โครงการ SeaChange มีจุดมุ่งหมาย ต้องการทำให้ท้องทะเลเพิ่มปริมาณการดูดซับ “คาร์บอนไดออกไซด์” ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ และอันตราย
ศาสตราจารย์ ดร. Gaurav Sant แห่ง University of California-Los Angeles Campus และผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการจัดการคาร์บอน หรือ Institute of Carbon Management Director (ICM) ของมหาวิทยาลัย กล่าวว่าเป้าหมายของ SeaChange คือการ “ใช้มหาสมุทรเป็นฟองน้ำขนาดใหญ่”
“เราได้ใช้กระบวนการเคมีไฟฟ้า เพื่อกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากทะเลที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ในปริมาณมหาศาล คล้ายกับการบิดเอาน้ำออกจากฟองน้ำ เพื่อช่วยฟื้นฟูความสามารถในการดูดซับของมัน” ศาสตราจารย์ ดร. Gaurav Sant กระชุ่น
“กระบวนการเคมีไฟฟ้า” ที่ศาสตราจารย์ ดร. Gaurav Sant พูดถึง คือปฏิกิริยาเคมีที่เกิดจากการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า หรือ Electrolysis ที่จะเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งละลายอยู่ในน้ำทะเล ให้กลายเป็นผงสีขาว ซึ่งมีสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนต ที่พบได้ทั่วไปในชอล์ค หินปูน และเปลือกหอยนางรม หรือหอยแมลงภู่
ศาสตราจารย์ ดร. Gaurav Sant ชี้ว่า “ผงสีขาว” นี้ สามารถนำกลับคืนสู่ท้องทะเลในภาวะของแข็งที่กักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ได้อย่างยั่งยืน และยาวนานหลายหมื่นปีเลยทีเดียว
“ส่วนน้ำที่ปล่อยกลับคืนสู่ท้องทะเล ก็พร้อมที่จะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศได้มากขึ้น” ศาสตราจารย์ ดร. Gaurav Sant กล่าว
พวกเรามั่นใจว่า กระบวนการนี้จะไม่สร้างความเสียหายให้แก่สิ่งแวดล้อมทางทะเล ทว่า ก็จำเป็นต้องมีการทดสอบเพิ่มเติมในอนาคตเพื่อยืนยันให้แน่ชัดอีกครั้ง แต่ผลพลอยได้ที่สำคัญที่สุดของกระบวนการนี้ คือการสร้างผลิตภัณฑ์ก๊าซ “ไฮโดรเจน” ซึ่งสามารถนำมาใช้งานอย่างกว้างขวาง ในฐานะพลังงานสะอาดที่เติมให้กับรถยนต์ รถบรรทุก และเครื่องบิน หรือเรือได้ในอนาคต
ทีมงานของศาสตราจารย์ ดร. Gaurav Sant ใช้เวลานานถึง 2 ปีกับ SeaChange ในการเพิ่มปริมาณการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับท้องทะเล และมหาสมุทร ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ใหญ่ที่สุดของโลก เป็นอ่างกักเก็บ “คาร์บอน” หลักของโลก
เป็นที่ทราบกันดี ว่า “คาร์บอนไดออกไซด์” ถูกดูดซับไปอยู่ในทะเลราว 25% รวมถึงมีบทบาทในการดูดซับ 90% ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของ “ก๊าซเรือนกระจก”
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ค่าความเป็นกรดของทะเล และอุณหภูมิในมหาสมุทรที่เพิ่มสูงขึ้น ได้ลดความสามารถในการดูดซับ “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” ของท้องทะเลลงเป็นอย่างมาก
ศาสตราจารย์ ดร. Gaurav Sant กล่าวว่า ถ้าเราสามารถนำ “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” ออกจากท้องทะเลได้ ก็หมายความว่า มหาสมุทรกำลังฟื้นฟูความสามารถในการดูดซับ “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” จากชั้นบรรยากาศ
ทีมงานของ ศาสตราจารย์ ดร. Gaurav Sant ได้สร้างโรงงาน Electrolysis ขนาดย่อมบนเรือที่มีความยาว 30 เมตรซึ่งลอยอยู่ในทะเล และสามารถสูบน้ำทะเลเข้าไป และใช้กระแสไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นกระบวนการกำจัด “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” ในน้ำทะเล
กระบวนการนำ “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” แปรรูปให้เป็นแร่ของแข็งในท้องทะเลของ SeaChange นี้ แตกต่างจากการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศโดยตรง หรือ Direct Air Capture (DAC) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน และมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เพื่อจัดเก็บก๊าซไว้ใต้ดิน
Equatic ที่เป็นบริษัท Start-up ได้วางแผนที่จะขยายขนาดเทคโนโลยี SeaChange ของ ศาสตราจารย์ ดร. Gaurav Sant ไปในเชิงพาณิชย์ โดยการขาย “คาร์บอนเครดิต” ให้กับผู้ผลิตที่ต้องการชดเชยการปล่อยมลพิษ
ดังนั้น ในช่วงนี้ บริเวณท่าเรือในนครลอสแองเจลิส จึงมีสิ่งลักษณะแปลกตา เพราะถูกปกคลุมด้วยท่อต่างๆ และถังจำนวนมากของโรงงาน Electrolysis
นอกจากบริเวณท่าเรือในนครลอสแองเจลิส ยังมีเรือที่คล้ายกันนี้ กำลังทดสอบอยู่ในประเทศสิงคโปร์
ศาสตราจารย์ ดร. Gaurav Sant หวังว่า ข้อมูลจากเรือทั้งสองลำนี้ จะนำไปสู่การสร้างโรงงานบนเรือขนาดใหญ่อื่นๆ ต่อไป ซึ่งอาจจะสามารถกำจัดคาร์บอนได้หลายพันตันในแต่ละปี โดยคาดว่าเริ่มดำเนินการโรงงานใหม่เหล่านี้ ภายในระยะเวลา 18 ถึง 24 เดือนที่จะถึงนี้
นอกจาก Electrolysis และ DAC เทคนิคการดักจับ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อื่นๆ ก็มี อาทิ Carbon dioxide removal หรือ CDR ต่างก็สามารถช่วยให้บรรลุ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ได้ภายในปี ค.ศ. 2050 เนื่องจากสามารถชดเชยการปล่อยก๊าซจากอุตสาหกรรม ที่ยากจะลดการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมการบิน รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตซีเมนต์ และเหล็กกล้า
รายงานเกี่ยวกับ CDR ที่เพิ่งเผยแพร่ในเดือนมกราคมที่ผ่านมาชี้ว่า การรักษาอุณหภูมิโลกให้เป็นไปตามที่กำหนด ภายในปี ค.ศ. 2100 จะต้องมีการกำจัด “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” ออกจากชั้นบรรยากาศอย่างน้อย 450,000 ล้าน ถึง 1.1 ล้านล้านตัน
ศาสตราจารย์ ดร. Gregory Nemet แห่ง University of Wisconsin–Madison ผู้เขียนรายงานเกี่ยวกับ CDR กล่าวว่า CDR ต้องเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ในเวลา 30 ปีข้างหน้า เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับภาคพลังงานลม และภาคพลังงานแสงอาทิตย์
“เทคโนโลยี SeaChange ของ ศาสตราจารย์ ดร. Gaurav Sant มีศักยภาพสูงตรงตามเกณฑ์การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
แต่สิ่งสำคัญอันดับแรกในการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนในขณะนี้ก็คือ การที่มนุษยชาติต้องช่วยกันลดการปล่อย “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” ลงให้มากกว่าที่เป็นอยู่
“และนี่ก็เป็นสิ่งที่ประเทศต่างๆ กำลังต่อสู้เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จ” ศาสตราจารย์ ดร. Gregory Nemet ทิ้งท้าย
แหล่งข้อมูล