มากกว่าแค่ “ยานยนต์ไฟฟ้า” คือการคมนาคมอัจฉริยะ (Smart Mobility)

Share

Loading

สำหรับเมืองอื่นในโลก การขนส่งด้วยไฟฟ้าส่วนใหญ่จะยังเป็นโครงการนำร่อง แต่สำหรับ “ออสโล” นครหลวงที่ใส่ใจเรื่องสภาพแวดล้อมสุดๆ ของนอร์เวย์ การขนส่งด้วยพลังงานไฟฟ้าเกิดขึ้นจริงๆ ในวิถีชีวิตผู้คนในทุกๆ วัน มีคำถามเกิดขึ้นมากมายจากชาวโลกว่า แล้วออสโลทำได้อย่างไร?

จากข้อมูลของ สตูร์ พอร์ทวิค หัวหน้าฝ่ายริเริ่มการคมนาคมด้วยพลังงานไฟฟ้า เมืองออสโลบอกว่า การทำให้ผู้คนซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเป็นส่วนที่ง่าย เพราะ “เรื่องที่น่าปวดหัวที่แท้จริงมาจากโครงสร้างพื้นฐาน” 

เรื่องนี้มีตัวเลขมายืนยัน เพราะรถยนต์ใหม่สามในสี่คันที่ขายในออสโลปัจจุบันเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนการขนส่งสาธารณะก็เช่นเดียวกัน ทำให้ปี 2564 ที่ผ่านมา ร้อยละ 40 ของรถโดยสารทั้งหมดในออสโลจึงเป็นรถโดยสารไฟฟ้า

คำถามสำหรับชาวโลกคือ แล้วออสโลทำได้อย่างไร?

ส่วนหนึ่งก็เพราะ ออสโลมองว่า “โซลูชั่นการคมนาคมอัจฉริยะ หรือ Smart Mobility นั้นเป็นมากกว่าแค่ “ยานพาหนะไฟฟ้า” (electric vehicles)

และโดยพื้นฐานแล้ว การใช้พลังงานไฟฟ้าจำเป็นต้องผสานสองภาคส่วนที่มีการพัฒนาแยกจากกันคือ การคมนาคมขนส่งและโครงข่ายไฟฟ้า พูดง่ายๆ ก็คือ “การจัดหาสถานีชาร์จสำหรับรถยนต์และรถบัสทั้งหมดนั้นต้องการโครงสร้างพื้นฐานมารองรับมากกว่าสถานีบริการน้ำมันมาก” นี่คือจุดที่นอร์เวย์ได้เปรียบจากระบบนิเวศที่ดีและเป็นนวัตกรรมสำหรับระบบขนส่งอัจฉริยะ

และคำตอบส่วนหนึ่งของเรื่องนี้ อยู่ที่นโยบาย เรารู้กันนอร์เวย์สนับสนุนให้ผู้คนซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นเวลากว่าสองทศวรรษแล้ว ด้วยการลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ลงอย่างมาก ทำให้ทุกวันนี้นอร์เวย์เป็นประเทศที่ถูกที่สุดในโลกในการซื้อและเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าสักคัน

ยิ่งกว่านั้น ออสโลยังได้ออกมาตรการเพิ่มเติมสำหรับผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้า เช่น การยกเว้นค่าผ่านทาง มีที่จอดรถฟรีหรือได้รับเงินอุดหนุน และการอนุญาตให้ใช้เลนรถประจำทาง

“ออสโลและนอร์เวย์เป็นที่ตั้งของบริษัทยานยนต์อัจฉริยะที่มีทักษะ ยืดหยุ่น และเป็นนวัตกรรมใหม่ ซึ่งสามารถจัดหาโซลูชั่นที่เราต้องการได้” สตูร์ พอร์ทวิค หัวหน้าฝ่ายริเริ่มการคมนาคมด้วยพลังงานไฟฟ้า เมืองออสโลเล่าถึงออสโล

“สิ่งที่ออสโลมีครอบคลุมถึงทั้งโซลูชันในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เฉพาะในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานในการชาร์จพลังงาน เรามีบริษัทอย่าง Zaptec, Mer, BKK และ Recharge และยังมีผู้เชี่ยวชาญมากมายเกี่ยวกับวิธีใช้ AI และการจัดการพลังงานอัจฉริยะเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบการชาร์จ โดยมีบริษัทอย่าง Tibber และ Flexibility เป็นผู้นำ ส่วนระบบนิเวศในการเคลื่อนที่อัจฉริยะทั้งหมดรอบพื้นที่เมือง StartupLab ในกรุงออสโลก็มีผลงานน่าประทับใจ”

มีคำกล่าวว่า ถ้าคุณต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “โอกาสทางธุรกิจ” ในเรื่องของ “การคมนาคมในเมืองอัจฉริยะ” (smart urban mobility) ก็ให้ติดต่อกับกลุ่มนวัตกรรมนอร์เวย์เกี่ยวกับเรื่องนี้

ตัวอย่างหนึ่งในโลกของการขนส่งสินค้า Paxster บริษัทด้านการคมนาคมของนอร์เวย์กำลังสร้างชื่อ ด้วยยานพาหนะไฟฟ้าขนาดเล็กขับคนเดียวที่สามารถพบเห็นได้ตามเมืองต่างๆ ทั่วนอร์เวย์ใช้ในการส่งไปรษณีย์ พัสดุ และส่งอาหารแบบไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“ด้วยความที่มีขนาดเล็กกว่าและคล่องตัวกว่า Paxster จึงสามารถจัดส่งพัสดุได้เกือบสองเท่าในหนึ่งวัน เมื่อเทียบกับรถตู้ดีเซลมาตรฐาน”

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า รถตู้หรือรถบรรทุกส่งของขนาดใหญ่จะกลายเป็นอดีตไปแล้ว เพียงแต่แนวคิดนี้จะช่วยให้เราใช้เครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จริงจัง

อาริลด์ บรูเดลี่ หัวหน้าฝ่ายระบบและนวัตกรรมของ Paxster กล่าวและยังพูดถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอันมหาศาลจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของอีคอมเมิร์ซ “ระหว่างปี 2014 ถึง 2020 อีคอมเมิร์ซทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบสี่เท่า ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด แต่การเติบโตนี้ไม่ได้เป็น ‘สีเขียว’ เพราะการขนส่งที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องค้นหาวิธีแก้ปัญหาเพื่อลดพื้นที่ในการขนส่งในระยะทางสุดท้าย”

ตอนนี้ยานพาหนะไฟฟ้าของ Paxster ครอบคลุมระยะทางสุดท้ายทั่วโลก “เราเพิ่งเสร็จงานในโครงการริเริ่มกับบริการไปรษณีย์ของนอร์เวย์ เมื่อเราได้รับโทรศัพท์จากบริการไปรษณีย์ในนิวซีแลนด์ ขณะนี้เราอยู่ในทั่วทุกมุมโลก โดยทำงานร่วมกับทั้งบริษัทจัดส่งและหน่วยงานเทศบาลในเมืองต่างๆ เช่น ลอนดอน เบอร์ลิน และมาดริด”

ออสโลคือเมืองที่มีสุขภาพดีขึ้นด้วยการใช้พลังงานไฟฟ้า แม้ว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศยังคงเป็นแรงผลักดันเบื้องหลังการใช้พลังงานไฟฟ้าในเมือง แต่กระบวนการก็นี้ส่งผลดีต่อชาวเมืองทันใด

“ระหว่างปี 2009 ถึง 2019 ออสโลพบว่า CO₂ ลดลงร้อยละ 20 จากภาคการขนส่ง และการใช้งานรถโดยสารไฟฟ้าและยานพาหนะขนส่งพลังงานไฟฟ้าก็มีแนวโน้มช่วยดันให้ตัวเลขนี้สูงขึ้น

ยิ่งกว่านั้น พอร์ทวิค บอกว่า เรายังเห็นมลพิษในอากาศลดลงอย่างมากถึงร้อยละ 30 เช่น ไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ออกไซด์ และ PM2.5 ด้วยเช่นกัน”

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่ามากกว่าร้อยละ 80 ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองต้องเผชิญกับมลพิษในปริมาณที่อาจเป็นอันตราย ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ มะเร็งปอด และโรคทางเดินหายใจเรื้อรังและเฉียบพลันเพิ่มมากขึ้น มีการประเมินว่ามลพิษทางอากาศในเมืองทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 3.4 ล้านคนทุกปี

แหล่งข้อมูล

https://www.posttoday.com/smart-city/704440