ปั้นบุคลากรทักษะสูงด้วยเทคโนโลยี AI

Share

Loading

การพัฒนาประเทศจะก้าวไปข้างหน้าไม่ได้เลย หากขาด “คน” ซึ่งเป็น “หัวใจ” สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การลงทุนของอุตสาหกรรมต่างๆ อาจหาทำเลที่ไหนก็ได้ที่มีศักยภาพใกล้เคียงกัน แต่สิ่งที่ผู้บริหารใช้เป็นดัชนีสำคัญในการตัดสินใจลงทุนคือ “คน” หรือ “แรงงาน” ที่มีทักษะสูง เหมาะกับอุตสาหกรรมยุคใหม่

เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา คณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC HDC ได้ประชุมร่วมกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และ สำนักงานประกันสังคม ในการพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านข้อมูลการพัฒนาบุคลากร โดยจะนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ ประมวลผล และบริหารจัดการฐานข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้รู้รายละเอียดของแรงงานในระบบ นอกระบบ การว่างงาน หรือความต้องการงานในภาคอุตสาหกรรม เก็บรายละเอียดทุกมิติ โดยเฉพาะในกลุ่ม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งนอกจากจะมีประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรม แรงงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังเป็นข้อมูลสำหรับสถาบันการศึกษาในการวางแผนการเรียนการสอน ผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาดในอนาคต ตั้งแต่ระดับประถม มัธยม จนถึงมหาวิทยาลัย

แนวทางการพัฒนาบุคลากรของ 3 หน่วยงาน จะนำร่องในพื้นที่อีอีซี ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งหลักการของ EEC HDC คืออุตสาหกรรมต้องการ ‘คน’ แบบไหน..อย่างไร..เท่าไหร่ ผลิตคนออกมาตามนั้น ดึง ‘ดีมานด์’ นำ ‘ซัพพลาย’ โดยโฟกัส 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ 12 S Curve ในพื้นที่อีอีซี เชื่อมสถาบันการศึกษา สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) บริษัทอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทวงการอุดมศึกษาฯ และอีกหลายหน่วยงาน ให้เป็นเนื้อเดียวกัน มีข้อมูลชัดเจนว่าในแต่ละปีมีอุตสาหกรรมขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน 3 จังหวัดภาคตะวันออกจำนวนเท่าไหร่ เป็นอุตสาหกรรมประเภทไหนบ้าง แต่ละอุตสาหกรรมต้องการแรงงานภายในระยะ 1-5 ปีจำนวนเท่าไหร่ แรงงานในระบบมีรองรับจำนวนเท่าไหร่ แรงงานที่ตกงาน (แต่สามารถเพิ่มทักษะกลับเข้าไป) มีจำนวนเท่าไหร่ และควรจะผลิตแรงงานใหม่ออกมาเท่าไหร่

ยกตัวอย่าง อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ในอดีตอาจประเมินกันคร่าวๆ หรือวิเคราะห์แนวโน้มว่าน่าจะเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่ง แต่ไม่มีตัวเลขความต้องการแรงงานที่ชัดเจน หรือถ้ามีก็ไม่ตรงกัน ถาม 10 หน่วยงานก็จะได้ตัวเลข 10 แบบ เมื่อตัวเลขของแต่ละหน่วยงานไม่ตรงกัน สถาบันการศึกษาในแต่ละพื้นที่ก็ผลิตบุคลากรไม่สอดคล้องกับความต้องการแท้จริง แต่หลักการของ EEC HDC คือมีตัวเลขชุดเดียว โดยหลังจากการสำรวจข้อมูลว่าใน 3 จังหวัดภาคตะวันออกจะมีโรงแรมเกิดใหม่กี่แห่ง คอนโดมิเนียมกี่แห่ง โฮมสเตย์กี่แห่ง ฯลฯ จากนั้นลิงก์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สอบถามความต้องการแรงงานของสถานที่แต่ละแห่ง แรงงานประเภทที่ต้องการ นำตัวเลขมาเข้าเกณฑ์วิเคราะห์ บนฐานชุดเดียว จากนั้นให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่นำกลับไปผลิตคนตามความต้องการ มีสถาบันการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออกเข้าร่วมเครือข่ายทุกระดับตั้งแต่ประถม มัธยม และ อุดมศึกษา

แนวทางดังกล่าวมาจากวิสัยทัศน์ของ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มองว่าสิ่งสำคัญและน่าจะเป็นปัญหามากที่สุดในการขับเคลื่อนอีอีซีคือเรื่องของ ‘คน’ เนื่องจากการลงทุนยุคใหม่ ไม่ใช่แค่การเปิดกว้างให้ใครก็ได้เข้ามาลงทุน แต่ต้องลงทุนใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ยึดโยงกับนวัตกรรม เทคโนโลยี ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีการจัดตั้ง คณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC HDC ขึ้นมาศึกษาและวิจัยความต้องการของ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี จากนั้นประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ผลิตบุคลากรป้อนให้ตามความต้อองการนั้นๆ เด็กที่จบการศึกษาแบบ EEC Model ทุกคนมีงานทำ 100% แต่ละคนมีรายได้สูงกว่าผู้ที่จบการศึกษาทั่วไป และโมเดลการศึกษานี้ช่วยเชื่อมประสานให้เกิด Eco System ในการพัฒนาการเรียนการสอนยุคใหม่ที่มีความแม่นตรงตามสมรรถนะที่ต้องการ พัฒนาความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคอุตสาหกรรมและพื้นที่การทำงานยุคใหม่ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

วันนี้ EEC HDC ได้ก้าวล้ำไปอีกขั้น ด้วยการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาบริหารจัดการพัฒนาบุคลากรแบบเต็มระบบ โดยจะนำระบบเทคโนโลยีของ Cyferd ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำที่มีความโดดเด่น และประสบความสำเร็จอย่างมากในการเพิ่มศักยภาพให้กับองค์กรต่างๆ ทั่วโลก มาช่วยบริหารจัดการ นำร่องในพื้นที่อีอีซี ก่อนกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ

ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธาน EEC HDC กล่าวว่า ปัจจุบันบิ๊กดาต้ามีความสำคัญมาก ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ พัฒนาไปไกลมาก ถึงขนาดสร้างเมืองศูนย์กลางข้อมูล เราจึงรอช้าไม่ได้ ประกอบกับคณะอนุกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ฯ ในรัฐบาลนี้ ให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาบุคลากรเป็นอันดับแรก การประชุมร่วมกันของ 3 หน่วยงาน ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาข้อมูลระบบแรงงานไทย ในรูปแบบดิจิทัลที่สามารถประมวลผลแบบเรียลไทม์ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะทำให้การผลิตบุคลกรไม่เกิดความซ้ำซ้อน ตรงกับความต้องการของตลาด ขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

“การสร้างฐานข้อมูลเพื่อบริหารจัดการการพัฒนาบุคลากร และปรับทิศทางการศึกษาใหม่มารองรับ การพัฒนาทุนมนุษย์ในคลื่นการเปลี่ยนแปลงของโลกใบใหม่นี้ มีความจำเป็นยิ่งที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศไทย และมีความหมายต่อการเปลี่ยนแปลง การยกระดับปรับฐานการพัฒนาบุคลากรและการศึกษาให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลกและหยุดความสูญเปล่าทางการศึกษาที่เกลื่อนกล่นให้หมดไป ภารกิจนี้เป็นเรื่องความร่วมมือระดับมหภาคที่ต้องมีภาคปฏิบัติการแบบ think globaly act localy เพื่อยกระดับขับเคลื่อนสร้างทุนมนุษย์ทั้งระบบ ให้มีทิศทางตอบสนองความก้าวหน้าของบ้านเมืองอย่างจริงจัง ต้องร่วมมือกันต่อเนื่อง ทุ่มเท สร้างรูปธรรมที่สัมผัสจับต้องได้” ประธาน EEC HDC กล่าว

หากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง นอกจากจะพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้แข่งขันได้ในระดับสากลแล้ว ยังผลิตบุคลากรออกมาสร้างสรรค์ประโยชน์ ขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศได้อย่างแท้จริง

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/02/01/produce-highly-skilled-personnel-with-ai-technology/