1 ใน 4 โลจิสติกส์ไทย วางแผนลงทุนเทคโนโลยี ‘โดรน-บล็อกเชน-AI’

Share

HERE Technologies เผยศึกษาชี้ธุรกิจโลจิสติกส์เผชิญความท้าทายด้านการติดตามและจัดการข้อมูลในห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นนํ้าถึงปลายนํ้า 1 ใน 5 บริษัทโลจิสติกส์ ระบุความท้าทายในการหาพันธมิตร ซัพพลายเออร์ที่เหมาะสม การคำนวณผลตอบแทนของการลงทุน อุปสรรคใหญ่ใช้เทคโนโลยี

อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ของประเทศไทยกำลังเติบโต โดยในปี 2566 เติบโตเป็นอันดับ 34 จาก 139 ประเทศ ในดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพโลจิสติกส์ (Logistics Performance Index หรือ LPI) ของธนาคารโลก บ่งชี้ถึงประสิทธิภาพและคุณภาพในบริการโลจิสติกส์ที่ค่อนข้างสูง ซึ่งประเทศไทยยังคงรักษาอันดับผู้นำ โดยทำคะแนน LPI อยู่ใน 11 อันดับแรกของของประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางระดับสูง (Upper-Middle-Income) ในปี  2566 ด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่ง

ประกอบกับความมุ่งมั่นของกระทรวงคมนาคมของประเทศไทยที่ตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

HERE Technologies เปิดเผยผลการศึกษาใหม่ APAC On The Move นำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่ได้รับจากผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ (Transportation and Logistics หรือ T&L) ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เกี่ยวกับแนวโน้มและแนวทางปฏิบัติด้านเทคโนโลยีในปัจจุบันที่กำลังเปลี่ยนโฉมห่วงโซ่อุปทาน การจัดการยานพาหนะ และการจัดการ ด้านโลจิสติกส์

โดยจากการศึกษาพบว่ามากกว่า 1 ใน 5 ของบริษัทโลจิสติกส์ในไทย หรือ ราว 22% ระบุว่าความท้าทายในการหาพันธมิตร หรือซัพพลายเออร์ที่เหมาะสม และการคำนวณผลตอบแทนของการลงทุนเป็นอุปสรรค ที่ใหญ่ที่สุดในการดำเนินการใช้เทคโนโลยี ขณะที่ 17% ต้นทุนก็ยังเป็นเรื่องต้องกังวลเช่นกัน

ความต้องการเทคโนโลยีของบริษัทโลจิสติกส์ในไทยนั้นต้องการโซลูชันพร้อมใช้ ติดตั้งง่ายค่าใช้จ่ายไม่สูง ใช้เวลาไม่นาน และไม่ต้องใช้ทีมงานจำนวนมากกับการยกเครื่องระบบใหม่ทั้งหมด จากการศึกษาของ HERE Technologies ความท้าทายในใช้เทคโนโลยีของบริษัท โลจิสติกส์ คือ การผสานรวมซอฟต์แวร์เข้ากับโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ สัดส่วน 20%, ต้นทุนของ Internet of Things – IoT สูง สัดส่วน 15% และการขาดบุคลากรที่มีทักษะเพื่อใช้และจัดการโซลูชันการติดตาม สัดส่วน 14% ล้วนเป็นอุปสรรคหลักในการติดตาม สินทรัพย์โลจิสติกส์และการตรวจสอบการจัดส่ง/สินค้า

นอกจากนี้ยังพบว่าประมาณ 50% ของบริษัทโลจิสติกส์ไทยกำลังใช้ซอฟต์แวร์การติดตามสินทรัพย์และตรวจสอบการจัด ส่งร่วมกับการป้อนข้อมูลแบบแมนนวลสำหรับติดตามสินทรัพย์ การจัดส่ง และตู้สินค้า โดยกระบวน การแบบแมนนวลมีโอกาสทำให้เกิดช่องโหว่สูงและยังสร้างความเปราะบางภายในห่วงโซ่อุปทาน แสดงให้เห็นว่าบริษัทจำนวนมากยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่น ในขณะที่โซลูชันการติดตามแบบเรียลไทม์และอัตโนมัติ มอบโอกาสในการเร่งสร้างนวัตกรรมและรับมือกับการหยุดชะงักได้ทันท่วงที

อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเทศไทยอาศัยภาคการขนส่งทางถนนเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 80% ของตลาดโลจิสติกส์ ทั้งหมด ดังนั้นบริษัทโลจิสติกส์ไทย ควรให้ความสำคัญกับการมองเห็นและติดตามข้อมูลเพิ่มขึ้น รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพเมื่อต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีระบุตำแหน่ง

รายงานเปิดเผยว่า 37% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า การใช้เทคโนโลยีระบุตำแหน่งมีความจำเป็นต่อการเพิ่มความปลอดภัยของผู้ขับขี่ เป็นแรงจูงใจหลักสำหรับบริษัทต่างๆ ในการซื้อโซลูชันการติดตามทรัพย์สินด้านโลจิสติกส์ ขณะที่ 33% ระบุว่า ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการติดตามยานพาหนะแบบเรียลไทม์และการรายงานข้อมูล และอีก 30% ระบุว่าเทคโนโลนี้ยังมีความ จำเป็นต่อการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานขับรถและพนักงานซ่อมบำรุง

บริษัทโลจิสติกส์สามารถตัดสินใจได้อย่างรอบคอบด้วยการติดตามสถานะแบบเรียลไทม์และข้อมูลด้วยเทคโนโลยี IoT การศึกษายืนยันว่าบริษัทโลจิสติกส์ส่วนใหญ่ในประเทศไทยใช้เทคโนโลยี IoT อยู่แล้ว โดยใช้ในแอปพลิเคชัน IoT สำหรับการจัดการสินค้าคงคลัง ประมาณ 20% การจัดการยานพาหนะ ประมาณ 18% และการจัดการห่วงโซ่อุปทานและการ ขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ ประมาณ 18%

เมื่อมองไปในอนาคตพบว่าเกือบ 1 ใน 4 ของบริษัทโลจิสติกส์ในประเทศไทยกำลังวางแผนลงทุนเทคโนโลยี โดยลงทุนในโดรน 41% ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแมชชีนเลิร์นนิ่ง 32% และบล็อกเชน 32% เพื่อก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ โดยธุรกิจโลจิสติกส์ระบุว่า เทคโนโลยีเหล่านี้มีประโยชน์ต่อการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน สัดส่วน  36% ขณะที่ 34% มองว่าช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาด และ 32% มองว่าช่วยเพิ่มรายได้

นายอาบิจิต เซนกุปตา ผู้อำนวยการอาวุโสและหัวหน้าฝ่าย ธุรกิจ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศอินเดีย บริษัท HERE Technologies กล่าวว่า “ภาคอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของประเทศ ไทยมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการเชื่อมธุรกิจและผู้บริโภคทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าไว้ด้วยกัน รายงานของเราเผยให้เห็นถึงการเติบโตอย่างมากของตลาดโลจิสติกส์พร้อมกับศักยภาพการเติบโตที่ยังมีอีกมากรวมถึงนวัตกรรม เราเชื่อว่าเมื่อบริษัทใช้ Location Technology แพร่หลายมากขึ้น ย่อมนำไปสู่โอกาสในการเติบโตสำหรับภาคโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนระยะยาว และขยับไปสู่การเป็นโลจิสติกส์ฮับของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

แหล่งข้อมูล

https://www.thansettakij.com/technology/technology/569002