ปัจจุบันการผลักดันพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นรอบด้าน เช่นเดียวกับระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ปัจจุบันรถยนต์รุ่นใหม่ต่างมุ่งหน้าไปในแนวทางนี้ทั้งสิ้น และล่าสุดนำเทคโนโลยีไปใช้ในส่วนอื่น กับการเปิดตัวเรือโดยสารไร้คนขับพลังงานไฟฟ้า
เมื่อพูดถึงยานยนต์ไฟฟ้าสิ่งแรกที่เราพากันนึกถึงคือ รถยนต์ไฟฟ้า ด้วยรถยนต์ส่วนตัวถือเป็นยานพาหนะที่ผู้คนใช้งานกันทั่วไป หากสามารถแก้ไขในส่วนนี้จะลดการปล่อยคาร์บอนลงได้มาก เป็นเหตุให้เกิดการรณรงค์ผลักดันการใช้พลังงานทดแทนเป็นวงกว้าง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน
แน่นอนยานพาหนะที่ใช้งานไม่ได้มีเพียงรถยนต์เพียงอย่างเดียว การพัฒนายานยนต์ประเภทอื่นให้เปลี่ยนผ่านสู่ EV เกิดขึ้นต่อเนื่อง กระนั้นด้วยข้อจำกัดและความแตกต่างของยานพาหนะแต่ละประเภทและการใช้งานไม่แพร่หลาย ทำให้ความเร็วในการพัฒนามีจำกัด ไม่เทียบเท่ารถยนต์ส่วนบุคคลซึ่งเริ่มมีให้เห็นทั่วไปตามท้องถนน
แต่ล่าสุดทางได้มีการพัฒนาเรือโดยสารไร้คนขับพลังงานไฟฟ้าขึ้นมาสำเร็จ
เรือโดยสารไร้คนขับพลังงานไฟฟ้าเชิงพาณิชย์
แนวคิดนี้เริ่มต้นจากนักวิจัยแห่ง Norwegian University of Science and Technology (NTNU) นำไปสู่การก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยี Zeabuz ร่วมกับ Torghatten AS สู่การพัฒนาเรือโดยสารข้ามฟากไร้คนขับพลังงานไฟฟ้า ที่กำลังจะถูกใช้งานภายในเมือง สตอกโฮล์ม
โครงการนี้ได้รับการพัฒนาโดยมีจุดหมายให้เป็นเส้นทางคมนาคมหลักอันยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมของเมืองสตอกโฮล์มเอง ด้วยการมีแม่น้ำไหลผ่านจนมีพื้นที่ริมน้ำอยู่เป็นจำนวนกว่า 90% การสัญจรทางเรือจึงเป็นอีกทางในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนภายในเมือง
ตัวเรือเป็นเรือแบบเปิดมีหลังคามีความยาว 12 เมตร ได้รับการพัฒนาให้สามารถใช้พลังงานไฟฟ้ารวมถึงขับเคลื่อนอัตโนมัติอย่างเต็มรูปแบบ บรรทุกผู้โดยสารได้สูงสุด 25 คน สามารถให้บริการได้ต่อเนื่องยาวนานถึง 15 ชั่วโมง/วัน โดยจะเริ่มให้บริการในเส้นทางแรกคือ เกาะ Kungsholmen กับ Søder Mellarstrand ในเมืองสตอกโฮล์ม
ดังที่ทราบกันว่าเรือลำนี้ขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติจึงไม่ต้องการคนขับ แต่ตลอดช่วงการให้บริการตัวเรือจะเชื่อมต่อกับห้องบังคับการคอยเฝ้าระวังตลอดเวลาเพื่อช่วยสนับสนุนตัวเรือจากระยะไกล อีกทั้งยังมีลูกเรือที่พร้อมรับหน้าที่กัปตันเรือคอยประจำการเพื่อรับมือเหตุไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้น
การพัฒนาเรือโดยสารข้ามฟากในครั้งนี้ ถือเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในเมือง ปฏิรูปธุรกิจเรือโดยสารให้ทันสมัยและใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เปลี่ยนผืนน้ำซึ่งเคยเป็นสิ่งกีดขวางให้เชื่อมต่อตัวเมืองเข้าด้วยกัน และคาดหวังว่าจะเป็นต้นแบบให้แก่โครงการเรือไร้คนขับ ขยายเทคโนโลยีนี้ให้ได้รับความแพร่หลายในทั่วทุกมุมโลกต่อไป
คุณค่าและประโยชน์ของเรือโดยสารไร้คนขับพลังไฟฟ้า
ดังที่กล่าวไปข้างต้นแนวคิดในการเปลี่ยนผ่านยานพาหนะสู่ยานยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่ของใหม่ หลายประเทศที่มีการสัญจรทางน้ำต่างพัฒนา ตั้งแต่ Uber ที่เปิดตัวให้บริการเรือโดยสารในลอนดอน, ระบบเรือข้ามฟากของนิวยอร์กที่กำลังขยายและเพิ่มเส้นทาง แม้แต่ไทยก็ยังมีการจัดซื้อเรือโดยสารไฟฟ้ามาใช้เป็นจำนวนมาก
เห็นได้ชัดว่าเมืองใหญ่ทั่วโลกพากันผลักดันเส้นทางสัญจรทางน้ำ หลายแห่งพัฒนาให้นี่เป็นอีกหนึ่งเส้นทางขนส่งมวลชนแห่งสำคัญ แน่นอนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเรือโดยสารได้รับอานิสงค์จากการท่องเที่ยว แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าการคมนาคมทางน้ำช่วยตอบโจทย์เมืองใหญ่ในหลายด้าน
ที่แน่นอนคือการใช้พลังงานสีเขียวช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจากน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นพลังงานไฟฟ้าถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ระบบขนส่งมวลชนเองก็ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญ การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านถือเป็นเรื่องจำเป็น ช่วยลดมลพิษและคาร์บอนที่ปล่อยออกมาลงไปเป็นจำนวนมาก
อีกหนึ่งปัญหาที่เส้นทางน้ำจะช่วยเหลือได้มากคือ ลดความแออัด เราทราบดีว่าเมืองใหญ่ทั่วโลกโดยเฉพาะกรุงเทพฯมีการจราจรคับคั่ง ความพยายามในการแก้ปัญหาที่ผ่านมาก็ไม่สามารถช่วยได้มากนัก การเพิ่มเส้นทางสัญจรใหม่จึงเป็นการแบ่งเบาปัญหา และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนริมน้ำได้อีกมาก
ไฮไลท์สำคัญที่ได้รับการผลักดันจากเรือโดยสารรุ่นใหม่ชนิดนี้คือ ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ในฐานะผู้ใช้บริการนี่อาจเป็นตัวเลือกที่ไม่เกี่ยวข้อง และอาจสร้างความไม่สบายใจอยู่บ้าง แต่สำหรับผู้ประกอบการนี่ถือเป็นเงื่อนไขที่จะช่วยผลักดันธุรกิจเรือโดยสารเป็นอย่างดี
เวลาให้บริการในช่วงแรกเรือไร้คนขับอาจยังต้องการกัปตันคอยสนับสนุนเหตุการณ์เฉพาะหน้าก็จริง แต่ในอนาคตเมื่อระบบได้รับการวางรากฐานเพียงพอ อาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพากัปตันอีกต่อไป อาศัยเพียงเจ้าหน้าที่ประจำเรือเผื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน และการควบคุมผ่านห้องบังคับการจากระยะไกลก็เพียงพอ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการให้บริการลงได้มาก
นอกจากนี้การใช้งานระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติยังทำให้เรือโดยสารเพิ่มรอบความถี่ออกเรือ สามารถแก้ไขตารางสนับสนุนตลาดเพื่อรองรับผู้โดยสารได้ง่ายขึ้น สามารถปรับเปลี่ยนไปจนขยายเวลาในการให้บริการได้สะดวก ซึ่งจะช่วยผลักดันศักยภาพให้บริการแก่ธุรกิจเรือโดยสารให้ดียิ่งขึ้น ทางผู้พัฒนาจึงมองว่า นี่จะเป็นโครงการเส้นทางคมนาคมสีเขียวซึ่งจะเข้ามาปฏิวัติวงการเรือโดยสารเลยทีเดียว
การนำระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติมาใช้กับเรือโดยสารถือเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ ด้วยการสัญจรทางน้ำมีความเรียบง่ายไม่ซับซ้อนเท่ากับการใช้กับรถบนถนน นี่จึงอาจเป็นระบบที่สามารถพัฒนาและนำไปใช้งานจริงได้ง่ายกว่า และอาจได้รับความนิยมแพร่หลายในอนาคตเลยทีเดียว
แหล่งข้อมูล