโยบายนี้เปลี่ยนไต้หวันจากการถูกขนานนามว่า “เกาะขยะ”

ขณะเดียวกันไต้หวันหันมาสนใจเรื่องการใช้พลังงานทดแทน ผลักดันให้เป็นเกาะแห่งจักรยาน ยังคงส่งเสริมด้านการใช้จักรยานต่อไป ในขณะเดียวกันไต้หวันยังมองการณ์ไกลไปถึงการปรับเปลี่ยนให้ประชาชนแทนที่จักรยานยนตร์แบบดั้งเดิมด้วยจักรยานยนตร์ไฟฟ้า โดยรัฐบาลไต้หวันประกาศลงทุนมูลค่า 191.5 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขยายระยะเวลาให้เงินอุดหนุนซื้อจักรยานยนต์ไฟฟ้า การติดตั้งสถานีชาร์จและเปลี่ยนแบตเตอรี่ และการปรับปรุงร้านจักรยานยนต์ดั้งเดิมให้เป็นสถานีรถไฟฟ้ารูปแบบใหม่ด้วย

แหล่งข้อมูล

https://www.springnews.co.th/keep-the-world/climate-change/837406