ในวันที่ค่าฝุ่น PM2.5 เป็นภัยต่อสุขภาพ ประชาชนจะได้รับคำเตือนให้ลดกิจกรรมกลางแจ้งเมื่อค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีส้ม แต่ถ้าขั้นวิกฤตระดับสีแดงให้งดกิจกรรมกลางแจ้ง ไม่สามารถไปพักผ่อนหย่อนใจในสวนสาธารณะที่เป็นพื้นที่จุดเสี่ยง จากปัญหาฝุ่นพิษจุดประกายให้เกิดโครงการ”นวัตกรรมสวนนันทนาการอากาศสะอาดเพื่อเมืองน่าอยู่”หรือ “MagikFresh” เนรมิตรอากาศสะอาด ปลอดภัยในสวนสีเขียว เพื่อเป็นทางเลือกในการทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือจะออกกำลังภายในพื้นที่ได้อย่างสดชื่น แม้ในช่วงที่มีปัญหาฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน
ตอนนี้ต้นแบบสวนนันทนาการอากาศสะอาดเพื่อเมืองน่าอยู่นำมาสาธิตและเปิดให้คนกรุงทดลองใช้บริการที่สวนจตุจักร เป็นระยะเวลา 7 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 – พฤษภาคม 2567 ซึ่งตรงกับช่วงฤดูฝุ่นของกรุงเทพฯ นั่นเอง โดยกิจกรรมเปิดตัวต้นแบบสวนอากาศสะอาด จัดขึ้นเย็นวันศุกร์ที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา ณ อุทยานสวนจตุจักร กรุงเทพฯ โดยมี ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมงาน
โอกาสนี้ได้เยี่ยมชมต้นแบบนวัตกรรม“MagikFresh” บนพื้นที่ 100 ตารางเมตร ที่มีการติดตั้งเครื่องกรองฝุ่น PM2.5 เพื่อให้คนเมืองสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ ภายในจะมีอากาศสะอาดและช่วยลดฝุ่น PM2.5 จากภายนอกได้ ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ร่วมสนับสนุนพื้นที่บริเวณอุทยานสวนจตุจักร เพื่อติดตั้งและทดสอบการใช้งาน ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาระหว่างกรุงเทพมหานคร และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. ) ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า สวทช.ได้ดำเนินโครงการภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ และได้รับการพิจารณาเป็นโครงการสำคัญปี 2566 (ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2564) ภายใต้ชื่อโครงการนวัตกรรมสวนนันทนาการอากาศสะอาดเพื่อเมืองน่าอยู่ โดยมี ดร.พรอนงค์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยสร้างสรรค์พื้นที่สวนสำหรับการทำกิจกรรมนันทนาการและพักผ่อนหย่อนใจ ในช่วงที่มีปัญหาฝุ่น PM2.5 นวัตกรรมนี้เหมาะสำหรับพื้นที่เปิดโล่ง อย่างสวนสาธารณะ ลานกีฬา
“สวทช. ได้คิดค้นรูปแบบโครงสร้างที่สามารถควบคุมการไหลเวียนของอากาศภายในพื้นที่กึ่งปิดกึ่งเปิดโดยฝุ่น PM2.5 จากภายนอกไม่สามารถเข้ามาได้ ร่วมกับนวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการกรองฝุ่น PM2.5 เพื่อสร้างพื้นที่อากาศสะอาดให้หายใจได้เต็มปอด โดยไม่ต้องกังวลต่อมลพิษฝุ่น PM2.5 ซึ่งโครงสร้างได้ถูกออกแบบให้สามารถถอดประกอบเพื่อการขนย้ายไปติดตั้งใช้งานในสถานที่ต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้ “ ผอ.สวทช. กล่าว
จากปัญหาฝุ่นพิษ หลายหน่วยงานตระหนักและให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาของฝุ่น PM2.5 เช่นเดียวกับ สวทช. ตลอดช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีงานวิจัยและพัฒนาของ สวทช. ที่เกี่ยวข้องและพยายามผลักดันนำไปสู่การใช้ประโยชน์ศ.ดร.ชูกิจ กล่าวว่า ในด้านการรับมือที่ต้นตอของปัญหาฝุ่น PM2.5 มีการวิจัยพัฒนาเชื้อเพลิงการเผาไหม้ โดยการพัฒนาคุณภาพของสูตรน้ำมันเชื้อเพลิงไบโอดีเซล B10 และเพิ่มคุณภาพน้ำมันดีเซลด้วยกระบวนการ Hydrotreating ทั้งสองเชื้อเพลิงเป็นการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ด้านการตรวจวัดและระบบสารสนเทศ มีการวิจัยพัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจวัดค่า PM 2.5 ด้วยเทคนิค Quartz Crystal Microbalance (QCM) ที่มีความแม่นยำสูง และการใช้ Supercomputer เพื่อคาดการณ์ระดับ PM2.5 ล่วงหน้า
ส่วนด้านการป้องกันสุขภาพประชาชนจากพิษฝุ่นจิ๋วที่เป็นภัยเงียบ ผอ. สวทช. บอกว่า มีการวิจัยพัฒนาหน้ากากอนามัย nMask : Non-biological Mask ที่ได้ผ่านการทดสอบจากองค์กรมาตรฐานสากล (Nelson laboratory USA) สามารถกรองเชื้อไวรัส แบคทีเรีย จุลินทรีย์ คาร์บอนมอนนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน รวมทั้งฝุ่น PM2.5 และการวิจัยพัฒนาเครื่องกรองฝุ่นละอองและกำจัดเชื้อโรคในอากาศ หรือเรียกว่า IonFresh+ เป็นผลงานของทีมวิจัยเดียวกันกับที่พัฒนาสวนนันทนาการอากาศสะอาดเพื่อเมืองน่าอยู่นี้ ในการพัฒนาเทคโนโลยีการกรองฝุ่น PM2.5 นี้ ยังสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศในระยะยาวและเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์ว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
สวนอากาศสะอาดนำร่องที่สวนจตุจักรกลางกรุง เชื้อเชิญให้คนเมืองไปทดลองใช้ โดยอากาศไหลเข้าอาคารผ่านทางเครื่องกรอง อากาศไหลออกจากอาคารผ่านช่องระบายอากาศ ภายในอาคารมี PM2.5 ไม่เกินค่ามาตรฐาน หรือมีค่า AQI น้อยกว่า 50 ภายในอาคารมีอากาศไหลเวียนดีมากกว่า 10 รอบต่อชั่วโมง ปลดปล่อยก๊าซโอโซนไม่เกิน 10 ppb (เฉลี่ย 1 ชม.) แถมมีฟังก์ชันควบคุมการทำงานอัตโนมัติ ระบบกรองทำความสะอากง่าย ไม่ต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ไม่ต้องถอดทิ้งเปลี่ยนใหม่ ช่วยให้ลดขยะ ที่สำคัญอุปกรณ์ผลิตได้ภายในประเทศ ลดการนำเข้า
นวัตกรรมนี้สามารถปรับใช้กับสวนสาธารณะทั่วกรุงเทพฯ นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม.พร้อมสนับสนุนต้นแบบสวนนันทนาการอากาศสะอาดเพื่อเมืองน่าอยู่ ที่ผ่านมา กทม.พยายามแก้ปัญหามลพิษ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 โดยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน รวมถึงการพยายามแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น กลาง ยาว โดยการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นตอของแหล่งกำเนิดฝุ่น รวมถึงการบำบัดอากาศ ซึ่งเป็นปลายทาง ซึ่ง กทม. มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 70 สถานี ผู้ว่าฯ กทม.ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 จากข้อมูลที่ได้จากการตรวจวัดและนวัตกรรม เช่น ไมโครเซนเซอร์ (Microsensors) ที่ใช้ในโครงการ AIRLAB Microsensors Challenge 2023 นี้ ซึ่ง กทม. ต้องการเพิ่มเติมให้มีไมโครเซนเซอร์จำนวนมากขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเสริมประสิทธิภาพแก้ปัญหา PM2.5
อย่างไรก็ตาม ในการป้องกันและตรวจวัด PM2.5 มีผลงานของ สวทช. ที่ กทม.ได้ใช้อยู่ด้วยแล้ว คือ แอปพลิเคชั่น Traffy Fondue จะเป็นการช่วยแจ้งเตือน เฝ้าระวังปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ กทม. ซึ่งประชาชนสามารถมีส่วนร่วมรายงานภาวะมลพิษหรือค่าฝุ่นผ่านการถ่ายรูปและส่งทางไลน์ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปเร่งดำเนินการแก้ไข ทั้งนี้ ผลงานวิจัยต่างๆ ของสวทช. ทาง กทม.ยินดีจะสนับสนุนและใช้แก้ปัญหาด้านมลพิษของประเทศ
“ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เป็นปัญหาของเมืองใหญ่ๆ ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งต่อสังคม สุขภาพและคุณภาพชีวิตชาวเมือง ความร่วมมือกันครั้งนี้ถือเป็นการป้องกันและเป็นตัวช่วยบรรเทาปัญหา เพื่อให้ประชาขนมีทางเลือกในการเข้าถึงนวัตกรรมและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น “นายพรพรหม กล่าว
แหล่งข้อมูล