ทำไม “น้ำมันทอดใช้แล้ว” ถึงกลายเป็นอนาคตใหม่ ของธุรกิจการบิน

Share

Loading

อย่างที่เราทราบกันดีว่า การนำ “น้ำมันทอดอาหารที่ใช้แล้ว” กลับมาใช้ซ้ำ ๆ นั้นไม่ดีต่อสุขภาพ แต่ในขณะเดียวกันน้ำมันเหล่านี้ที่ดูเหมือนของเสีย กลับกลายเป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมการบิน สามารถเอามาใช้ประโยชน์ต่อได้ในทางที่ยั่งยืน

ที่น่าสนใจคือ หากใครมีน้ำมันทอดอาหารที่ใช้แล้ว อย่าพึ่งนำไปทิ้งให้สูญเปล่า เพราะปัจจุบันเราสามารถนำน้ำมันนี้ไปขาย และแปลงกลับมาเป็นเงินเข้ากระเป๋าได้ด้วย

เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร ? แล้วทำไม “น้ำมันทอดใช้แล้ว” ถึงกำลังเป็นอนาคตของ ธุรกิจการบิน ?

ต้องบอกว่า ในแต่ละปีอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สู่ชั้นบรรยากาศ มากถึง 1,000 ล้านตัน และหากเทียบให้อุตสาหกรรมการบินเป็นประเทศ จะพบว่าประเทศนี้ ปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก รองจากประเทศจีน, สหรัฐอเมริกา, อินเดีย, รัสเซีย และญี่ปุ่น เลยทีเดียว

นอกจากนี้ ข้อมูลจากวารสาร Environmental Research Letters ยังบอกอีกว่า อุตสาหกรรมนี้ มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน จากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ มากถึง 4%

นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ ที่ทำให้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และสมาคมการบินระหว่างประเทศ (IATA) อยู่เฉยไม่ได้ และลุกขึ้นมาสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการบิน หาแนวทางลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อก้าวเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050

พอเป็นแบบนี้ สายการบินต่าง ๆ ทั่วโลกจึงเริ่มปรับตัวและหาทางแก้ไข ซึ่งถ้าถามว่าวิธีการไหน ที่กำลังได้รับความสนใจมากที่สุดในตอนนี้ คำตอบก็คือ การหันมาใช้ “น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืน” หรือศัพท์เทคนิคจะเรียกว่า SAF (Sustainable Aviation Fuel)

บางคนอาจสงสัยว่า แล้วการหันมาใช้เครื่องบินไฟฟ้าหล่ะ ?

จริง ๆ แล้ว เครื่องบินไฟฟ้า ก็เป็นอีกแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดี และอุตสาหกรรมการบินก็ให้ความสนใจอยู่

อย่างไรก็ตาม เครื่องบินไฟฟ้า ยังอยู่ในช่วงวิจัยและพัฒนา ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะสำเร็จสมบูรณ์ และสามารถนำมาให้บริการเชิงพาณิชย์ได้จริง ต่างจากการใช้น้ำมัน SAF ที่กระบวนการพัฒนาไม่ซับซ้อนเท่า และจับต้องในตอนนี้ได้มากกว่า

ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีบางสายการบิน ใช้น้ำมันประเภทนี้แล้ว และคาดว่า SAF จะถูกอุตสาหกรรมการบิน นำไปใช้ในวงกว้าง ในระยะเวลาอันใกล้นี้

แล้วน้ำมัน SAF คืออะไร ?

อธิบายแบบเข้าใจง่าย ๆ ก็คือ น้ำมันเชื้อเพลิงทางเลือก ที่ถูกผลิตขึ้นจากทรัพยากรชีวภาพ เช่น น้ำมันทอดอาหารที่ใช้แล้ว ทั้งจากไขมันสัตว์และพืช โดยวัตถุดิบเหล่านี้ จะถูกนำเข้ากระบวนการ ปรับให้มีคุณสมบัติทางเคมี คล้ายคลึงกับน้ำมันเครื่องบินทั่วไป ที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

โดยน้ำมัน SAF จะเป็นเชื้อเพลิงแบบ Drop-in fuel ซึ่งหมายความว่า น้ำมันชนิดนี้สามารถนำไปผสมใช้กับน้ำมันเครื่องบินแบบเดิมได้ทันที ในสัดส่วนที่ปลอดภัยต่อเครื่องยนต์ โดยไม่ต้องดัดแปลงหรือปรับปรุงเครื่องยนต์ใด ๆ เพิ่มเติม

นอกจากนี้ ข้อดีที่ทำให้น้ำมัน SAF น่าสนใจก็คือ มันช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้มากถึง 80% เมื่อเทียบกับน้ำมันเครื่องบินที่ใช้อยู่เดิม

ที่สำคัญยังเป็นการหมุนเวียนทรัพยากร อย่างน้ำมันทอดอาหารใช้แล้ว ให้กลับมาใช้ใหม่ได้อย่างคุ้มค่า และยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ทำให้ที่ผ่านมา จึงมีบริษัทและสายการบินต่าง ๆ เริ่มนำน้ำมัน SAF มาใช้ เช่น Airbus หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลก ที่ในปี 2019 ได้ทำการทดสอบนำน้ำมัน SAF แบบผสมเข้ากับน้ำมันเครื่องบินแบบเดิม มาใช้ในฝูงบิน BELUGA สำหรับการขนส่งสินค้า

อีกทั้งในปี 2021 Airbus ก็ก้าวไปอีกขั้น ด้วยการพัฒนาน้ำมัน SAF แบบ 100% ผลิตจากน้ำมันทอดอาหารใช้แล้ว โดยไม่ผสมเข้ากับน้ำมันเชื้อเพลิงใด ๆ เพื่อนำมาทดสอบใช้กับเครื่องบินพาณิชย์โดยสาร รุ่น ​​A380 สำหรับเป้าหมายการเป็นเครื่องบิน ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ลำแรกของโลก ภายในปี 2035

นอกจากนี้ เมื่อต้นปี 2023 ที่ผ่านมา สายการบินระดับโลกอย่าง Emirates ก็ประสบความสำเร็จ ในการทดสอบใช้น้ำมัน SAF ที่มาจากน้ำมันทอดอาหารใช้แล้ว แบบ 100% เช่นกัน กับเครื่องบิน Boeing 777-300ER ซึ่งเป็นการทดลองบินจริง นานกว่า 1 ชั่วโมง

ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่น ก็ได้มีการจัดตั้งองค์กร Act For Sky ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างสายการบิน Japan Airlines และ All Nippon Airways โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทาน การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง SAF เพื่อรองรับตลาดนี้ในอนาคต

สำหรับประเทศไทยเองก็มีเช่นกัน โดยในปลายปีที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทบางจากฯ ได้จับมือกับบริษัท ธนโชค กรุ๊ป และบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ตั้งบริษัทร่วมทุนกันเพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง SAF จากน้ำมันทำอาหารที่ใช้แล้ว เตรียมรุกธุรกิจน้ำมันเครื่องบินแบบยั่งยืน ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีงบประมาณลงทุนเบื้องต้นราว 8,000 – 10,000 ล้านบาท

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ทางบางจากฯ ได้เปิดตัวโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” เปิดรับซื้อน้ำมันทำอาหารที่ใช้แล้ว ทั้งจากธุรกิจร้านอาหาร รวมถึงประชาชนทั่วไป เพื่อไปผลิตเป็นน้ำมันเครื่องบิน โดยเริ่มนำร่องที่สถานีบริการบางจากในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2022

เท่ากับว่า ตอนนี้เราเองก็ช่วยลดภาระให้โลกได้ แถมยังได้เงินเข้ากระเป๋าอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้น้ำมันเชื้อเพลิง SAF จะเข้ามาเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ก็ต้องยอมรับว่าตลาดนี้ ยังคงใหม่และเล็กอยู่มาก ทำให้ต้นทุนในการผลิต และราคาของน้ำมันชนิดนี้ ยังสูงกว่าน้ำมันเครื่องบินแบบเดิม

ดังนั้น นี่จึงกลายเป็นโจทย์ต่อไปที่ท้าทาย สำหรับอุตสาหกรรมการบิน ว่าจะมีแนวทางอะไรอีกบ้าง ที่จะเข้ามาปิดช่องโหว่ด้านต้นทุนและราคาในการผลิตต่อไปในระยะยาว ควบคู่ไปกับภารกิจช่วยโลก

และถึงแม้การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ จะดูเหมือนพึ่งเริ่มต้นกันอย่างจริงจัง แถมยังมีข้อจำกัดอยู่ แต่อย่างน้อยก็ยังดีกว่า การไม่ลงมือทำอะไรเลย..

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/LongtungirlOfficial/photos/a.520522971752331/1647608952377055/