โชว์ไฮเทคศึกเลือกตั้ง 66 องค์กรเอกชน สื่อ การศึกษา และอปท. ระดมเทคโนโลยี ทั้ง “บล็อกเชน-คลาวด์” รายงานผลเลือกตั้งแบบไม่เป็นทางการเรียลไทม์ พร้อมเปิดเวทีดีเบตนโยบายดิจิทัลบน Metaverse เป็นครั้งแรก
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป (เลือกตั้ง ส.ส.) ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นั้นมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้อำนวยความสะดวกในการเลือกตั้ง ทั้งการเปิดให้ประชาชนเข้า ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส. รวมถึงการแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.ได้ที่เว็บไซต์ของสำนักบริหารการทะเบียน ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ล่าสุดภาคเอกชน การศึกษา และองค์การบริหารงานส่วนท้องถิ่น ได้มีความร่วมมือกัน ประยุกต์เทคโนโลยีทั้งบล็อกเชน และเมตาเวิร์ส เพื่อการเลือกตั้งครั้งนี้
นายพงศ์วุฒิ ไพรไพศาลกิจ เลขาธิการ สมาคมเมตาเวิร์สไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าสมาคมเมตาเวิร์สไทย ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการ The Watcher “เฝ้าคูหาจับตาคะแนน” เพื่อสนับสนุนการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน มาใช้ในการรายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการแบบเรียลไทม์ให้กับเว็บไซต์ D Vote และเปิดให้องค์กรต่างๆ และสื่อมวลชน เข้ามาเชื่อมโยงระบบเพื่อดึงข้อมูลไปรายงานผล โดยข้อมูลผลการเลือกตั้งดังกล่าวนั้นมีความน่าเชื่อถือ และแม่นยำ
มีอาสาสมัครประจำเพื่อติดตามผลการนับคะแนน ณ.หน่วยเลือกตั้ง 400 เขต ที่มีหน่วยเลือกตั้งรวมประมาณ 95,000 หน่วยทั่วประเทศ ที่ตั้งเป้าจะมีอาสาสมัครประมาณ 100,000 คนประจำทุกหน่วยเลือกตั้ง โดยอาสาสมัครจะทำการรายงาน พร้อมส่งรูปถ่ายผลคะแนน เข้ามาจัดเก็บและประมวลผลบนระบบบล็อกเชน และคลาวด์ ทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และ ไม่สามารถเข้าไปแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้
ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าหมายในการทำงานอาสาสมัครร่วมกันของทุกเครือข่าย พยายามทุกวิถีทางให้ทราบแนวโน้มผลการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการในเบื้องต้นรอบแรกประมาณ 2 ชั่วโมง หลังปิดหีบเลือกตั้ง 17.00 น.คาดว่าในเวลาไม่เกิน 19.00 น. น่าจะทราบแนวโน้มสัดส่วนคะแนนแบบ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของแต่ละพรรค และในเวลาไม่เกิน 21.00 น. น่าจะทราบแนวโน้มคะแนนเสียงของผู้สมัคร ส.ส.เขตที่มีคะแนนนำอันดับหนึ่งในทุกเขต 400 เขต
นอกจากนี้สมาคมเมตาเวิร์สไทย ยังเข้าไปสนับสนุนเทคโนโลยี web 3.0 โดยพัฒนา NFT ซึ่งเป็นคูปองดิจิทัลขึ้นมา มอบให้กับอาสาสมัคร ประจำจุดเลือกตั้ง และผู้ให้การบริจาค และสนับสนุน เพื่อนำไปใช้เป็นส่วนลด หรือแลกซื้อสินค้า โดยเบื้องต้นได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเซ็นทรัล ให้นำคูปองดิจิทัลไปใช้กับร้านค้าในห้างเซ็นทรัลได้ ทั้งนี้ในเบื้องต้นได้จัดทำคูปองดิจิทัล NFT ขึ้นมา 100,000 ชุด ได้เตรียมคูปองดิจิทัลไว้ทั้งหมด
ขณะเดียวกันยังสนับสนุนเทคโนโลยี Metaverse สำหรับการเป็นพื้นที่ดีเบตนโยบายต่างๆ ของพรรคการเมือง โดยการเข้ามาบริหารประเทศนั้นมองว่านักการเมือง และพรรคการเมืองต่างๆ จะต้องมีความเข้าใจเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในยุคปัจจุบัน และอนาคต รวมถึงสามารถใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์กับการพัฒนาประเทศ
โดยการเข้ามาดีเบตบนเมตาเวิร์ส (Metaverse) นั้น นักการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองที่เข้าร่วมจะต้องล็อกอินเข้าสู่ระบบด้วยตัวเอง โดยสามารถเลือกตัวละครเข้าสู่ Metaverse ได้ว่าจะเป็นอวาตาร์ หรือเป็นโฮโลแกรม ซึ่งเวทีดีเบตบน Metaverse ดังกล่าวจะแตกต่างจากเวทีดีเบตของสื่อทั่วไป โดยมุ่งเน้นดีเบตนโยบายทางด้านดิจิทัลเป็นหลัก ทั้งบล็อกเชน web 3.0 สินทรัพย์ดิจิทัล เทคโนโลยีที่เข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไปสู่ New S Curve โดย 9 สมาคมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี จะมีการหารือเพื่อตั้งคำถามกับพรรคการเมืองต่างๆ
นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับสมาคมฟินเทคแห่งประเทศ และ D-Vote พัฒนาแพลตฟอร์มการระดมทุนแบบ Crowdfunding ตั้งเป้าหมายเงินบริจาคจากผู้ต้องการสนับสนุนการเลือกตั้งและส่งเสริมประชาธิปไตยไว้ประมาณ 12 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาระบบรายงานผลคะแนนเรียลไทม์และระบบบริหารอาสาสมัครที่มีขนาดใหญ่มาก และ Crowdsourcing เปิดรับสมัครอาสาสมัครของแต่ละเครือข่ายและองค์กรยังเป็นอิสระต่อกันเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการประชาสัมพันธ์ไปตามภารกิจของแต่เครือข่ายแต่ละองค์กรจะเห็นสมควร
อนึ่งการเลือกตั้งปี 2566 ถือว่ามีความสำคัญต่อการกำหนดอนาคตประเทศไทย อย่างไรก็ตามคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกประกาศยกเลิกการใช้แอปพลิเคชันการรายงานผลคะแนนเลือกตั้ง (อย่างไม่เป็นทางการ) ไปใช้ระบบ ECT Report ที่ไม่ใช่แบบเรียลไทม์ ทำให้การรายงานผลการเลือกตั้งล่าช้า โดยจะเริ่มทราบผลการเลือกตั้งประมาณ 23.00 น. ทำให้องค์กรเอกชน องค์กรสื่อ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันการศึกษา ร่วมมือกันพัฒนาระบบการรายงานผลการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ ที่มีความรวดเร็ว และโปร่งใสขึ้นมา
แหล่งข้อมูล