ไฮฟ์กราวนด์ เตรียมปล่อย “ไทเกอร์ โดรน2” ออกสู่ตลาด ก.ย.นี้ รับตลาดโดรนเพื่อการเกษตรโต 200% ต่อปี ชูฟีเจอร์ตอบโจทย์เกษตรกรไทย ค่าใช้จ่ายดูแลตํ่า ตั้งเป้าครองส่วนแบ่ง 30% ใน 5 ปีข้างหน้า พร้อมวางเป้าดัน “ไทเกอร์ โดรน1” เป็นโดรนที่เกษตรกร 10 ครัวเรือนต้องมีทุกบ้าน
ดร.มหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ไฮฟ์กราวนด์ จำกัด หรือ HiveGround สตาร์ทอัพสาย AgTech เทคโนโลยีการเกษตร ผู้พัฒนาหุ่นยนต์และโดรนโซลูชัน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตลาดโดรนเพื่อการเกษตรมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยข้อมูลของสำนักงาน กสทช. ระบุว่าปี 63-65 ที่ผ่านมาโดรนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มโดรนเพื่อการเกษตรมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 200% หรือ เติบโต 2 เท่า โดยปีนี้คาดว่าจะมีโดรนขนาดใหญ่ราว 10,000 เครื่อง และคาดว่าจะเห็นแนวโน้มการเติบโต 2 เท่าไปอีก 4-5 ปีข้างหน้า โดยมีตัวเลขประมาณ 80,000-100,000 เครื่อง
สำหรับตลาดโดรนเพื่อการเกษตรที่เป็นที่ต้องการของตลาดสูง และมีแนวโน้มการเติบโตสูงในขณะนี้ คือ โดรนเพื่อการเกษตร ขนาด 20 ลิตร ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50% โดยประมาณเดือนกันยายนนี้บริษัทจะเปิดตัวโดรนเพื่อการเกษตรรุ่นที่ 2 ภายใต้ชื่อ “ไทเกอร์ โดรน2” ที่มีขนาด 20 ลิตร เหมาะกับพื้นที่การเกษตร 100-200 ไร่ขึ้นไป เพื่อตอบโจทย์ความต้องการตลาด ซึ่งไทเกอร์ โดรน2 มีการพัฒนาฟีเจอร์ ฟังก์ชัน ที่ตอบโจทย์เกษตรกรไทย และสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ใช้
โดยฟีเจอร์หลักที่สำคัญระบบ Smart Planning ระบบวางแผนเส้นทางการบิน ที่มีความ แม่นยำสูง พัฒนา แอปพลิเคชัน HiveGround Mission Control (HGMC) ด้วยเมนูภาษาไทยสามารถแสดงค่าพื้นที่และหน่วยวัดต่างๆ ตามการใช้งาน และสามารถบินทำงานพร้อมกันได้หลายตัว ด้วยระบบการบินอัตโนมัติ แจ้งเตือนสิ่งกีดขวาง ด้วยภาพและเสียง พร้อมระบบเบรกอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชันเพื่อเกษตรกรโดยเฉพาะ อาทิ โหมดโชยรวง ที่ช่วยให้ผลผลิตการเกษตรไม่เสียหายจากการบินโดรน, โหมดกันข้าวไหม้ ที่ช่วยให้การฉีดพ่นเป็นไปได้อย่างสมํ่าเสมอไม่มากเกินไป
“ไทเกอร์ โดรน2 จะเป็นโปรดักส์เรือธงของบริษัท ที่ช่วยเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดผลิตภัณฑ์โดรนเพื่อการเกษตร “ไทเกอร์ โดรน” โดยตั้งเป้า 5 ปีต่อจากนี้บริษัทจะมีส่วนแบ่งตลาดโดรนเพื่อการเกษตรประมาณ 30% จากปัจจุบันมี ส่วนแบ่งตลาดราว 10%”
สำหรับ ไทเกอร์ โดรน1 ซึ่งเป็นรุ่นแรก ที่มีขนาด 10 ลิตร เหมาะกับพื้นที่การเกษตรประมาณ 25-30% และเหมาะกับการทำงานคนเดียว หรือครอบครัวเดียว มีขนาดเล็ก ใช้งานง่าย โดยบริษัทตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะผลักดันให้เป็นโดรนการเกษตร ที่เกษตรกร 10 ล้านครัวเรือนต้องมีทุกบ้าน ซึ่งโดรนรุ่นดังกล่าวนั้นมีแนวโน้มราคาลดลง ขณะที่ฟังก์ชันการใช้งานนั้นเหมาะกับเกษตรไทย และมีต้นทุนการบำรุงรักษาตํ่ากว่าแบรนด์จากต่างประเทศ
ดร.มหิศร กล่าวต่อไปอีกว่า ต้นปีที่ผ่านบริษัทได้รับสนับสนุนการลงทุนรอบซีรีส์ บี นำโดยกลุ่มทรูดิจิตอล ซึ่งบริษัทได้นำเงินลงทุนดังกล่าวไปใช้ขยายทีมงานด้านการตลาด และการขาย รวมถึงขยายตัวแทนจำหน่าย เพื่อขยายตลาดใน และต่างประเทศ โดยขณะนี้เริ่ม ขยายการทำตลาดในญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ แล้ว นอกจากนี้ยังใช้ลงทุนสาขาการให้บริการ BtoB และขยายโรงงานผลิตไทเกอร์ โดรน ซึ่งขณะนี้โรงงานดังกล่าวมีกำลังการผลิตสูงสุด 100 เครื่องต่อเดือน ซึ่งเพียงพอต่อการรองรับการเติบโตอนาคต นอก จากนี้บริษัทเป็นสตาร์ทอัพ เงินทุนส่วนใหญ่ หรือ ราว 30-50% ใช้ไปยังการวิจัยและพัฒนาหรือ R&D อาทิ เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ กล้อง ระบบนำทาง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำคัญ ในโดรน และหุ่นยนต์
ล่าสุดได้รับทุนสนับสนุนรอบ ซีรีส์ B+ เพิ่มเติมเข้ามามาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทตั้งเป้าหมายกำไรในปีหน้า โดยรายได้หลักมาจากธุรกิจรวบรวมระบบ หรือ เอสไอ อย่างไรก็ตามตั้งเป้าหมาย 5 ปีข้างหน้า จะมีรายได้หลักจะมาจากการวิจัยพัฒนา และโปรดักส์ ราว 80% ส่วนที่เหลือ 20% มาจากธุรกิจเอสไอ
แหล่งข้อมูล