ขอนแก่นกับการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะด้านสุขภาพ (Digital Society Series: Medical & Healthcare Smart City at Khonkaen)

Share

Loading

จังหวัดขอนแก่นได้รับการประกาศให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ( Smart City ) นำร่อง 1 ใน 7 ของประเทศไทยจากรัฐบาล ร่วมกับจังหวัด ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และ กรุงเทพมหานคร

โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะระดับจังหวัดของจังหวัดขอนแก่น ได้ระดมสมองเพื่อร่วมกันจัดทำแผนสมาร์ทซิตี้ โดยได้นำกรอบการขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้ในระดับสากล อันประกอบด้วย Smart Mobility, Smart Living, Smart Citizen, Smart Economy, Smart Environment, Smart Governance มา พิจารณากลั่นกรอง จนกระทั่งได้ความต้องการในพื้นที่ (Area-based Needs) เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดเป็นผลและรูปธรรม โดยจังหวัดขอนแก่นได้มุ่งเป้าหมายในการขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้ ใน 3 ประเด็นหลัก หรือที่เรียกว่า 3M ดังนี้

1. Mobility เมืองแห่งความเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งของภูมิภาคกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง

2. MICE City เมืองแห่งการประชุมของภาคอีสานและเป็นประตูสู่ภูมิภาคกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง

3. Medical & Healthcare เมืองแห่งความเป็นศูนย์กลางการบริการทางการแพทย์และสุขภาพของภูมิภาคกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa เป็นหนึ่งในคณะกรรมการขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้จังหวัดขอนแก่นและหน่วยงานหลักในการดำเนินการด้าน Medical & Healthcare ในแผนงานสมาร์ทซิตี้จังหวัดขอนแก่น โดยได้มีการดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรในพื้นที่ อันประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 โรงพยาบาลขอนแก่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น เทศบาลนครขอนแก่น สมาคมเฮลท์เทคประเทศไทย สมาคมการค้าซอฟต์แวร์และธุรกิจนวัตกรรมดิจิทัลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และชมรมขอนแก่นเมกเกอร์คลับ

โดยหน่วยงานที่มีชื่อเหล่านี้ได้ร่วมกันลงนามกับ depa ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองอัจฉริยะ “Smart Living Lab” (Smart Health & Medical Hub) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาดิจิทัลและนวัตกรรม เพื่อบริการด้านสุขภาพและการแพทย์ ขอนแก่นโมเดล โดยแนวทางความร่วมมือจะเน้นการสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมการแพทย์แบบครบวงจร ที่มีแนวทางการปฏิบัติ 3 ด้านดังนี้

1. สร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน ( Platform ) จัดเก็บข้อมูลสุขภาพที่เป็นมาตรฐานเดี่ยวกัน

2. ทดสอบสนับสนุนและยกระดับความเป็นสากลให้กับอุตสาหกรรมดิจิทัลสุขภาพและการแพทย์ผ่านห้องทดลองภาคสนาม

3. นำผลงานการพัฒนาดิจิทัลและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ ผลิตใช้จริงในเชิงพาณิชย์และสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิด Digital Startup อย่างยั่งยืนในทุกๆระดับที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งพัฒนาบุคลากรหรือกำลังคนให้ได้มาซึ่งนักพัฒนาดิจิทัลและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมตามที่นโยบายกำหนดให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน

นอกจากการลงนามความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวแล้ว สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้ส่งแผนการดำเนินงานในการขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้จังหวัดขอนแก่น ในกรอบ Medical & Healthcare ส่งเข้าประกวดและได้รับรางวัลชนะเลิศ IDC SMART CITY ASIA PACIFIC AWARDS และได้รับรางวัลในประเภท PUBLIC HEALTH AND SOCIAL SERVICES โดยแนวคิดในการส่งประกวด คือ การบูรณาการทำงานโดยการสร้างระบบที่มีความเชื่อมโยงทุกๆภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี และแปลงสู่การปฏิบัติโดยเริ่มจากการลงนามความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือข้างต้นและร่วมกันดำเนินงาน ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2561 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำเสนอโครงการ Smart Ambulance Operation Center เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณผ่านมาตรการโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (depa Digital Infrastructure Fund) จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และในปีงบประมาณ 2562 จะมีโครงการที่เกี่ยวข้องเริ่มขอรับการสนับสนุนผ่านมาตรการอื่นๆที่เกี่ยวข้องจาก depa ตามขั้นตอนต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติม

[1] Link on Facebook https://www.facebook.com/สูงวัยสุขภาพดีด้วยเทคโนโลยีฉลาด

[2] Official Announcement of IDC Smart City 2018 WINNERS http://www.idc.asia/idcscapa/winners.html

แหล่งข้อมูล

https://www.depa.or.th/th/article-view/digital-society-series-medical-healthcare-smart-city-khonkaen