โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ทางออกของ ปัญหาขยะ ล้นเมือง กับผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่ จ.ระยอง

Share

Loading

ปัญหาขยะ นับวันจะเป็นปัญหาที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ และมีการกำหนดนโยบายหรือมาตรการต่างๆ เพื่อให้สามารถควบคุมหรือบริหารจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพแต่ด้วยปัจจัยหลายๆ ด้าน ที่ทำให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของประชากรสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้ผลิตพยายามพัฒนาสินค้ารูปแบบใหม่ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้คนมากขึ้น

รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคทำให้เกิดปริมาณขยะเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองและชุมชนขนาดใหญ่ หากปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็วจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน เนื่องจากขยะจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคต่างๆ และเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคสู่คน ทำให้เกิดการเจ็บป่วย ทำลายสภาพภูมิทัศน์ที่สวยงาม ดังนั้น ปัญหาขยะ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจึงกลายเป็น “ปัญหาระดับชาติ” ที่ต้องหาทางแก้ไขในทุกมิติ

และเพื่อบริหารจัดการ ปัญหาขยะ ในประเทศไทย ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยได้มีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะแล้ว แต่ที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าพลังงานขยะยังถูกต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากประชาชนโดยรอบเกิดความไม่มั่นใจในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และคิดว่าการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดทัศนคติในแง่ลบต่อโรงไฟฟ้าพลังงานขยะดังกล่าว

ทั้งนี้ อาจมีสาเหตุจากการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐในการให้ความรู้ ทำให้ประชาชนมีความกังวลเรื่องของมลพิษที่เกิดจากกระบวนการผลิต เช่น กลิ่นเหม็นของขยะเป็นแหล่งให้เกิดเชื้อโรคและก๊าซพิษ จึงมีการต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะในพื้นที่ของแต่ละชุมชน

โดยหนึ่งในพื้นที่ต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการจัดโครงการการจัดการขยะครบวงจร เปลี่ยนการฝังกลบแบบเดิมๆ ให้เป็นการคัดแยกขยะที่สามารถนำไปสู่การผลิตเชื้อเพลิงไฟฟ้าได้ นั่นคือ พื้นที่ จ.ระยอง ด้วยความร่วมมือของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และ องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง อบจ.ระยอง

เปิดที่มาการจัดการกับ ปัญหาขยะ จากต้นแบบ โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะด้วยความร่วมมือของ GPSC และ อบจ.ระยอง

ความต้องการไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกปี และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 346,767 กิกกะวัตต์-ชั่วโมง ในปี พ.ศ. 2573 กระทรวงพลังงานได้มีนโยบายพัฒนาพลังงานหมุนเวียน (renewable energy: RE) และจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan: AEDP) ระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ.2555-2564)

เนื่องจากประเทศไทยมีสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนและขยะในรูปของการรับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in Tariff (FiT) ซึ่งสามารถจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนและผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ โดยอัตราการรับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in Tariff (FiT) ในปี 2558 สำหรับขยะ (ก๊าซจากขยะฝังกลบ) อยู่ที่ 5.60 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง กับผู้ผลิตรายย่อยเป็นเวลา 10 ปี และสำหรับก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ผลิตภัณฑ์ของเสีย) อยู่ที่ 3.76 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง กับผู้ผลิตรายย่อยเป็นเวลา 20 ปี นอกจากนี้ การผลิตไฟฟ้าจากขยะยังมีศักยภาพในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งถือเป็นความท้าทายของรัฐบาลไทยในการจัดการพลังงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ด้วยเหตุผลสำคัญที่กล่าวมา ทำให้ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. ได้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel: RDF) ตามแนวทางการสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ และเป็นต้นแบบการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยร่วมมือกับ อบจ.ระยอง เพื่อขยายโครงการนำร่องนี้ในพื้นที่ระยองเป็นแห่งแรก

ศิริเมธ ลี้ภากรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ GPSC อธิบายถึงโรงไฟฟ้าแห่งนี้ว่า

“GPSC อาศัยความได้เปรียบเชิงพื้นที่ เนื่องจากโรงไฟฟ้า RDF ตั้งติดกับศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร จ.ระยอง เพื่อรับเชื้อเพลิง RDF มูลค่าลงทุน 2,217 ล้านบาท แบ่งการลงทุนเป็นโครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF ประมาณ 1,655 ล้านบาท และโรงงานผลิต RDF ประมาณ 562 ล้านบาท”

“การลงทุนทั้งหมดนี้เป็นไปตามปณิธานของทางบริษัทฯ ที่ตั้งไว้ว่าเราจะดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และบริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล ตามแนวทาง ESG (Environmental, Social and Governance) โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแล เป็นหลัก”

และด้วยอานิสงส์ของพื้นที่อีอีซีที่ครอบคลุมถึงจังหวัดระยอง ทำให้ตัวจังหวัดเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ผลที่ตามมาคือปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตในพื้นที่ด้วย จังหวัดระยองมีปริมาณขยะชุมชนทั้งหมด 1,000 – 1,200 ตันต่อวัน ประชากรตามทะเบียนบ้านประมาณ 800,000 คน บวกกับประชากรแฝงและแรงงานต่างด้าวกว่า 1.6 ล้านคน

ในอดีตขยะเหล่านี้เข้าสู่หลุมฝังกลบ การเผา ขยะบางส่วนจึงถูกกำจัดไม่ถูกวิธี และสร้างมลพิษทางอากาศ จากปัญหาดังกล่าวทำให้ GPSC เป็นพันธมิตรกับ อบจ.ระยอง เพื่อวางยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาขยะร่วมกัน

จากเดิมทีที่ GPSC มีข้อจำกัดเรื่องการรวบรวมขยะ ส่วนอบจ.ระยองมีข้อจำกัดด้านงบประมาณการจัดการขยะ แต่เมื่อทั้งสององค์กรมาจับมือร่วมกันผ่านพ.ร.บ.ร่วมทุน จึงเกิดเป็นโมเดลบริหารจัดการขยะครบวงจร โดยอบจ.ระยองจะเป็นผู้รวบรวมขยะจากชุมชน ซึ่งครอบคลุมส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในจังหวัดจำนวน 67 แห่ง เพื่อป้อนขยะชุมชนเข้าสู่โรงงานผลิต RDF ด้วยกำลังการผลิตที่ GPSC สามารถนำมาคัดแยกขยะในปริมาณ 500 ตันต่อวัน หรือ 170,000 ตันต่อปี

รีวิวเทคโนโลยีสำคัญ ที่ใช้ในโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะของ GPSC

ส่วนเทคโนโลยีสำคัญ ที่ใช้ในโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะของ GPSC ได้แก่

  • เทคโนโลยีเตาเผาไหม้แบบตะครับเคลื่อนที่ (Moving Grate) ที่มีอุณหภูมิ 850-1,100 องศาเซลเซียส
  • ลำเลียงขยะ RDF ด้วยสายพานระบบปิด
  • ติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง
  • มีการรายงานป้ายแสดงผลคุณภาพสิ่งแวดล้อม (Emission Display Board) บริเวณด้านหน้าโรงงาน

“โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF เป็นโมเดลของการบริหารจัดการขยะครบวงจรแห่งแรก ในระยอง ที่นำมาสู่การต่อยอดและแก้ไขปัญหาขยะของชุมชน สามารถลดพื้นที่ฝังกลบขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

ขณะที่ ปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง กล่าวว่า “จังหวัดระยองได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ทำให้อบจ.ระยองเอง มียุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นซึ่งสอดคล้องกับแผนการพัฒนาจังหวัด นำมาสู่พิจารณาร่วมกันว่าจังหวัดระยองต้องมีการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะปัญหาขยะ

“ด้วยเหตุนี้ ขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวันของจังหวัดระยอง จากสถิติที่ทางกรมควบคุมมลพิษได้ศึกษาไว้ จะเกิดขยะขึ้น 1.3 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ด้วยเหตุนี้เราต้องเตรียมการรองรับคนที่จะย้ายเข้ามาทำงานในจังหวัดระยอง จากการดำเนินโครงการ EEC เป็นแผนในอีก 20 ปีข้างหน้า ตามที่เราคาดว่าจะมีผู้มาใช้บริการท่าอากาศยานอู่ตะเภาไม่ต่ำกว่า 60 ล้านคนต่อปี”

โดยหนึ่งในชุมชนต้นแบบสำคัญที่อยู่ในการดูแลของ อบจ.ระยอง ได้แก่ ชุมชนบ้านไผ่ หมู่ 1 ตำบลหนองตะพาน อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ซึ่งมีคนในชุมชนมากกว่า 1,000 คน ได้นำขยะพลาสติกมาแปรรูปเป็นสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น นำขวดพลาสติกชนิดขุ่นมาทำเป็นกระถางหรือถังใส่ของ นำอลูมิเนียมจากกระป๋องน้ำอัดลมไปทำเป็นกระเป๋า กระทั่งนำหลอดพลาสติกไปทำความสะอาดและแปรรูปเป็นไส้หมอนแทนปุยนุ่น

ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านในชุมชนบ้านไผ่จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนธนาคารขยะออมทรัพย์บ้านไผ่ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2556 ในรูปแบบธนาคารขยะเพื่อสร้างการออมเงินให้กับสมาชิกในชุมชน แต่ขยะในอดีตที่ไม่ได้สร้างคุณค่ามากพอ ทำให้ GPSC เข้ามาพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะชุมชน ทำให้ชุมชนบ้านไผ่เป็นหนึ่งในชุมชน 67 แห่ง ในจังหวัดระยอง ที่จะมาสู่การผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF ที่สามารถสร้างความมั่นคงในระบบพลังงาน และยังมีผลพลอยได้จากขยะอินทรีย์ในการนำมาทำเป็นปุ๋ยให้กับเกษตรกรในพื้นที่

ทั้งหมดเป็นการต่อยอดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากไอเดียคนรุ่นใหม่ อีกทั้งยังมีมีสมาคมเพื่อนชุมชนเข้าร่วมสนับสนุนภายใต้โครงการธรรมศาสตร์โมเดล เช่น การออกแบบ หมอนหลอดรีไซเคิลให้มีความทันสมัยและสวยงามมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายให้กับชุมชน

ในอนาคตโมเดลนี้จะขยายไปร่วมมือกับวิทยาลัยสารพัดช่างจังหวัดระยอง เพื่อร่วมกันพัฒนาเครื่องจักรรีไซเคิลที่ได้รับการถ่ายทอดจาก Precious Plastic องค์กรระดับโลก มาเป็นต้นแบบในการพัฒนาเครื่องจักร ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะในชุมชน

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงการบริหารจัดการขยะภายในชุมชนอย่างครบวงจร และยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน ประกอบกับการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำขยะชุมชนมาแปลงเป็นเชื้อเพลิง เพื่อจำหน่ายให้กับโรงไฟฟ้าขยะชุมชนของบริษัทฯ นำไปสู่เป้าหมายการลดปริมาณขยะจนกลายเป็นศูนย์ในที่สุด

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2023/07/31/gpsc-and-rayong-waste-to-energy/