เมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities – GNLC)

Share

Loading

ปัจจุบัน จำนวนประชากรโลกเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งมากกว่าครึ่งของประชากรโลกที่อาศัยอยู่ในเมือง และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 60% ในปี 2030 รวมทั้งเมืองมีบทบาทและมีอิทธิพลต่อการขยายตัวของกิจการในระดับชาติและระดับโลก ทั้งนี้ การขยายตัวดังกล่าวทำให้เทศบาลเมืองต่าง ๆ เผชิญกับสิ่งท้าทายที่เกี่ยวข้องกับความสมานฉันท์ในสังคม การพัฒนาเศรษฐกิจ และความยั่งยืน อย่างไรก็ตาม เทศบาลเมืองหลาย ๆ แห่งเริ่มเห็นว่าการดำเนินการตามกลยุทธ์ด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ดังนั้น องค์การยูเนสโก โดยสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก (UNESCO Institute for Lifelong Learning – UIL) จึงได้จัดตั้งเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities – GNLC) เพื่อช่วยรัฐบาลท้องถิ่นพัฒนากลยุทธ์ที่เป็นรูปธรรมในการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้

เครือข่ายนี้จะสนับสนุนการบรรลุผลการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้ง 17 ประการ (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 4 ซึ่งเน้นการจัดการศึกษาอย่างครอบคลุม เท่าเทียม และมีคุณภาพ รวมทั้งส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตสาหรับทุกคน (Lifelong Learning: LLL) ตลอดจนเป้าหมายที่ 11 ซึ่งมุ่งพัฒนาเมืองและถิ่นฐานให้มนุษย์ได้อยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย และมีการช่วยเหลือเกื้อหนุนซึ่งกันและกันสู่ความยั่งยืน

วัตถุประสงค์ของการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ องค์การยูเนสโกได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกขององค์การยูเนสโกสร้างเมืองของตนเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยเน้นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับพลเมืองให้มีความรู้ ทักษะ และทัศนคติใหม่ๆ ในหลากหลายบริบท เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็วทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง และส่งเสริมให้เกิดความสมานฉันท์ในสังคม รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

คุณลักษณะที่สำคัญของเมืองแห่งการเรียนรู้ จะต้องเป็นเมืองที่สามารถจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในทุกๆ ภาคส่วน เพื่อดาเนินการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ในครอบครัว ชุมชน และที่ทำงาน มีการขยายโอกาสในการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อการเรียนรู้ ส่งเสริมคุณภาพและความเป็นเลิศทางด้านการเรียนรู้ ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพิ่มขีดความสามารถของแต่ละบุคคลและการทำงานร่วมกันของคนในเมือง รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

คุณสมบัติของเมืองแห่งการเรียนรู้(Key Features of Learning Cities) มีองค์ประกอบหลัก ๓ ประการดังนี้

1. ประโยชน์หลักจากการส่งเสริมเมืองแห่งการเรียนรู้ 3 ประการ ได้แก่ ประชาชนมีอำนาจในการตัดสินใจและการรวมกลุ่มทางสังคม การพัฒนาทางเศรษฐกิจและความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม รวมทั้งการพัฒนาอย่างยั่งยืน

2. คุณลักษณะสำคัญที่จะนาไปสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ 6 ประการ ได้แก่ การส่งเสริมการเรียนรู้ตั้งแต่พื้นฐานจนถึงอุดมศึกษา การส่งเสริมการเรียนรู้ในครอบครัวและชุมชน การอำนวยความสะดวกให้มีการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพในสถานที่ทำงาน การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่ทันสมัย การส่งเสริมคุณภาพและความเป็นเลิศในการเรียนรู้ และการสนับสนุนวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเข้มแข็ง

3. เงื่อนไขสำคัญที่เป็นพื้นฐานการสร้างเมืองแห่งความรู้ 3 ประการ ได้แก่ ความมุ่งมั่น และความเข้มแข็งของผู้นำการบริหารเมืองและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งการเคลื่อนย้าย และการใช้ทรัพยากร

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

https://uil.unesco.org/lifelong-learning/learning-cities

https://www.bic.moe.go.th/index.php/unesco-others-menu/unesco-menu/unesco-gnlc-4-7-2562