เปิดแผนเดินหน้าผลักดัน จ.แม่ฮ่องสอนโซลาร์ฟาร์มสมาร์ทกริด เมืองท่องเที่ยวสีเขียวในฝัน โดยกระทรวงพลังงาน -กฟผ. ใช้นวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะ เปิดโครงการพลังงานแสงอาทิตย์พร้อมระบบกักเก็บพลังงาน เริ่มเจ่ายไฟฟ้าเข้าเชิงพาณิชย์ มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้โครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดพิธีเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังผลิต 3 เมกะวัตต์ พร้อมด้วยระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) ขนาด 4 เมกะวัตต์ ที่โครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริด ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน
นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนจึงได้พัฒนาโครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริดขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตตลอดจนดูแลสังคมเมืองแม่ฮ่องสอนให้เป็นเมืองท่องเที่ยวสีเขียว ระบบไฟฟ้ามั่นคงด้วยพลังงานสะอาด สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัด ผ่านยุทธศาสตร์ 4 SMART คือ
1) SMART SYSTEM พัฒนาระบบควบคุมและจัดการพลังงานไฟฟ้าให้สามารถผลิตและส่งจ่ายไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2) SMART CITY ส่งเสริมการท่องเที่ยวสีเขียวด้วยเทคโนโลยีการจัดการพลังงานไฟฟ้าที่ทันสมัย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EleX by EGAT
3) SMART LEARNING สร้างศูนย์การเรียนรู้ เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงาน ศิลปวัฒนธรรม กำหนดเปิดให้บริการประชาชนในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้
และ 4) SMART ENERGY พัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมระบบกักเก็บพลังงานที่มีกำหนดเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในวันนี้ นอกจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะเป็นแหล่งไฟฟ้าที่รักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าให้กับเมืองแม่ฮ่องสอนแล้ว ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับการเป็นเมืองท่องเที่ยวสีเขียวของจังหวัดแม่ฮ่องสอนอีกด้วย
ด้านนายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน กฟผ. กล่าวเสริมว่า โครงการพลังงานแสงอาทิตย์พร้อมระบบกักเก็บพลังงาน ภายใต้ยุทธศาสตร์ SMART ENERGY แห่งนี้ ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประสบปัญหาไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับบ่อยครั้ง
โดยกระทรวงพลังงานร่วมกับจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีแนวคิดแก้ไขปัญหาดังกล่าวผ่านแผนพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะของประเทศไทย ก่อกำเนิดเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้ รวมถึงการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อพ 200 เมกะวัตต์ ในส่วนราชการของจังหวัด เพื่อช่วยลดปัญหาความไม่เสถียรภาพระบบไฟฟ้า โดยสามารถจ่ายไฟเข้าระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ทันทีในช่วงที่โรงไฟฟ้าอื่น ๆ ในพื้นที่ยังไม่สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้เต็มกำลัง
ทั้งนี้โครงการพลังงานแสงอาทิตย์พร้อมระบบกักเก็บพลังงาน ภายใต้โครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริดฯ แห่งนี้ เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 พ.ศ. 2561- 2580 (PDP2018 Revision 1) และยังเป็นส่วนหนึ่งในแผนการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด สอดรับกับนโยบายพลังงานของประเทศไทยที่ต้องการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2065
แหล่งข้อมูล