สเปนปรับเงินร้านที่มีขยะอาหารมากเกินไป ห้าแสนดอลลาร์เพื่อลด Food Waste

Share

Loading

หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่าเศษอาหารที่เหลือทิ้งหรือขยะอาหาร จะสามารถสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าที่เราคิด ซึ่งเศษอาหาร ทั้งสร้างมลภาวะ ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค และยังปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงทำให้นานาประเทศออกมาตรการต่างๆ ในการลด Food Waste

ในแต่ละปี 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้ทั่วโลก ต้องกลายเป็นขยะอาหาร หรือ Food Waste ที่ถูกทิ้งไปอย่างไร้ประโยชน์ และยังสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม แถมยังสร้างก๊าซเรือนกระจกถึง 8%

จากปัญหาขยะอาหารที่สร้างผลกระทบร้ายแรงให้สิ่งแวดล้อม ทำให้ปัญหา Food Waste ถูกหยิบยกให้เป็นวาระระดับชาติ โดยการลดขยะอาหารเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ซึ่ง UN ได้ตั้งเป้าให้ในปี ค.ศ. 2030 ขยะอาหารที่เกิดจากการจำหน่ายและการบริโภคทั่วโลกต้องลดลง 50% ทำให้หลายประเทศออกมาตรการลดขยะอาหาร เช่น สหรัฐอเมริกาเน้นมาตรการสร้างแรงจูงใจในการลดขยะอาหารมากกว่าการลงโทษ, ฝรั่งเศส ออกกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านขยะอาหาร หรือเกาหลีใต้ ให้ความสำคัญกับการลดปริมาณขยะอาหารในภาคครัวเรือนด้วยเทคโนโลยี

มาตรการลดขยะอาหาร (Food Waste) ที่น่าสนใจอีกอย่างคือธนาคารอาหารหรือการที่ซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านอาหารให้ลูกค้านำอาหารที่เหลือใส่ถุง take away กลับบ้านได้ ซึ่งที่ประเทศสเปนได้ออกมาตรการลดปัญหาขยะอาหาร โดยกฎหมายฉบับใหม่นี้กำหนดให้บาร์และร้านอาหารต่างๆ มีถุงใส่อาหารเหลือ take away กลับบ้านได้ ซึ่งโดยปกติแล้วชาวสเปนจะไม่นิยมเอาอาหารเหลือกลับบ้าน นอกจากนี้ยังมีมาตรการอย่างจริงจังในการปรับเงินซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีขยะอาหารเหลือเป็นจำนวนมาก โดยสูงสุดไม่เกิน 500,000 ดอลลาร์

Luis Planas รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร การประมงและอาหาร และสิ่งแวดล้อมของสเปน กล่าวว่า หากเราสามารถลดขยะอาหารหรือ Food Waste ลงได้ก็ถือเป็นการลดปัญหาที่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลงด้วย และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นระบบ

นอกจากนี้ร่างกฎหมายมาตรการลดขยะอาหารของสเปนยังกำหนดให้ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารส่งเศษอาหารเหลือทิ้ง หรือผลไม้ที่สุกมากแล้วให้กับธนาคารอาหารและองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อนำไปแปรรูปทำเป็นแยม ปุ๋ย อาหารสัตว์ หรือเชื้อเพลิงชีวภาพ

แหล่งข้อมูล

https://www.springnews.co.th/keep-the-world/environment/842675