‘ดีป้า’ เล็งผุด ‘ดิจิทัล ยูนิเวอร์ซิตี้’

Share

ดีป้า เดินหน้าพัฒนา บุคลากรดิจิทัล ผุดไอเดียตั้ง “ดิจิทัล ยูนิเวอร์ซิตี้” พร้อมดึง ม.ต่างประเทศ เปิดโอกาสการเรียนผ่านออนไลน์ ต่อยอดจากวุฒิการศึกษาเดิม ปั้นสู่วุฒิการศึกษาใหม่ คาดเสร็จภายในปีหน้า

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้ง มหาวิทยาลัย ดิจิทัล เพื่อเปิดโอกาสในการผลิตบุคลากรด้านดิจิทัลป้อนสู่ตลาดให้รวดเร็วขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีความต้องการบุคลากรทักษะดิจิทัลปีละ 100,000 คน ทว่า สถาบันการศึกษาผลิตป้อนตลาดได้เพียงปีละ 30,000 คน เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ดีป้า มีความพยายามในการจับมือกับพันธมิตรภาคเอกชน มหาวิทยาลัย ต่างๆ ในการ อัพสกิล รีสกิล บุคลากรเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรดิจิทัล มาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่สามารถผลิตบุคลากรได้ทันกับความต้องการของตลาดที่แต่ละองค์กรธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวสู่ดิจิทัล อันจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่โลกยุคใหม่ได้

ดังนั้น แนวคิดในการทำ ดิจิทัล ยูนิเวอร์ซิตี้ คือ ทำอย่างไรให้บุคลากรสามารถเรียนหลักสูตรต่างๆเพิ่มเติมได้เพื่อนำหลักสูตรที่เรียนนั้นมาต่อยอดหรือนำมาเทียบกับวุฒิการศึกษาเดิมที่มีอยู่เพื่อยกระดับวุฒิการศึกษาของตนให้สามารถทำงานในตำแหน่งด้านดิจิทัลได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปเรียนต่างประเทศ แต่สามารถเรียนผ่านระบบออนไลน์กับมหาวิทยาลัยชั้นนำได้

นายณัฐพล กล่าวว่า ขณะนี้ทีมบุคลากรของดีป้าที่เป็นระดับดอกเตอร์ได้เริ่มศึกษารูปแบบของดิจิทัล ยูนิเวอร์ซิตี้ และได้ประสานกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศบ้างแล้ว เช่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เป็นต้น คาดว่าจะสามารถเปิดได้ภายในปีหน้า ส่วนรูปแบบความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศยังอยู่ระหว่างการหารือ เบื้องต้น ดีป้า มีความตั้งใจเป็นหน่วยงานหลักในการออกใบรับรองหลักสูตร และต้องดูว่าจะมีภาคีในการทำงานร่วมกันกับใครบ้าง ถึงตอนนั้นจะสามารถระบุรายละเอียดเพิ่มเติมได้ว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะเข้ามามีส่วนร่วมด้วยกันได้อย่างไรบ้าง

สำหรับความคืบหน้าโครงการ สถาบันไอโอทีและนวัตกรรมดิจิทัล ภายใน Thailand Digital Valley บนพื้นที่ 30 ไร่ ใน EECd หรือ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จำนวน 5 ตึกนั้น เป็นอาคารสำนักงาน 1 ตึก ที่เหลือเป็นอาคารนวัตกรรม 4 ตึก โดย ตึกที่ 1 และ ตึกที่ 2 ที่เป็นสำนักงาน มีคนมาเช่าใช้พื้นที่เต็มหมดแล้ว ขณะที่ตึกที่ 3 พื้นที่ 20,000 ตรม.เป็นพื้นที่ของ สตาร์ทอัพ , ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) และบริษัทเครือข่ายโทรคมนาคม เช่น โนเกีย อยู่ระหว่างการเจรจาให้มาลงทุนใช้พื้นที่

ส่วนตึกสุดท้ายเป็นตึกที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุด คือ 40,000 ตรม.อยู่ระหว่างการสร้าง ให้เป็นศูนย์สร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัล ประกอบด้วยพื้นที่ทดสอบ เทคโนโลยี 5G , ห้องปฏิบัติการระบบ ปัญญาประดิษฐ์ ,ศูนย์ข้อมูล ,พื้นที่ออกแบบนวัตกรรมไอโอทีและระบบอัจฉริยะ , พื้นที่ประดิษฐ์ต้นแบบนวัตกรรมไอโอที และพื้นที่ออกแบบและทดสอบเครื่องกลและหุ่นยนต์ และกำลังเจรจาให้ หัวเว่ย เข้ามาตั้งศูนย์ใหญ่ด้านการศึกษาและนวัตกรรมของภูมิภาคในพื้นที่นี้

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1071999