เมื่อ “ยุโรป” ขยับทำอะไร นั่นคือทิศทางของโลก คำกล่าวนี้ คงไม่เกินจริงโดยเฉพาะในโลกการค้าระหว่างประเทศที่สหภาพยุโรป หรือ อียูได้กำหนด นโยบายโลกสีเขียวไร้มลพิษของอียู (European Green Deal) ส่งผลให้อียูออกชุดข้อเสนอกฎหมาย 13 ฉบับ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ออกมาระบุว่า เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2566 สหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free products Regulation : EUDR) หรือ Regulation (EU) 2023/1115 ที่กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าเกษตร 7 กลุ่ม ได้แก่ โค โกโก้ กาแฟ น้ำมันปาล์ม ยางพารา ถั่วเหลือง และไม้ รวมถึงผลิตภัณฑ์ จะต้องลงทะเบียนในระบบฐานข้อมูลและแจ้งข้อมูลที่เกี่ยวกับการผลิต เช่น แหล่งที่มา ผู้ผลิต และพิกัดทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่เพาะปลูก/เก็บเกี่ยว เป็นต้น เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับ และวิเคราะห์ข้อมูลผ่านระบบภาพถ่ายจากดาวเทียม ว่าสินค้านั้นผลิตบนพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation) หรือทำให้ป่าเสื่อมโทรม (Degradation) หรือไม่ เพื่อลดการทำลายพื้นที่ป่าของโลก และลดการนำเข้าสินค้าที่มีความเสี่ยงในการทำลายป่าเข้ามาในอียู ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 30 ธ.ค. 2567
ทั้งนี้ ภาคเกษตรและผู้ส่งออกที่เกี่ยวข้องจะมีเวลาเตรียมการ (transitional period) ประมาณ 18 เดือน ก่อนที่มาตรการนี้จะมีผลใช้บังคับ ขณะเดียวกัน คาดว่าอียูจะออกกฎระเบียบลำดับรอง เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการนี้มีความชัดเจนขึ้น เช่น กำหนดหน่วยงานรับผิดชอบ บทลงโทษ การจัดทำระบบฐานข้อมูล และการจัดกลุ่มประเทศตามระดับความเสี่ยงในการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อกำหนดระดับความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสอบข้อมูลที่ผู้ประกอบการแจ้ง ซึ่งผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงจะถูกสุ่มตรวจ 9 %ความเสี่ยงระดับกลาง 3 %และความเสี่ยงระดับต่ำ 1%
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการขนาดย่อมและขนาดเล็ก (MSME) ที่จัดตั้งขึ้นภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 จะได้เวลาเปลี่ยนผ่าน 24 เดือน (ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2568) ก่อนที่มาตรการจะมีผลใช้บังคับ
สำหรับผลการหารือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทราบว่าการยางแห่งประเทศไทย(กยท.)อยู่ระหว่างจัดทำฐานข้อมูลการเพาะปลูกยางพารา และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.)อยู่ระหว่างการจัดทำคู่มือสำหรับสมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่อใช้ประกอบการดำเนินการตามระเบียบดังกล่าว
“ในช่วงที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐของไทย อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยังได้ประสานกับอียูเตรียมเชิญผู้เชี่ยวชาญมาจัดสัมมนาฝึกอบรมให้คำแนะนำและอธิบายมาตรการนี้ ”
สำหรับในปี 2565 ไทยส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ไปอียู มูลค่า 1,732.8 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน11% ของการส่งออกไทยไปโลก และส่งออกกาแฟ มูลค่า 0.3 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 9% ของการส่งออกไทยไปโลก
ในส่วนมาตรการที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อมก่อนหน้านี้ ได้แก่ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM) นั้น ความคืบหน้าล่าสุดสหภาพยุโรปได้เผยแพร่ระเบียบ CBAM (Regulation (EU) 2023/956) เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2566 โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน ต้องแจ้งปริมาณสินค้าที่นำเข้ามาในอียู และปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตสินค้านั้น ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2566 – 31 ธ.ค. 2568 โดยในช่วง 3 ปีแรก ให้แจ้งข้อมูลย้อนหลังทุกไตรมาส หลังจากนั้นให้แจ้งข้อมูลย้อนหลังทุกปี นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 อียูจะเริ่มมาตรการบังคับกำหนดให้ผู้นำเข้าต้องซื้อ “ใบรับรอง CBAM” ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านั้น
“ไทยยื่นความเห็นเรื่องการแจ้งข้อมูล และการคำนวณข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นเรื่องเทคนิคที่มีความยุ่งยาก และจะเป็นภาระต่อผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทย รวมถึงการกำหนดหน่วยงานที่จะสอบทานและตรวจรับรอง (verify/certify) ข้อมูล ทั้งนี้ หากอียูสามารถรับรองให้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ของไทย เป็นหน่วยงานสอบทานได้ จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการไทยมากขึ้น”
กฎระเบียบการค้าของอียู กำลังจะเป็นต้นแบบของกฎการค้าที่หลายๆประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นตลาดส่งออก แหล่งหารายได้เข้าประเทศของไทย จะนำมาใช้ดังนั้น อียูขยับแล้วผู้ประกอบการไทยต้องเข้าใจและเร่งปรับตัวรับกติกาใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อไม่ให้ความเปลี่ยนแปลงกลายเป็นปัญหาแทนที่จะเป็นโอกาสใหม่ของการค้าไทย
แหล่งข้อมูล