เมื่อ ‘ดิจิทัล’ แทรกซึมเข้าไปในทุกการใช้ชีวิต และในการทำงาน ทำให้ตลาดแรงงานในปัจจุบันต้องการคนที่มีทักษะดิจิทัลในระดับที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมดิจิทัล ที่ต้องการทักษะระดับสูง แต่ในประเทศไทยมีเพียง 1% เท่านั้น
Key Point :
- กำลังคนที่มีทักษะดิจิทัล กำลังเป็นที่ต้องการของภาคอุตสหากรรม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ หรือ เอสเอ็มอี เพื่อการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ
- ขณะเดียวกัน คนที่มีทักษะดิจิทัลในระดับสูง (Advance Skills) กลับมีเพียง 1% ดังนั้น DCT จึงมีเป้าหมายในการพัฒนากำลังคนกลุ่มดังกล่าวกว่า 6 แสนคน เพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
- นอกจากนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ยังได้ทำการสำรวจผู้ประกอบการพบว่า มีความต้องการกำลังคนที่มีทักษะดิจิทัลระดับสูง (Advance Skills) ในตำแหน่งต่างๆ 10 อันดับ โดยอันดับ 1 คือ กลุ่มอาชีพระบบข้อมูลและฐานข้อมูล (Data & Database) กว่า 60,000 คน
ดิจิทัล เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ นอกจากอุตสาหกรรมดิจิทัล ที่ยังคงมีความต้องการคนที่มีทักษะระดับสูง (Advance Skills) แล้ว ดิจิทัล ยังแทรกซึมเข้ากับธุรกิจต่างๆ โดยมีความต้องการทักษะในระดับที่แตกต่างกัน ดังนั้น การพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ตอบโจทย์การเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในบริษัทขนาดใหญ่ และ เอสเอ็มอี
ข้อมูลจาก สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พบว่า หากเทียบทักษะด้านดิจิทัลกับนานาประเทศ ไทยหล่นลงจากอันดับที่ 38 มาอยู่ที่อันดับ 40 จาก 63 ประเทศ โดยมีการตั้งเป้าในปี 2025 ว่าจะขยับมาอยู่ที่อันดับ 25 เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญมาก คือ Training and Education นอกจากนี้ เรื่องของภาษาอังกฤษ ไทยอยู่อันดับที่ 97 จาก 113 ประเทศ
เขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์ รองประธานและประธานพันธกิจด้านการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) กล่าวในช่วงเสวนา ‘พลิกโฉมการพัฒนาคนสู่โลกยุคใหม่’ ภายในงานมหกรรม Skill Expo ว่า ประเทศไทยขาดแคลนกำลังคนที่มีทักษะด้านภาษาอังกฤษ และ ดิจิทัล โดยเฉพาะงานในด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ จำเป็นต้องรู้เรื่องของภาษา
ขณะที่ ทักษะด้านดิจิทัลในระดับ Basic Skill , Standard Skill และ Advance Skill เมื่อเทียบกับประชากรไทย อายุ 6 ปีขึ้นไป ในปี 2020 จะเห็นว่า ประชากรไทยที่มีทักษะพื้นฐาน (Basic Skill) มีเพียง 17% เท่านั้น เป้าหมายคือเพิ่มเป็น 52% ระดับ Standard Skill มีทั้งหมด 10% เป้าหมายคือเพิ่มให้เป็น 42% ส่วน Advance Skill มีเพียง 1% และควรจะเพิ่มให้เป็น 6%
อีกทั้ง คนไทยเข้าถึงคอมพิวเตอร์น้อย มีการสำรวจ พบว่า เด็กชายขอบ เมื่อโควิด-19 ที่ผ่านมามีความเหลื่อมล้ำ ประเทศไทยการเข้าถึงดิจิทัล อยู่ที่ 19.3% เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์ เข้าถึงกว่า 89% มาเลเซีย 77.6% อินโดนีเซีย 18.8% ส่วนเกาหลีใต้ 71.6% และ ญี่ปุ่นเข้าถึง 69.1% ดังนั้น ภาคการศึกษาต้องเข้ามาช่วยขับเคลื่อนในการช่วยให้เด็กๆ มีอุปกรณ์ในการเรียน เพราะช่วงโควิดเห็นได้ชัดว่าเด็กหายไปจากระบบ
อัพสกิล รีสกิล ยกระดับอุตสาหกรรมดิจิทัล
ทั้งนี้ DCT มีความมุ่งหวังให้ยกระดับอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยให้แข่งขันได้ ดังนั้น พันธกิจของ DCT มี 5 พันธกิจหลัก คือ
1. การกำหนดมาตรฐานด้านดิจิทัลหรือตัวชี้วัด
2. นโยบายสาธารณะและความร่วมมือภาครัฐ เอกชน ประชาชน
3. การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านดิจิทัล
4. การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เมื่อกำลังคนดีขึ้นเศรษฐกิจก็จะดีขึ้น
5. การพัฒนาสังคมด้านดิจิทัล
“แผนของ DCT คือ ภายในปี 2025 จะยกระดับอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยให้เท่ากับสากล การอัปสกิล รีสกิล ต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐเอกชน รวมถึงสถานศึกษาซึ่งถือว่าเป็นต้นน้ำที่สำคัญ ในการยกระดับบุคลากรดิจิทัลให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่คอมพิวเตอร์หรือแล็บท็อป มีการผลักดัน โดยผ่านมติ ค.ร.ม. เรียบร้อยแล้ว 1.6 ล้านเครื่อง รวมถึงการร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชนในการอัปสกิล รีสกิล ทุกระดับชั้น”
ยกระดับ Advance Skill กว่า 6 แสนคน
สำหรับ เป้าหมายพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลระดับ Advance Skill มีเป้าหมายทั้งสิ้น 6 แสนคน โดยอัปสกิลจากกลุ่ม Standard Skill จำนวน 350,000 คน และปริญญาตรี 16,530 คน และ อาชีวะ 44,420 คน รวมถึง Digital Nomads และ Global Talents จำนวน 189,000 คน
“การพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล ทุกคนต้องช่วยกัน เพราะทักษะด้านดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราคงไม่อยากให้ AI มาทำงานแทนเรา AI อาจจะเก่งกว่าเราในอนาคตก็ได้ หากไม่รีบพัฒนาตัวเองอยู่เสมอทั้งในเรื่องเทคนิค แกนลึกและแกนกว้าง Life Long Learning เป็นสิ่งสำคัญ อย่าหยุดพัฒนาตัวเอง รวมถึงทัศนคติ ความยืดหยุ่น หากมีตรงนี้เชื่อว่าทุกคนจะสามารถก้าวผ่านวิกฤติต่างๆ ที่จะเข้ามาได้” เขมนรินทร์ กล่าว
ทักษะด้านดิจิทัล 4 ระดับ
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน โดย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ทำการแบ่ง ทักษะด้านดิจิทัล เป็น 4 ระดับ ได้แก่
- ทักษะดิจิทัลระดับพื้นฐาน (Fundament Skills) ทักษะดิจิทัลของบุคลากรที่ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เตรียมเข้าสู่ตลาดแรงงาน
- ทักษะดิจิทัลระดับต้น (Basic Skills) ทักษะดิจิทัลของบุคลากรที่ใช้ในการทำงาน การประกอบอาชีพ หรือ การประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ทักษะดิจิทัลระดับกลาง (Intermediate Skills) ทักษะดิจิทัลของบุคลากรที่ใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมดิจิทัลได้อย่างเหมาะสม
- ทักษะดิจิทัลระดับสูง (Advance Skills) ทักษะดิจิทัลของบุคลากรที่ตรงกับตำแหน่งงาน สอดคล้องกับสมรรถนะหรือมาตรฐานฝีมือที่ยอมรับในอตสาหกรรมดิจิทัลแบบเข้มข้น
10 ตำแหน่งงาน ต้องการทักษะ ‘ดิจิทัล’ ระดับสูง
นิธิภัทร ศรีธัญญา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป้าหมายแรงงานที่ต้องได้รับการพัฒนา ตั้งแต่ปี 2564 – 2570 จำนวน 638,815 คน เฉลี่ยปีละ 113,969 คน โดยจำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมดิจิทัล ที่ต้องมีทักษะระดับสูง (Advance Skills) สำรวจจากภาคเอกชนที่ต้องการบุคลากรในอีก 5 ปีข้างหน้า ทั้งสิ้น 10 ตำแหน่งงาน ได้แก่
1. กลุ่มอาชีพระบบข้อมูลและฐานข้อมูล (Data & Database) จำนวน 60,000 คน
2. กลุ่มอาชีพพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Developer) จำนวน 34,050 คน
3. กลุ่มอาชีพความมั่นคงปลอดภัยข้อมูลและการตรวจสอบ จำนวน 23,400 คน
4. กลุ่มอาชีพ Hardware & Network Support จำนวน 12,300 คน
5. กลุ่มอาชีพพัฒนาเว็บ (Web Developer) จำนวน 10,350 คน
6. กลุ่มอาชีพ Open-source Software & Cloud Infrastructure จำนวน 7,500 คน
7. กลุ่มอาชีพพัฒนาเกม Game Developer 6,300 คน
8. กลุ่มอาชีพพัฒนาสื่อดิจิทัล สื่อ Social Media และ สื่อเพื่อการเรียนรู้ จำนวน 5,100 คน
9. กลุ่มอาชีพพัฒนา Internet of Thing (IoT) จำนวน 4,800 คน
10. กลุ่มอาชีพประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูง จำนวน 2,750 คน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้จัดตั้ง สถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัลขึ้นมา เพราะเล็งเห็นความสำคัญด้านทักษะดิจิทัลของแรงงาน ทุกวันนี้ทักษะดิจิทัลแทรกซึมทุกอาชีพ พอแทรกซึมทุกอาชีพ การพัฒนาคนในด้านแรงงานให้ตรงจุด ไม่สามารถตัดเสื้อโหล แต่ต้องมาดูว่าความต้องการแต่ละกลุ่ม ต้องการทักษะระดับใด
ทั้งนี้ หลังจากสำรวจความต้องการแล้ว มีการจัดหางบประมาณ ดำเนินการจัดทำหลักสูตรและมาตรฐาน โดยอ้างอิงจากมาตรฐานหน่วยงาน กระจายเป้าหมายให้หน่วยฝึกของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพัฒนาลูกจ้าง ผ่านกลไกพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานด้วย โดยตั้งแต่ปี 2563 – 2566 มีผู้อบรมระยะสั้นทั้งออนไลน์ และออนไซต์ มากกว่า 30,000 คน
“เรามีเครื่องมือในการฝึกอบรมที่สามารถเข้าถึงได้สะดวก DSD Online Training เปิดกว้าง สร้างโอกาส ต่อยอดอย่างยั่งยืน เป็นเว็บไซต์ที่ฝึกอบรม พัฒนาตัวเองทุกที่ทุกเวลา และมีการทดสอบ พร้อมดาวโหลดใบรับรองออกมาได้หากผ่านเกณฑ์ที่วางไว้ ปัจจุบัน เปิดมา 2 ปี มีผู้เข้าเยี่ยมชมกว่า 2 ล้านคน และผู้เข้าฝึกอบรมกว่า 80,000 คน มีผู้ผ่านการฝึกอบรมมากกว่า 30,000 คน โดยหลักสูตรตั้งแต่ หมวดดิจิทัล หมวดภาษา หมวดช่าง หมวดเกี่ยวกับซอฟต์สกิล และหลักสูตรใหม่ Basic Network โดยสามารถเรียนรู้การใช้เน็ตเวิร์กต่างๆ สุดท้าย มีความร่วมมือกับไมโครซอฟต์ประเทศไทย พัฒนาหลักสูตร AI Fluency Skilling สำหรับคนทำงานในการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน” นิธิภัทร กล่าว
พัฒนาคน ตอบโจทย์อุตสาหกรรม
ด้าน ดร.จักกนิตต์ คณานุรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการพัฒนากำลังคนดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DEPA) กล่าวว่า ภารกิจหลักของ DEPA พยายามช่วยผลักดันส่งเสริมเศรษฐกิจสังคมดิจิทัล โอกาสของดิจิทัลไม่มีที่สิ้นสุด จุดเริ่มต้นอยู่ที่การพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล และในส่วนของ DEPA ถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลักขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล
“กว่า 6 ปีที่ผ่านมา Deep Tech ก็เป็นเรื่องที่พยายามผลักดันไม่ว่าจะเป็น AI , IoT , Machine Learning , Cyber Security และ Data Science เวลาที่ผลักดันด้านดิจิทัล มีเรื่องอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซ ดิจิทัลมาเก็ตติง ดิจิทัลคอนเทนต์ ดิจิทัลอาร์ตทิสต์ เป็นส่วนประกอบต่างๆ ที่จะมารวมพลังกันผลักดันเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล”
ดร.จักกนิตต์ กล่าวต่อไปว่า เวลาคุยกับผู้ประกอบการโดยตรง พบว่า น้องๆ ที่จบมาวุฒิตรงแต่ยังไม่พร้อมที่จะใช้โปรแกรมต่างๆ เป็น Pain Point อย่างหนึ่ง ดังนั้น DEPA พยายามเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษา รวมถึง ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Provider) ทำหลักสูตรระยะสั้น ให้นักศึกษาที่จบใหม่และอยู่ระหว่างหางานทำ มาเรียนรู้ในเรื่องของ Machine Learning , Cloud , Cyber Security ออกแบบหลักสูตรร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาและพาร์ตเนอร์ รวมถึงทำระบบจับคู่งาน (Job Matching) ให้ด้วย
นอกจากนี้ ยังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับวิทยาลัยอาชีวศึกษา และ วิทยาลัยเทคนิคทั่วประเทศ ตอบโจทย์ในการสร้างคนของเอสเอ็มอี รวมถึง โครงการ 1,500 โรงเรียน สนับสนุนอุปกรณ์การเรียนโค้ดดิ้ง (Coding) และหลักสูตรขึ้นบนแพลตฟอร์ม เทรนด์ครูเพื่อแข่งขันในระดับประเทศ มองว่า ปัจจุบันการสนับสนุนเรื่อง Deep Tech เป็นสิ่งสำคัญ แต่คนกว่า 60% สนใจเรื่องอื่น เช่น ดิจิทัลคอมเมิร์ซ อีคอมเมิร์ซ ดิจิทัลคอนเทนต์ ฯลฯ ดังนั้น จึงสนับสนุนในเรื่องของดิจิทัลคอนเทนต์ ดิจิทัลอาร์ตทิสต์เพื่อเติมเต็มให้กับน้องๆ เหล่านี้ด้วย
“การอัปสกิล รีสกิล เป็นสิ่งสำคัญ หากมองในมุมเรื่องการทำธุรกิจเพื่อส่งเสริมให้เกิด GDP ของประเทศ การเรียนรู้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่มรรคผลจริงๆ คือ ผลประกอบการที่จะได้ ตลาดประเทศไทยใหญ่ไม่พอ ต้องมองว่าเอสเอ็มอีไทย ซอฟต์แวร์ไทยจะไปต่างประเทศได้อย่างไร โดย DEPA ได้ส่งเสริมสตาร์ตอัพ โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้สตาร์ตอัพไทยไปสู่ตลาดโลก”
ความท้าทายเอสเอ็มอี
สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ซึ่งมีภารกิจหลักในการเป็นกลไกผสานรัฐและเอกชน พัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและแรงงานในเอสเอ็มอีทุกมิติเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยมี 5 ภารกิจหลัก คือ
1. การส่งเสริมการเข้าถึงองค์ความรู้และการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
2. การส่งเสริมช่องทางแหล่งทุนให้แก่เอสเอ็มอี
3. ช่องทางการตลาด เพื่อให้เอสเอ็มอีแข็งแรงมากขึ้น คิดได้ ทำได้ และต้องขายได้
4. การส่งเสริมกลไก เครือข่ายสมาพันธ์เอสเอ็มอีทั่วประเทศ มีผู้ประสานงานลงลึกในระดับอำเภอ
5. เป็นกระบอกเสียงให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อนำเสียงสะท้อนไปถึงภาครัฐในการแก้ปัญหาและหาทางออก
แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวถึง ความท้าทายในการแข่งขันของเอสเอ็มอีว่า วันนี้การพัฒนากำลังคน เราผ่านคลื่นของดิจิทัลมาแล้ว และตอนนี้อยู่ในคลื่นของการสร้างความยั่งยืน ดังนั้น ทำอย่างไร ให้เกิดการยกระดับขีดความสามารถ แต่ละประเทศ มียุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจแตกต่างกัน ไทยมี ไทยแลนด์ 4.0 แต่ถามว่าผู้ประกอบการไทย มีความเข้าใจคำว่า ไทยแลนด์ 4.0 มากน้อยแค่ไหน ขณะเดียวกัน ในเรื่องของเศรษฐกิจ BCG มีการสำรวจผู้ประกอบกว่า พบว่า ผู้ประกอบการรู้จักคำว่า BCG เพียง 10% สิ่งสำคัญ คือ การที่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน จับมือร่วมกันทำเรื่องยุทธศาสตร์ต่างๆ ในการสะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
ปัจจุบัน เอสเอ็มอี ในประเทศไทยมีราว 3.2 ล้านราย คิดเป็น 99.5% ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ ภาคแรงงานที่เอสเอ็มอีจ้างงาน 12 ล้านราย คิดเป็น 72% ของแรงงานของประเทศ นี่คือบทบาทและความสำคัญของเอสเอ็มอีที่มีในประเทศไทย การกระจายตัวของเอสเอ็มอีหากสามารถนำมาจับและเชื่อมโยงสร้างความร่วมมือ พัฒนาผู้ประกอบการ และการจ้างงานจะทำให้กระบวนการดีขึ้น วันนี้เราต้องออกแบบ จะทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีที่อยู่ในแต่ละเซกเมนต์ คือ ภาคบริการ ภาคการค้า ภาคการผลิต และธุรกิจการเกษตร สามารถมีทักษะที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตและธุรกิจของเขาได้ สิ่งเหล่านี้ต้องทำให้การออกแบบแต่ละฟังก์ชั่นที่ใช้ประโยชน์เหมาะสม
5 มาตรการเร่งด่วน
แสงชัย กล่าวต่อไปว่า วันนี้ GPP (ผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวของประเทศ) อันดับ 1 คือ จ.ระยอง 831,734 บาทต่อปี ต่างจากจังหวัดที่อยู่ท้าย คือ จ.นราธิวาส 55,417 บาทต่อปี ถึง 15 เท่า วันนี้ต้องลดช่องว่างเหล่านี้โดยการเพิ่มผลิตภาพอย่างไรในการกระจายโอกาสและรายได้ โดย 5 มาตรการเร่งด่วน ที่เอสเอ็มอีพยายามผลักดันในหลายเวที คือ
1. มาตรการปลุกเศรษฐกิจฐานราก กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น
2. มาตรการแก้ปัญหาต้นทุน SME และค่าครองชีพประชาชน
3. มาตรการเข้าถึงแหล่งทุน ต้นทุนต่ำ SME และฟื้นฟูหนี้ NPL
4. มาตรการยกระดับขีดความสามารถ SME และภาคแรงงาน
5. มาตรการแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคของ SME
“สิ่งสำคัญ คือ มาตรการที่ 4 สำคัญ ซึ่งจะทำให้เกิดมาตรการที่ 1 เพราะต่อให้มาตรการดีเท่าใด แต่ทักษะผู้ประกอบการยังไม่เพียงพอ ยกตัวอย่าง ดิจิทัลเข้าถึงทุกหมู่บ้านแต่คนใช้ไม่เป็น ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานที่ดี จะต้องถูกใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ต้องสร้างคนให้ไปใช้โครงสร้างพื้นฐาน”
ส่งเสริม Creative Economy
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เอสเอ็มอีต้องการให้ภาครัฐให้ความสำคัญ ไม่ใช่แค่เชิงนโยบายเพียงอย่างเดียว เพราะภาคธุรกิจไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมอย่างเดียว แต่เรามีภาคการค้า การบริการ และภาคการเกษตร วันนี้เราต้องการสร้างคน ให้เป็นนักสู้เพื่อไปสู่กับต่างประเทศ ทำให้เกิดการพัฒนาด้านดิจัทัล นวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่ม
ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ปี 2564 ราว 16.2 ล้านล้านบาท เป็นเอสเอ็มอี 35% หรือราว 5.67 ล้านล้านบาท นี่คือความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่มีสัดส่วน GDP เพียง 3% แต่เป็นสัดส่วนผู้ประกอบการ 85% ของทั้งประเทศ ดังนั้น นโยบายและการวางแผนต้องตอบโจทย์ ใหญ่ก็ต้องเอา เอสเอ็มอีก็ต้องดัน ไม่เช่นนั้นประเทศจะเป็นหัวโตตัวลีบ
“ขณะที่ภาคการส่งออก ปี 2565 กว่า 87% เป็นการส่งออกอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดังนั้น ทุกวันนี้เราต้องส่งเสริม Depp Tech ควบคู่กับการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Economy) เพราะใกล้ชิดกับเอสเอ็มอี และก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม” แสงชัย กล่าวทิ้งท้าย
แหล่งข้อมูล