แคสเปอร์สกี้ เผย ปี 2022 ระบบตรวจจับของบริษัทค้นพบไฟล์ที่เป็นอันตรายใหม่โดยเฉลี่ย 4 แสนไฟล์/วัน เพิ่มขึ้น 20,000 ไฟล์ เมื่อเทียบกับปี 2021 ส่วนในอาเซียนตัวระบบสามารถสกัดการโจมตีด้วยมัลแวร์ได้ 2.07 แสนครั้ง และทำได้ในประเทศไทย 14,050 ครั้ง
1) การโจมตีทางไซเบอร์เกิดขึ้นต่อเนื่อง
เบญจมาศ จูฑาพิพัฒน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย แคสเปอร์สกี้ เล่าให้ฟังว่า ในปี 2022 ระบบตรวจจับของแคสเปอร์สกี้ค้นพบไฟล์ที่เป็นอันตรายใหม่โดยเฉลี่ย 400,000 ไฟล์/วัน ซึ่งแสดงถึงจำนวนที่เพิ่มขึ้น 20,000 ไฟล์/วันเมื่อเทียบกับปี 2021 นอกจากนี้ แคสเปอร์สกี้ยังบล็อกการโจมตีจากแหล่งออนไลน์ มากถึง 505,879,385 ครั้ง
สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แคสเปอร์สกี้สกัดการโจมตีด้วยโมบายมัลแวร์ได้ 207,506 ครั้ง และสกัดการโจมตีในประเทศไทยจำนวน 14,050 ครั้ง โดยมีภัยคุกคามทางไซเบอร์รูปแบบใหม่เกิดขึ้นประกอบด้วย
- สตีลเลอร์ (Stealer) ตัวขโมยขั้นสูงที่กำหนดเป้าหมายเป็นบัญชีของแพลตฟอร์มเกมออนไลน์ยอดนิยม หรือกระเป๋าเงินคริปโต
- สตอล์กเกอร์แวร์ (Stalkerware) ที่เปิดช่องให้ผู้กระทำความผิดแอบสอดแนมชีวิตส่วนตัวของบุคคลอื่นผ่านโมบายดีไวซ์
จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ใช้จะต้องมีคำตอบสำหรับทุกสถานการณ์ที่อาจเป็นไปได้ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้ชีวิตดิจิทัลได้อย่างมั่นใจ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม MMORPG ที่ชื่นชอบ การแนะนำเด็ก ๆ ให้รู้จักกับแท็บเล็ตเครื่องแรก การจัดสรรวิดีโอคอลล์ให้แก่สมาชิกอาวุโสของครอบครัว รวมถึงเรื่องบ้านอัจฉริยะ และเมตาเวิร์ส
2) เศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนสูงถึง 1.94 แสนล้านเหรียญ
ในปี 2023 มีการคาดการณ์ว่า มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนจะสูงถึง 1.94 แสนล้านเหรียญ เนื่องจากบริการดิจิทัลต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะกับการใช้งานโทรศัพท์มือถือเพื่อเข้าถึงบริการต่าง ๆ
“แม้ผู้บริโภคในอาเซียน 70% จะตระหนักรู้ว่าโซลูชันความปลอดภัยทางไซเบอร์จำเป็นต่อการใช้งานเพื่อป้องกันการโจมตีไปยังโทรศัพท์มือถือที่ใช้งานอยู่ทุกวัน แต่มีเพียง 26% ของผู้ตอบแบบสำรวจมีโซลูชันความปลอดภัยในโทรศัพท์มือถือของตัวเองเท่านั้น”
แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/photo/?fbid=634644692031104&set=a.628388912656682