เพื่อไทย-ก้าวไกลเห็นด้วยเสนอตั้ง กมธ. วิสามัญศึกษาการอยู่ร่วมกันของสังคมยุค AI

Share

Loading

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 1 ครั้งที่ 9 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีการประชุมพิจารณาในญัตติ เรื่อง ‘ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการอยู่ร่วมกันของสังคมในยุคปัญญาประดิษฐ์ และโลกาอัตโนมัติ’ ของ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล

เท่าพิภพระบุเหตุผลของการเสนอญัตติดังกล่าวว่า เป็นโอกาสให้สภาผู้แทนราษฎรจะช่วยกันวางแผนการใช้ประโยชน์และวิธีการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ได้มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นจนเริ่มเห็นการใช้งานแพร่หลาย เกิดประโยชน์ แต่ในอีกทางก็ยังมีความกังวลในสังคมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะปัญหาการแทนที่แรงงานด้วยปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ ความรับผิดในการใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติ หรือจริยธรรมของการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในทางทหาร รวมถึงปัญหาการละเมิดสิทธิของบุคคลที่ต้องมีกฎหมายควบคุม

โดยเท่าพิภพยังระบุเพิ่มเติมว่า ตอนนี้เรากำลังอยู่ในยุค Artificial General Intelligence (AGI) เป็นยุคเริ่มต้นที่ AI คิดและทำทุกอย่างได้เหมือนคน พร้อมตั้งคำถามและข้อสังเกตถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งในด้านสิทธิ จริยธรรม เศรษฐกิจ ความมั่นคง โดยยกตัวอย่างในหลายๆ กรณี เช่น Digital art, การรับผิดทางกฎหมายของ Self-driving cars, การเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์, การทำสงคราม, การใช้ Deepfake ในการก่ออาชญากรรม เป็นต้น เพื่อหาทางป้องกันและทำให้เกิดประโยชน์กับคนหมู่มาก โดยให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นพื้นที่ในการพูดคุย

ทั้งนี้ยังได้พิจารณาร่วมกับญัตติทำนองเดียวกันอีก 2 ฉบับ ได้แก่ ญัตติ ‘เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการปรับปรุงกฎหมายและหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์’ ของ ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สส.เลย พรรคเพื่อไทย และญัตติ ‘เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษามาตรการในการส่งเสริมและควบคุมการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI)’ ของ วันนิวัติ สมบูรณ์ สส.ขอนแก่น

ศรัณย์ระบุส่วนหนึ่งว่า เนื่องจากในยุคปัจจุบันเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ อย่างกว้างขวางในหลายประเทศ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการดำเนินชีวิตของประชาชนทั้งในเรื่องทั่วไปและที่เกี่ยวกับการงาน ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน รวมถึงกฎหมายที่ยังไม่ได้รับการปรับปรุง

โดยเห็นว่าเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงอย่างมากในการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ในมุมมองที่ต่างกันทั้งในส่วนที่เป็นโอกาสและในส่วนที่เป็นความอันตราย และเห็นว่าประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมในหลายด้าน เช่นความเหลื่อมล้ำที่มาจากการถือครองเทคโนโลยีของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ และโดยเฉพาะการปรับปรุงกฎหมายเพื่อรับมือกับข้อจำกัดต่างๆ ทั้งการแข่งขันด้านแรงงาน, ความเป็นส่วนตัว, การเข้าถึงข้อมูล, การเป็นเจ้าของในข้อมูล และความปลอดภัยในการใช้ระบบต่างๆ หากไม่สามารถออกกฎหมายให้เกิดความพร้อมในการรับมือ เราอาจจะเกิดความสูญเสียมากมายนอกเหนือจากการพัฒนาที่ช้าลง

ส่วนวันนิวัติระบุส่วนหนึ่งเช่นกันว่า แม้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ แต่หากไม่มีการส่งเสริมหรือควบคุมที่ดีแล้ว AI อาจถูกนำไปใช้ในทางที่ก่อให้เกิดหายนะต่อมนุษยชาติได้เช่นกัน โดยยกตัวอย่างในมิติการศึกษาที่แม้ AI จะเข้ามามีบทบาทในการจัดการเรียนการสอน อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ แต่ก็มีความกังวลว่าจะเข้ามาทดแทนบทบาทของครูหรือไม่ และเห็นว่ายังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ AI อย่างเป็นรูปธรรมและควรมีการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศและเตรียมพร้อมบุคลากรกับโลกที่เปลี่ยนแปลง

หลังจากที่ผู้เสนอญัตติได้อภิปรายถึงหลักการและเหตุผล สส.ฝ่ายค้านจากพรรคก้าวไกล และสส.ฝ่ายรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย ก็ได้อภิปรายในทำนองสนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าว

ทั้งนี้จะมีการเสนอรายชื่อเพื่อตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 24 มกราคม 2567

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/photo/?fbid=937292991292371&set=a.811136570574681