ภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งเร้าให้ทั่วโลกเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยประเทศไทยตั้งเป้าเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 50% เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดโดยเฉพาะในภาคการผลิตไฟฟ้าและขนส่ง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2050
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ หรือ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด (Hydro-floating Solar Hybrid) ซึ่งถือเป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดแบบผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์ทำงานร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิม ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้อย่างต่อเนื่องยาวนานขึ้น และมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำ จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาทั่วโลกผ่านโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดใหญ่ที่สุดในโลกแห่งแรกที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังผลิตไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์
สำหรับในปี 2566 กฟผ. เร่งดำเนินโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดแห่งที่ 2 ณ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น กำลังผลิตไฟฟ้า 24 เมกะวัตต์ พัฒนาต่อยอดเพิ่มการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) แบบลิเธียมไอออนขนาด 6 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ช่วยให้ระบบไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำมีเสถียรภาพมากขึ้น สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ
ปัจจุบันโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์อยู่ในระหว่างดำเนินงานประกอบแผงโซลาร์เซลล์เข้ากับทุ่นลอยน้ำ โดยใช้แผงโซลาร์เซลล์ประมาณ 48,000 แผง ติดตั้งอยู่บนพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 320 ไร่ ส่วนการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า 22 กิโลโวลต์ เชื่อมต่อกับสถานีไฟฟ้าแรงสูงอุบลรัตน์ และการก่อสร้างอาคารอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) มีความล่าช้าเล็กน้อยจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ของ จ.ขอนแก่น ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกปี 2567
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดถือเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าแห่งอนาคตที่จะเข้ามาช่วยทดแทนโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพราะเป็นกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดจึงไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยกระบวนการทำงานของโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดจะนำพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวัน และผลิตไฟฟ้าด้วยโรงไฟฟ้าพลังน้ำเช่วงที่แสงแดดน้อยหรือไม่มีแสงแดด ส่วนระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่จะกักเก็บพลังงานส่วนที่เหลือจากโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ และช่วยจ่ายไฟฟ้าเสริมความต้องการของระบบไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านตอนหัวค่ำ จึงสามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่องและยาวนานขึ้น
กระบวนการผลิตไฟฟ้าโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์
ส่วนแผงโซลาร์เซลล์ที่นำมาใช้เป็นแผงโซลาร์เซลล์ชนิด Double Glass ที่มีความแข็งแรงทนทานสูง ทนความชื้นได้ดี สามารถออกแบบวางชิดผิวน้ำซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ถึงร้อยละ 10 – 15 และใช้ทุ่นลอยน้ำเป็นทุ่นพลาสติกชนิด High Density Poly Ethylene (HDPE) ซึ่งเป็นวัสดุประเภทเดียวกับท่อส่งน้ำประปาจึงเป็นมิตรต่อสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสามารถทนต่อความเสื่อมจากการกระทบของรังสี UV ได้เป็นอย่างดี จึงมีอายุการใช้งานได้นานถึงประมาณ 25 ปี
นอกจากนี้โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดยังตอบโจทย์พลังงานเพื่อทุกคน เนื่องจากเป็นการพัฒนาโครงการที่มีขนาดใหญ่ (Economy of Scale) โดยใช้ที่่ดินและอุปกรณ์โครงข่ายไฟฟ้าของเขื่อนอุบลรัตน์ที่มีอยู่เดิมให้เต็มประสิทธิภาพ จึงสามารถช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าต่ำ อีกทั้งในช่วงการก่อสร้างยังได้จ้างแรงงานท้องถิ่นทำให้เกิดการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ และเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ กฟผ. ได้เตรียมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านพลังงานหมุนเวียนแห่งใหม่ของ จ.ขอนแก่น เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่นอีกทางหนึ่งด้วย
โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดถือเป็นก้าวสำคัญของการเดินหน้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่เชื่อถือได้ และแสดงถึงความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังในการส่งเสริมพลังงานสะอาดของไทย โดยให้ความสำคัญกับชุมชนโดยรอบเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน และเดินหน้าสู่สังคมไร้คาร์บอนอย่างแท้จริง เพื่อคนไทยทุกคน
แหล่งข้อมูล