เปิด 10 แนวโน้มเทคโนโลยี เตรียมไปสู่รัฐบาลหลังยุคดิจิทัล

Share

การ์ทเนอร์ เผย 10 แนวโน้มเทคโนโลยีที่มีความสำคัญต่อกิจการภาครัฐ เป็นแนวทางให้ผู้นำองค์กรภาคสาธารณะเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านและ เตรียมพร้อมไปสู่รัฐบาลหลังยุคดิจิทัล ที่มุ่งเป้าหมายภารกิจทั้งหลายอย่างต่อเนื่อง

นายอาร์เธอร์ มิคโคลีท ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย การ์ทเนอร์ เปิดเผยว่าความวุ่นวายทั่วโลกและการหยุดชะงักทางเทคโนโลยีในปัจจุบันไม่เพียงแต่กำลังกดดันรัฐบาลให้ต้องหาทางออกเพื่อปรับสมดุล ระหว่างโอกาสและความเสี่ยงทางดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังให้โอกาสสำคัญอีกหลายอย่างสำหรับเปลี่ยนแปลงรัฐบาลดิจิทัลไปสู่ยุคถัดไป ซึ่งผู้บริหารไอทีภาครัฐฯ ต้องแสดงให้เห็นว่าการลงทุนดิจิทัลไม่ได้เป็น เพียงแค่กลยุทธ์ทั่วๆ ไป ในขณะที่ยังต้องเดินหน้าปรับปรุงการส่งมอบบริการและรับมือกับผลกระทบต่างๆ ที่มีต่อภารกิจหลัก

ทั้งนี้ผู้บริหาร CIO ภาครัฐฯ ควรพิจารณาผลกระทบของแนวโน้มเทคโนโลยีที่มีต่อองค์กร และนำมาปรับใช้เป็นข้อมูลเชิงลึกเพื่อพิจารณารูปแบบลงทุนพร้อมปรับปรุงความสามารถให้บรรลุภารกิจสำคัญและสร้างองค์กรรัฐที่พร้อมสำหรับอนาคต ประกอบด้วย

1. Adaptive Security โดยการ์ทเนอร์คาดว่า ในปี 2568 ราว 75% ของผู้บริหาร CIO ในองค์กรภาครัฐจะมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อการรักษาความปลอดภัยนอกเหนือจากในส่วนที่เกี่ยวข้องกับไอที โดยผู้บริหาร CIO ควรเชื่อมโยง Adaptive Security ให้มีขอบเขตกว้างขึ้นไปถึงนวัตกรรมดิจิทัล การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ภารกิจด้านความมั่นคงของชาติ และเป้าหมายในการสร้างความยืดหยุ่นขององค์กรมากขึ้น

2. Cloud-Based Legacy Modernization รัฐบาลของประเทศที่เป็นผู้นำอยู่ในความกดดันให้รื้อระบบเก่า ระบบแบบไซโลต่างๆ และการจัดเก็บฐานข้อมูล เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานไอทีและแอปพลิเคชันให้ทันสมัย รวมถึงเพื่อให้มั่นใจว่าบริการภาครัฐมีความยืดหยุ่นมากขึ้น การ์ทเนอร์คาดว่าภายในปี 2568 กว่าครึ่งของงานที่ต้องทำขององค์กรภาครัฐฯ มากกว่า 75% จะใช้ผู้ให้บริการคลาวด์แบบไฮเปอร์สเกล

3. Sovereign Cloud ความปั่นป่วนทั่วโลก ตลอดจนความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลของรัฐบาลที่เกินขอบเขต ส่งผลให้มีความต้องการอธิปไตยบนคลาวด์ (Sovereign Cloud) มากขึ้น การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า ภายในปี 2568 มากกว่า 35% ของแอปพลิเคชันรัฐรุ่นเก่าๆ จะถูกแทนที่ด้วยโซลูชันต่างๆ ที่พัฒนาด้วยแพลตฟอร์มแอปพลิเคชันแบบ Low-Code และดูแลโดยทีมงาน แบบผสมผสาน (Fusion Team)

4. Hyperautomation การ์ทเนอร์ ระบุว่าภายในปี 2569 องค์กรภาครัฐ 60% จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบอัตโนมัติในกระบวนการทำงานของรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 35% ในปี 2565 โดยการริเริ่มโครงการไฮเปอร์ออโตเมชั่น (Hyperautomation) ใหม่ๆ จะช่วยสนับสนุนการทำงานและกระบวนการไอทีภาครัฐ สำหรับการให้บริการสาธารณะที่เชื่อมต่อและลื่นไหลแก่ประชาชน

5. AI for Decision Intelligence ภายในปี 2567 การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า 60% ของการลงทุนกับ AI และการวิเคราะห์ข้อมูลของรัฐบาลจะส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจและผลลัพธ์การปฏิบัติงานแบบเรียลไทม์ โดย AI เพื่อการตัดสินใจอย่างชาญฉลาด (AI For Decision Intelligence) ช่วยให้รัฐบาลตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ ทันท่วงที และเหมาะสม

6. Data Sharing as a Program โดยการใช้ข้อมูลร่วมกัน (Data sharing) ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ขององค์กรภาครัฐ นั้นยังไม่เพียงพอต่อความต้องการสำหรับการนำข้อมูลมาใช้และวิเคราะห์ ภายในสิ้นปี 2566 นี้ การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า 50% ขององค์กรภาครัฐจะจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบภารกิจด้านแบ่งปันข้อมูลอย่างจริงจัง รวมถึงมาตรฐานโครงสร้างข้อมูล คุณภาพและทันเวลา

7. Total Experience หรือ TX ภายในปี 2569 แนวทางการสร้างประสบการณ์ภาพรวมของรัฐบาล (Total Experience หรือ TX) จะลดความคลุมเครือในกระบวนการทำงานลงถึง 90% ขณะเดียวกันยังเพิ่มมาตรวัดความพึงพอใจทั้งประสบการณ์ของประชาชนหรือผู้ใช้บริการภาครัฐ (CX) และประสบการณ์ของพนักงานหรือข้าราชการ (EX) ขึ้นถึง 50%

8. Digital Identity Eco systems การ์ทเนอร์คาดว่า ภายในปี 2567 มากกว่า 1 ใน 3 ของหน่วยงานภาครัฐจะใช้วอลเล็ตแบบระบุ อัตลักษณ์บุคคล โดยรัฐบาลกำลังเผชิญกับความรับผิดชอบรูปแบบใหม่ของการระบุอัตลักษณ์ดิจิทัล ผ่านระบบนิเวศต่างๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ ( Emerging Digital Identity Ecosystems) ที่ยังมาพร้อมกับความคาดหวังว่าระบบต้องมีความปลอดภัย มีนวัตกรรมทันสมัย และสามารถนำไปใช้ในภาคส่วนอื่นๆ รวมถึงการเดินทางข้ามพรมแดน

9. Case Management as a Service (CMaaS) การบูรณาการบริการภาครัฐขึ้นอยู่กับการออกแบบและพัฒนาโซลูชั่นการจัดการเป็นกรณี (Case Management) ให้เป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถประกอบรวมกันได้ สามารถแชร์ไปยังโครงการ หน่วยงาน และภาคส่วนระดับต่างๆ การ์ทเนอร์คาดว่าปี 2567 หน่วยงานรัฐที่ใช้แนวทางการจัดการแบบประกอบกัน (Composable Case Management) ปรับใช้ฟีเจอร์ใหม่เร็วกว่าหน่วยงานอื่นที่อยู่ระดับใกล้เคียงกัน 80%

และ 10. Composable Government Enterprise รัฐบาลสามารถประสบความสำเร็จและทลายกรอบการทำงานแบบเก่า ระบบทำงานไซโล และรูปแบบการเก็บข้อมูลได้ โดยใช้สถาปัตยกรรมที่สามารถนำมาประกอบกันได้ (Composable Architecture) ซึ่งการปรับปรุงพัฒนาและเพิ่มความทันสมัยให้กับระบบอย่างต่อเนื่องสามารถทำได้โดยการนำวิธีการแบบโมดูลาร์ (ที่แยกเป็นส่วนๆ และนำมาประกอบเข้าด้วยกันได้) มาใช้กับสถาปัตยกรรมแอปพลิเคชัน และใช้ความสามารถของระบบอัตโนมัติและแมชชีนเลิร์นนิ่งที่พัฒนารุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว

แหล่งข้อมูล

https://www.thansettakij.com/technology/technology/566611