การสร้างภาพที่มาจากจิตใจดังกล่าว เป็นการถอดรหัสจากสมอง โดยอาศัยเทคโนโลยีจากปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาช่วยถอดรหัสออกมาเป็นภาพวัตถุหรือทิวทัศน์ได้ด้วย
เรื่องนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์จาก National Institutes for Quantum Science and Technology จากมหาวิทยาลัย Osaka เผยว่า ได้สร้างภาพเสือดาว มีปาก มีหู มีลายจุด รวมถึงภาพวัตถุ เช่นภาพเครื่องบินที่มีแสงสีแดงบนปีกเครื่องบินได้ด้วย มันคือเทคโนโลยีถอดรหัสจากสมองหรือ “Brain Decoding” ทำให้เห็นภาพการรับรู้จากกิจกรรมทางสมองได้ซึ่งก็จะทำให้สามารถนำไปใช้ทางการแพทย์ได้ในอนาคต
เทคโนโลยี Brain Decoding เป็นการถอดภาษาจากการบันทึกของสมองโดยใช้ MRI เข้ามาช่วย (MRI คือเครื่องมือในการตรวจหาความผิดปกติของร่างกายที่อาศัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสร้างภาพทางการแพทย์) Brain Decoding ไม่ใช่เครื่องมือในการอ่านจิตใจของผู้คน แต่เป็นการพัฒนาเพื่อช่วยเหลือผู้คนด้านการสื่อสาร โดยเฉพาะกับผู้คนที่สูญเสียความสามารถในการพูดหรือการเขียน
การค้นพบดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ผ่าน Neural Networks วารสารวิทยาศาสตร์นานาชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีงานศึกษาที่เผยว่าภาพที่มนุษย์มองเห็นสามารถสร้างขึ้นใหม่ได้จากการตรวจการสร้างภาพการทำงานของสมองโดยใช้หลักการทำงานของแม่เหล็กหรือการทำ fMRI คือการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการตรวจการสร้างภาพการทำงานของสมอง (functional magnetic resonance imaging) แม้ว่าภาพเหล่านั้นจะยังถูกจำกัดเฉพาะบางโดเมนเท่านั้น เช่น ตัวอักษรในการถอดออกมาเป็นภาพ
ก่อนหน้านี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้พยายามพัฒนาเทคโนโลยีที่วัดปริมาณกิจกรรมทางสมองและปล่อยให้ AI วาดภาพออกมา ร่วมกับการใช้เทคนิคการคาดการณ์เพื่อสร้างวัตถุเชิงซ้อนขึ้นมาใหม่ ซึ่งในช่วงที่ทำการวิจัยนั้น ผู้เข้าร่วมการทำวิจัยได้ชมภาพวัตถุและทิวทัศน์ราว 1,200 ภาพที่มีความสัมพันธ์ระหว่างสัญญาณทางสมองกับภาพโดยมีการวิเคราะห์ภาพและปริมาณด้วยการใช้ fMRI ซึ่งภาพเดียวกันนี้ถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลเพื่อฝึก AI ให้เรียนรู้ถึงความสอดคล้องสัมพันธ์กันของการทำงานทางสมองด้วย
เทคโนโลยีดังกล่าวจะสามารถนำไปใช้พัฒนาอุปกรณ์สื่อสารและทำให้เข้าใจกลไกทางสมองในการเห็นภาพหลอนและความฝันได้ด้วย
แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/photo/?fbid=739236008238638&set=a.628388912656682