แม้ว่าในตอนนี้เทรนด์ความนิยมรถยนต์ไฟฟ้าจะมาแรง แต่ตามสถิติล่าสุด ประเทศไทยมีรถยนต์สันดาปหรือใช้น้ำมันราว 40 ล้านคัน ที่มีปัญหามากเนื่องจากเป็นตัวปล่อยคาร์บอนสูง ขณะที่ในตอนนี้ รถยนต์ไฟฟ้ายังมีราคาแพง ทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การสนับสนุน อุตสาหกรรม EV conversion หรือ ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ด้วยการนำรถยนต์เครื่องยนต์ใช้น้ำมันคันเดิมมาปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้เป็นระบบไฟฟ้า
นอกจากจะช่วยให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้าด้วยต้นทุนที่ถูกแล้ว ยังช่วยกลุ่มอาชีพผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) รถฟู้ดทรัค รวมถึงรถบริการขนส่งสินค้าให้มีกำไรมากขึ้น เพราะต้นทุนการใช้พลังงานถูกลง ยังเป็นการสร้างเศรษฐกิจฐานราก ทำให้อู่ซ่อมรถยนต์หรือผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายเล็กๆ ที่ยังไม่พร้อมก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า หันมาให้บริการติดตั้งเครื่องยนต์ไฟฟ้าเพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
บทความเรื่อง “EV Conversion แปลงรถยนต์ใช้น้ำมันคันเดิมสู่รถยนต์ EV โอกาส SME ต่อยอดธุรกิจแห่งอนาคต” ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ bangkokbanksme.com ได้ให้มุมมองการพัฒนา อุตสาหกรรม EV conversion ให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของ SME ไทย ในการต่อยอดสร้างธุรกิจได้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
อุตสาหกรรม EV Conversion กับการต่อยอดสู่ธุรกิจอนาคตไกล
อย่างไรก็ดี การจะเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปหรือรถใช้น้ำมันไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าแบบฉับพลัน อาจจะกลายเป็นการดิสรัปอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาป ส่งผลให้ซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมนี้ปรับตัวไม่ทันภายในเวลาอันใกล้ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อู่ซ่อมรถยนต์ ขณะที่ราคารถยนต์ไฟฟ้ายังค่อนข้างสูง สร้างอุปสรรคต่อกำลังซื้อในภาคประชาชน
ดังนั้น คงจะดีไม่น้อย ถ้าเราสามารถ Transforms การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ด้วยรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง หรือ อุตสาหกรรม EV conversion ให้คนสามารถนำรถยนต์เก่ามาเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้าได้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง จะมีเวลาปรับตัวอย่างน้อย 5-10 ปี เพื่อเข้าสู่ซัพพลายเชนยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ อุตสาหกรรม EV conversion ยังทำให้เกิดซัพพลายเชน และผู้ประกอบการในระบบจำนวนมาก สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนหลายแสนล้านบาทต่อปี
โดย “EV conversion” หรือ อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง เป็นการนำรถยนต์เก่าที่ใช้น้ำมัน มาเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนใหม่ เพื่อเปลี่ยนจากการเติมน้ำมันมาเป็นระบบไฟฟ้า 100% โดยเปลี่ยนทั้งเทคโนโลยีที่ใช้จำนวนชิ้นส่วนจากชิ้นส่วนรถน้ำมัน 30,000 ชิ้น เมื่อเป็น EV จะลดลงเหลือเพียง 3,000 ชิ้น
ต่อมาหลายคนอาจสงสัยว่าแล้วถ้าเราอยากเปลี่ยนรถยนต์ เป็นรถ EV ต้องใช้งบเท่าไหร่?
สำหรับ EV conversion เครื่องยนต์ที่สำคัญจะอยู่ที่ EV Kit หรือชุดมอเตอร์และระบบไฟฟ้าที่เกี่ยวข้อง โดยมีราคาตั้งแต่ 300,000 – 800,000 บาทขึ้นไป แล้วแต่รุ่นรถยนต์และอุปกรณ์ชิ้นส่วน ซึ่งถือว่าสูงมากหากเทียบกับผลสำรวจที่พบว่า ผู้ใช้งานมีกำลังทรัพย์ในการเปลี่ยนรถยนต์เป็น EV conversion ไม่เกิน 300,000 บาท เท่านั้น
ส่วนจุดคุ้มทุนหรือความคุ้มค่าของการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้า เราพบว่ารถเล็กสี่ล้อสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้ไฟฟ้าเมื่อเทียบกับน้ำมันได้ดีกว่ารถใหญ่ขนาดหกล้อและสิบล้อ ซึ่งอุตสาหกรรม EV conversion ควรมุ่งเน้นไปที่ Niche market ที่เป็น Commercial vehicle เนื่องจากมี Demand และคุ้มค่าต่อต้นทุนการ Conversion มากกว่า
โดยราคาที่เหมาะสม (Optimum price) ในปัจจุบันควรอยู่ที่ไม่เกิน 300,000 บาทต่อคัน พิจารณาจากการที่รถกระบะทั่วประเทศอายุ 10 ปีขึ้นไป มีประมาณ 4 ล้านคัน ถ้าสามารถนำมา Conversion เพียง 10% (4 แสนคัน) จะเกิดเงินหมุนเวียนในประเทศกว่า 120,000 ล้านบาท ไปยังผู้ผลิตชิ้นส่วนและอู่รถทั่วประเทศ ทั้งยังลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยมลภาวะได้อย่างมาก
ขณะที่ ผศ.ดร.ปฐพีพัฒน์ เตชะลิ่มสกุล ประธานหลักสูตรวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และระบบอัตโนมัติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผู้คร่ำหวอดในวงการรถยนต์ไฟฟ้ามากว่า 20 ปี ระบุว่า หากคำนวณจากค่าน้ำมันและค่าไฟฟ้าในขณะนี้ อาจต่างกัน 9-10 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายระหว่างรถ EV กับรถน้ำมัน รถ EV จะประหยัดลง 300,000 บาท ใน 1 แสนกิโลเมตร เป็นเหตุผลว่าทำไมจำนวนรถยนต์ EV ในไทยจึงสูงขึ้น และได้รับความสนใจจากผู้ใช้รถจนมียอดจองอย่างก้าวกระโดด
พาไปส่องมาตรการภาครัฐ กับการผลักดันมาตรฐานรถ EV Conversion
และแน่นอนว่าอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่จะส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรม EV Conversion ในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม คือ การสร้างความเชื่อมั่นใน อุตสาหกรรม EV conversion จำเป็นต้องมีการออกมาตรฐานรับรองว่า อู่ซ่อมรถ หรือ ผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์รายย่อย หรือ SME เป็นผู้ให้บริการที่มีมาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค
ด้วยเหตุนี้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) จึงได้มีการพิจารณามาตรการขับเคลื่อนการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งเป็นรถยนต์กลุ่มใหญ่ของประเทศ ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) ได้ โดยวันที่ 2 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา ได้มีมติให้กระทรวงอุตสาหกรรมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) ภายใต้บอร์ด EV ซึ่งประกอบไปด้วย 29 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ได้แก่ รถยนต์ รถกระบะ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสาร รถบรรทุก เรือ รถไฟไฟฟ้า และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศให้แข่งขันได้ จัดทำมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง
รวมถึงพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงและชิ้นส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการเปลี่ยนผ่านการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน
ด้านเลขาธิการ สมอ. ระบุด้วยว่า สมอ. ได้จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องยานยนต์ไฟฟ้าออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการจัดทำมาตรฐาน ซึ่งมีทั้งที่อยู่ระหว่างการจัดทำและประกาศใช้แล้ว รวมจำนวน 138 มาตรฐาน เช่น สถานีชาร์จ รถยนต์ไฟฟ้า จักรยานยนต์ไฟฟ้า รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ระบบการสื่อสารระหว่างรถยนต์ไฟฟ้ากับโครงข่ายไฟฟ้า เป็นต้น และล่าสุดมี 3 มาตรฐานที่อยู่ระหว่างดำเนินการเป็นมาตรฐานบังคับ ได้แก่ สถานีชาร์จ แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และการป้องกันผู้โดยสารเมื่อเกิดการชนจากด้านหน้าและด้านข้าง
โดยขณะนี้ สมอ. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ได้แก่ ชุดชิ้นส่วนสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง นอกจากนี้ ยังได้จัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรมเอสสำหรับผู้ประกอบการ SME จำนวน 2 มาตรฐาน ได้แก่ การบริการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้า มอก. เอส 221-2566 มีผู้ประกอบการยื่นขอการรับรองแล้ว จำนวน 3 ราย และการบริการดัดแปลงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มอก. เอส 222-2566 อีก 1 รายซึ่งมาตรฐานของ สมอ. จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้เปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลกได้ในอนาคต
อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง กับโอกาสของผู้ประกอบการไทย
ในบทความเรื่องนี้ ยังได้ระบุชัดเจนว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง จะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการอู่รถยนต์ในการพัฒนาเทคโนโลยี ต่อยอดธุรกิจได้ในอนาคต รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนเกี่ยวกับรถไฟฟ้ามีตลาดเพิ่มขึ้น โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
กลุ่ม Battery
อุตสาหกรรมแบตเตอรี่มีความสำคัญต่อการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า โดยมีผู้ผลิตแบตเตอรี่ 2 กลุ่ม คือ 1) ผลิต Battery Cells ขึ้นเองในประเทศ และนำมาผลิต Battery Pack ซึ่งมีผู้ประกอบการในประเทศทำได้เพียง 1-2 รายในปัจจุบัน และ 2) นำเข้า Battery Cells มาจากต่างประเทศ และนำมาผลิต Battery Pack มีผู้ประกอบการในประเทศ ไม่น้อยกว่า 5 ราย ที่มีศักยภาพผลิตได้ในระดับอุตสาหกรรม
สำหรับ Battery Pack เป็นหนึ่งในชิ้นส่วนสำคัญที่ไทยมีโอกาสสูง เนื่องจากมีผลิตเพื่อ Supply ให้รถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงและรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ และมีตลาดผู้ใช้งานเชิงพาณิชย์ เช่น รถบัส, รถกระบะ, รถบรรทุก, รถจักรยานยนต์ ดังนั้น ควรมีการสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้ไทยสามารถออกแบบและผลิต Battery Pack ได้เอง และมีกระบวนการทดสอบให้มีคุณภาพมาตรฐานสูงขึ้น ในราคาที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้
กลุ่ม EV Conversion
การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง โดยการใช้โครงรถเดิมและเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนเป็นไฟฟ้าเพื่อสร้าง Demand/Local Content ในประเทศให้สูงขึ้น ให้เกิดอุตสาหกรรม Battery/Battery Pack และ Parts/components ให้มีราคาถูกลงทำให้แข่งขันได้
กลุ่ม EV New Design
เมื่อเรามีความชำนาญมากพอก็สามารถต่อยอดสู่การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าใหม่ทั้งคัน โดยการพัฒนาออกแบบตัวรถเอง และนำชิ้นส่วนเข้ามาประกอบภายในประเทศ ซึ่งคาดว่าความต้องการอะไหล่ที่มีราคาไม่แพงในตลาดหลังการขายของรถยนต์ไฟฟ้าที่มีอายุเกิน 7 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งไทยมีศักยภาพที่สามารถผลิตชิ้นส่วนต่างๆ เหล่านี้ได้
ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพิ่มขึ้นหลายราย แต่มีหนึ่งรายที่หลายคนรู้จักกันดี เป็นตัวอย่างของการปรับตัวธุรกิจให้สอดรับกับสถานการณ์โลกแห่งอนาคตได้เป็นอย่างดี นั่นคือ บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ผู้ผลิตและประกอบรถยนต์ รถพ่วง รถกึ่งพ่วง รถเพื่อการขนส่งรายใหญ่ของประเทศ ที่เห็นกันมากมายบนท้องถนน ที่วันนี้ได้ปรับเปลี่ยนตัวเองจากรถยนต์สันดาปปล่อยมลพิษ สู่รถบรรทุกไฟฟ้าพลังงานสะอาด สามารถวิ่งได้มากกว่า 200 กิโลเมตร ต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง โดยระยะทางที่แจ้งนี้ เกิดจากการทดสอบขณะที่รถบรรทุกน้ำหนัก 25 ตัน ที่การขับขี่บนถนนปกติ
ทั้งนี้ สามารถทำความเร็วได้ที่ 100 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง การชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้ง ใช้เวลาประมาณ 112 นาที สำหรับอายุแบตเตอรี่ ประมาณ 8 ปี หรือ ประมาณ 3,000 cycles
สำหรับรถบรรทุก ราคาค่าดัดแปลงพร้อมเครื่องยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ที่ความจุ 200 kW ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ซึ่งถูกกว่าถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับราคารถบรรทุกไฟฟ้าใหม่ ที่ราคาสูงถึง 5.99 ล้านบาท ส่วนรถปิกอัพ ราคาประมาณ 7 แสนบาท รวมแบตเตอรี่ ขณะที่รถปิกอัพไฟฟ้าใหม่ ราคาอยู่ที่ 1.55 ล้านบาท
สะท้อนให้เห็นว่า หากเรานำรถเก่าที่มีอยู่แล้ว มาดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้าได้ น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี ไม่ต้องสร้างภาระทางการเงิน แม้การดัดแปลงรถยนต์จากระบบสันดาปใช้น้ำมันในการขับเคลื่อนมาเป็นระบบไฟฟ้าอาจยังมีค่าใช้จ่ายอยู่บ้าง แต่ถ้าเทียบกับการซื้อรถใหม่ถือว่าถูกกว่ามาก ขณะเดียวกันยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ช่วยเหลือผู้ประกอบการต่างๆ ในซัพพลายเชนให้มีเวลาปรับตัว เปลี่ยนผ่านจากรถยนต์ใช้น้ำมันไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า และที่สำคัญช่วยลดมลพิษได้อย่างมหาศาลเพื่อก้าวสู่สังคมไร้คาร์บอนที่ทุกคนอยากให้เกิดขึ้นในเร็ววัน
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2023/08/15/ev-conversion-industry-thai-sme-opportunity/