ในวันพุธที่ 10 พฤษภาคม 2023 ทาง Google ได้เปิดตัว AI จำนวนมากของตัวเอง ซึ่งหลักใหญ่ใจความคือทุกๆ บริการของ Google ไม่ว่าจะ Gmail, Google Search, Google, Maps, Google Docs, Google Sheets, Google Drive ฯลฯ จะมี AI มาเสริมทั้งหมด ซึ่งเป็นการแสดงท่าทีชัดเจนว่าใน ‘ระบบนิเวศ’ ของ Google เอง Google จะไม่ปล่อยให้ ChatGPT ของ OpenAI ที่เป็นพันธมิตรกับคู่แข่งอย่าง Microsoft มายึดพื้นที่ไปได้ และตอนนี้ในไทยก็สามารถทดลองใช้ Google Bard ที่เป็นคู่แข่งของ ChatGPT ได้แล้ว
จริงๆ นี่เป็นข่าวใหญ่ระดับสะเทือนโลกพอสมควร แต่คนไทยอาจไม่สนใจเท่าไร เพราะประกาศนี้มาก่อนหน้าวันเลือกตั้งทั่วไปของไทย 14 พฤษภาคม 2023 เพียงไม่กี่วัน และก็ไม่น่าแปลกใจที่คนไทยจะสนใจรอลุ้นผลเลือกตั้งมากกว่า ซึ่งพอลุ้นผลเลือกตั้งเสร็จแล้ว ก็ต้องลุ้นต่อว่าพรรคเสียงข้างมากจะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่อีก ระหว่างนี้เราก็หันมาดูกันก่อนว่า AI ของ Google นี้จะสร้างความสะเทือนได้แค่ไหน
อันที่จริง ทุกอย่างที่ Google เสนอมาล้วน ‘น่าตื่นเต้น’ เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น AI ช่วยเขียนอีเมล ช่วยรีไรต์บทความ ช่วยทำสไลด์ แต่ที่คนช็อกสุดคือที่ Google โชว์ Google Search โฉมใหม่ที่วางแผนเอาไว้ ซึ่งถ้าจะอธิบายง่ายๆ ก็คือ Google Search ตัวใหม่ ถ้าเราพิมพ์คำถามอะไรไป มันจะมีคำตอบให้เลยแบบที่เราถาม ChatGPT ซึ่งนี่คือรูปแบบที่แตกต่างจากเดิมที่เป็นการโชว์ลิงก์เรียงเป็นตับ และนี่อาจเป็น ‘จุดจบ’ ของอุตสาหกรรมสื่อออนไลน์ ก็เป็นได้
ประเมินง่ายๆ ว่าถ้าสมมติเราค้นหา ‘ผลเลือกตั้ง’ ภายใต้ระบบ Google Search แบบใหม่ Google จะตอบผลเลือกตั้งให้เราเลยโดยที่เราไม่ต้องคลิกลิงก์ใดๆ เพื่อเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่ปกติน่าจะต้องคลิกลิงก์อย่างต่ำๆ 2-3 ลิงก์เพื่อไปอ่านผลเอาเอง แต่ภายใต้ระบบใหม่ของ Google ทาง Google จะประมวลข้อมูลทั้งจักรวาลอินเทอร์เน็ตมาตอบเรา โดยที่เราไม่ต้องออกไปจากระบบนิเวศของ Google (ในเคสผลเลือกตั้งไทย ไปถาม Google Bard มันก็ตอบได้จริงๆ เช่นกัน)
เรื่องนี้ทำให้สื่อออนไลน์ประเมินว่า ‘เว็บข่าว’ ทั้งโลก ‘เตรียมหนาว’ เพราะทั่วๆ ไปทุกวันนี้คนจะค้นข่าวก็เริ่มจาก Google ทั้งนั้น ไม่มีใครเข้าเว็บข่าวโดยเฉพาะเพื่อไปค้นหาข่าว แต่คนจะเริ่มค้นจาก Google เพื่อดูว่ามีเว็บข่าวไหนรายงานเรื่องที่เราสนใจบ้าง และภายใต้ระบบใหม่ การที่คนต้องการคำตอบจากสิ่งต่างๆ อย่างรวดเร็ว ค้น Google ไปแล้วก็จบที่ Google ได้เลย เพราะมีคำตอบโดยรวมให้แล้ว ไม่ต้องคลิกลิงก์ต่อไปไหน
ผลที่จะตามมาคือ ‘ทราฟฟิก’ ของคนที่เข้าเว็บข่าวจะน้อยลงแน่ๆ และก็ไม่ต้องพูดว่าทุกวันนี้อุตสาหกรรมข่าวก็ดิ้นรนอย่างหนักอยู่แล้วกับการที่ ‘เงินโฆษณา’ เข้าสู่องค์กรน้อยลง เพราะเงินโฆษณาในโลกไหลไปเข้า Google และ Facebook เกือบหมด จนอุตสาหกรรมข่าวในหลายประเทศพยายามบีบให้รัฐออกกฎหมายใหม่เพื่อไป ‘เก็บภาษีข่าว’ ซึ่งก็คือการให้รัฐไปเก็บเงินรายได้บางส่วนของ Google และ Facebook กลับมาต่อลมหายใจแก่สำนักข่าวที่เป็นผู้ผลิตข้อมูลต้นทางให้ได้
ถ้า Google ทำอย่างที่ว่ามาในทุกพื้นที่ทั่วโลก (และก็คงจะทำแน่ๆ) ก็บอกเลยว่าอุตสาหกรรมข่าวน่าจะรายได้ลดลงไปอีก แต่ถามว่าอุตสาหกรรมข่าวออนไลน์จะหายไปหมดเลยไหม? ก็คงไม่ทั้งหมด แต่ก็น่าจะได้รับผลกระทบที่สั่นสะเทือนระบบ ถึงขั้นมีการเลย์ออฟกันใหญ่โตและต้องปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจกันอีกรอบแน่ๆ ในวงกว้าง และการที่อุตสาหกรรมข่าวถูกเขย่าขนาดนี้ก็อาจจะทำให้มีคนตั้งคำถามว่าคุณภาพของงานข่าวสมัยนี้ทำไมถึง ‘แย่ลง’ (โดยที่ไม่ได้ดูว่าเม็ดเงินที่ขับเคลื่อนบุคลากรมัน ‘น้อยลง’ แค่ไหน)
แล้วถามว่าอุตสาหกรรมข่าวจะไม่สู้เหรอ? ก็ต้องบอกว่ากระแสต่อต้าน Generative AI ‘แย่งงานคน’ เริ่มมีมาสักพักแล้ว พวกนักวาดภาพไปจนถึงบรรดาเอเจนซีภาพถ่ายอย่าง Getty Images ก็ออกมาสู้เรื่องลิขสิทธิ์กันเยอะ แต่ปัญหาของเรื่องนี้คือ ณ ปัจจุบัน ‘ไม่มีกฎหมายห้าม’ การนำข้อมูลต่างๆ ในโลกมาเทรน AI หรือพูดให้ตรงกว่านั้นคือ ถึงแม้ว่า ‘เจ้าของลิขสิทธิ์’ ผู้ผลิตงานต้นฉบับทั้งหลายจะโวยแค่ไหน แต่การเอาผลงานที่มีลิขสิทธิ์ไปใช้เทรน AI ก็ไม่ได้ผิดกฎหมายใด ๆ ในโลก และรัฐต่างๆ ที่เริ่มร่างกฎหมาย AI กันก็ไม่ได้มีแพลนจะออกกฎหมายที่จะลงโทษหรือเอาผิดการนำงานที่มีลิขสิทธิ์ไปเทรน AI ด้วย
ที่ทำได้อย่างมากคือการสู้ว่าสิ่งที่ AI ผลิตออกมา ‘มันละเมิดลิขสิทธิ์’ แต่อะไรพวกนี้ก็โต้แย้งทางกฎหมายได้ง่ายมาก เพราะถ้างาน ‘ส่วนใหญ่’ ที่ AI ผลิตออกมา ไม่ได้ ‘ละเมิดลิขสิทธิ์’ การอ้างเหตุผลนี้ก็จะไม่มีน้ำหนักมากนักในการกล่าวหา เพราะถ้ามันไม่ใช่เทคโนโลยีที่จะต้องใช้แบบละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้น ก็แทบจะหาทางแบน AI ไม่ได้เลย
เอาง่ายๆ เทคโนโลยี BitTorrent นี่ก็ถือว่า ‘ถูกกฎหมาย’ ในหลายๆ ประเทศ ด้วยเหตุผลว่าตัวเทคโนโลยีมันไม่ได้ทำมาเพื่อละเมิดลิขสิทธิ์ ดังนั้นแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะเอาเทคโนโลยีนี้ไปใช้ละเมิดลิขสิทธิ์ ความผิดมันก็ไม่ได้เป็นของเทคโนโลยี ในทางกฎหมายจะวินิจฉัยให้ ‘แบนทั้งหมด’ จึงทำไม่ได้ และจะไปโทษตัวเจ้าของเทคโนโลยีก็ไม่ได้อีก เพราะเขาไม่ได้ทำอะไรผิด
ในกรณีอุตสาหกรรมข่าวก็ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะกฎหมายลิขสิทธิ์ทั่วโลกมีข้อยกเว้นชัดเจนว่า ‘ข่าว’ และ ‘การรายงานข้อเท็จจริง’ ไม่ถือว่ามีลิขสิทธิ์ ซึ่งก็ถูกแล้ว เพราะถ้าไม่ระบุไว้แบบนี้ข้อมูลทุกอย่างในโลกก็จะถือว่ามีลิขสิทธิ์ คนแค่จะ ‘พูดความจริง’ ก็ต้องระแวงว่าจะละเมิดลิขสิทธิ์จนไม่กล้าพูด ซึ่งภาวะแบบนี้จะสร้างความหายนะกับสังคมการเมืองระดับมหาศาล แต่ผลในทางปฏิบัติก็คืออุตสาหกรรมข่าวแทบไม่มีข้อกฎหมายด้านลิขสิทธิ์ในการไปสู้กับ Google ได้เลย
เพราะการที่ Google เอา ‘ข่าว’ ไปประมวลผลเพื่อสกัดเอา ‘ข้อเท็จจริง’ ออกมา จะถือว่า ‘ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์’ แน่ๆ ส่วนการเรียบเรียงข่าวและเขียนขึ้นใหม่ด้วยสำนวนของ AI ก็จะยิ่งเพิ่มความ ‘ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์’ ไปอีกขั้น หรือพูดง่ายๆ ในกรณีรูปวาด ถ้าลายเส้นคล้ายกัน มันก็อาจพอมีข้อให้สงสัยหรือโต้แย้งได้ว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้น แต่ในกรณีข่าวหรือเรื่องราวที่อิงกับความจริง การที่มีเส้นเรื่องแบบเดียวกัน หรือพูดถึงข้อมูลชุดเดียวกัน ไม่มีใครชี้ได้ว่านี่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะ ‘ความจริง’ มันเป็นแบบนั้น ก็ต้องเล่าไปแบบนั้น
และนี่เองที่เป็นเหตุผลให้อุตสาหกรรมข่าวแทบจะ ‘ไร้ทางสู้’ กับ ‘ระเบิดลูกใหญ่’ ที่ Google น่าจะกำลังจะทิ้งลงมาในโลกข่าวออนไลน์เร็วๆ นี้
แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/brandthink.me/photos/a.1767934240198787/3648427922149400/