ยกระดับ “เมืองรอง” ด้วยแนวทาง “การคลัง” ยุคใหม่

Share

Loading

โจทย์สำคัญหลังโควิด-19 คือความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากการเติบโตที่ไม่สมดุลเชิงพื้นที่ จากความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นก่อนโควิด-19 เมืองหลักที่เป็นเมืองเศรษฐกิจมีเพียง 15 จังหวัด แต่มี GDP คิดเป็น 70% ของประเทศ ขณะที่เมืองรองยังคงเป็นจังหวัดยากจน โควิด-19 ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับด้าน (Reverse trend) ย้ายออกจากเมืองหลักเพราะตกงาน เกิดความยากจนเหลื่อมล้ำเรื้อรัง รวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ปัจจุบันประเทศไทยมี 30 จังหวัด ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged society) และในปี 2573 จะเข้าสู่อย่างเต็มที่ (Super aged society) และในอีก 10 ปี ประชากรและวัยแรงงานของไทยจะลดลงต่อเนื่อง ส่งผลต่อภาระการคลัง และการขยายตัวของเศรษฐกิจที่จะมีศักยภาพลดลง 

แนวคิดการกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่เมืองรอง ถูกดีไซน์ด้วยการจัดทำเป็นกลุ่มจังหวัด เหมือนกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เพื่อให้จังหวัดเหล่านั้นกลายเป็นพื้นที่ที่มีการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ เพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ นำมาสู่การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค ภายใต้การบริหารจัดการของ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ประกอบด้วย

ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC – Creative LANNA) ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง เพื่อเป็นเขตเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ เป็นแหล่งผลิตสินค้าและบริการที่ต่อยอดจากฐานวัฒนธรรมล้านนา

ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor: NeEC – Bioeconomy) ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคาย พัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ที่เชื่อมโยงการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่

ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก (Central – Western Economic Corridor: CWEC) ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร อาหารสุขภาพและอาหารทางการแพทย์ การท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และ ธรรมชาติ

ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช พัฒนาเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ให้เป็นประตูการค้าในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจหลักของประเทศสู่ภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน

แต่ปัญหาคือการปรับโครงสร้างในรูปแบบ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี จำเป็นต้องมีหน่วยงานหรือเจ้าภาพรับผิดชอบที่ชัดเจน หากแต่ละพื้นที่ให้หลายหน่วยงานบริหารจัดการ ต่างคนต่างทำ หรือไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจนก็ยากที่เกิดการรวมกลุ่มและบริหารจัดการได้อย่างอีอีซี โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณที่จะต้องไม่พึ่งพิงส่วนกลางมากเกินไปจนกลายเป็นภาระของประเทศ

เมื่อเร็วๆ นี้ งานวิจัยของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งทำร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น และธนาคารโลก ระบุรายละเอียดผลการวิจัยแนวทางการยกระดับเมืองรองใน 5 จังหวัดนำร่อง ประกอบด้วย เชียงใหม่-นครสวรรค์-ขอนแก่น-ระยอง-ภูเก็ต การศึกษาวิจัยแสวงหาแนวทางการยกระดับเมืองรอง เพื่อเสริมพลังการกระตุ้นความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิต และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ผลจากการวิจัยเบื้องต้นพบว่า การให้อำนาจและเครื่องมือแก่องค์กรปกครองท้องถิ่นให้สามารถระดมทุนได้เอง บริหารจัดการงบประมาณได้เอง และสามารถตัดสินใจร่วมมือกับเอกชนได้เอง โดยมีกลไกติดตามประเมินผลคอยกำกับตรวจสอบใกล้ชิด จะทำให้เมืองรองมีความเข้มแข็งขึ้น ช่วยเสริมพลังในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบสนองต่อความต้องการในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังจะช่วยสร้างแหล่งงานดูดซับกำลังแรงงานในพื้นที่ ยกระดับรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตแก่คนในพื้นที่

ข้อมูลที่ค้นพบจากการวิจัยพบว่าการพัฒนาระบบการคลังท้องถิ่น โดยอำนวยความสะดวกให้องค์กรปกครองท้องถิ่นมีขีดความสามารถในการระดมทุนได้เอง เพื่อนำไปสู่การพึ่งพาตัวเองขององค์กรปกครองท้องถิ่น มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการยกระดับเมืองรอง ทำให้องค์กรปกครองท้องถิ่นกำหนดแผนงานโครงการตามความต้องการของท้องถิ่นได้อย่างตรงจุด โดยพบว่าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่องค์กรปกครองท้องถิ่นควรพิจารณาดำเนินการ น่าจะเป็นโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ด้านการบริการสาธารณะ พลังงานทดแทน และการจัดการขยะ ที่มีความสอดคล้องกับบริบทสากลด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในมิติ BCG (Bio Circular Green) หรือ ESG (Environmental Social Governance)

ขณะที่มุมมองของ ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวถึงแนวทางนี้ว่า การปลดล็อคเงื่อนไขอุปสรรคของการพัฒนาพื้นที่ โดยเสริมพลังให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่นในการระดมทุนได้เอง และมีช่องทางหารายได้ของตัวเอง จะเพิ่มศักยภาพการพัฒนาพื้นที่ให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น ครอบคลุมทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อการพัฒนาพื้นที่ รวมไปถึงการสร้างงานให้แก่คนในพื้นที่

เช่นเดียวกับ แพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง (สบน.) กล่าวถึงบทบาทของเมืองรอง จะมีความสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ บรรเทาความยากจนในชนบท โดยกระทรวงการคลังจะนำข้อค้นพบจากงานวิจัยไปใช้เป็นแนวทางการให้การสนับสนุนการเติบโตของเมืองต้นแบบ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ตลอดจนผู้ประกอบการในพื้นที่ ซึ่งการส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรปกครองท้องถิ่นระดมทุนด้วยตัวเอง และบริหารจัดการงบประมาณตามแผนงานโครงการของตัวเอง ไม่เพียงเป็นประโยชน์ในเชิงคุณภาพ ประสิทธิภาพของการพัฒนาพื้นที่ แต่ยังมีส่วนช่วยลดการพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาลส่วนกลาง ช่วยลดภาระของฐานะการคลังรัฐบาลลงได้มาก สร้างความอยู่ดีกินดีแก่ประชาชน และสร้างความมั่งคั่งมั่นคงอย่างยั่งยืนในพื้นที่

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2023/09/20/upgrading-secondary-cities-with-modern-finance/