การพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไปทำให้ ‘ทักษะ’ หลายอย่างของมนุษย์หายไป

Share

Loading

ณ ปี 2024 เราอยู่ในยุคที่ AI มีทีท่าว่ากำลังทำ ‘ทุกอย่าง’ แทนเรา หลายคนก็อาจตื่นเต้นที่มนุษย์จะเข้าสู่ยุคใหม่ แต่คนที่มองว่าอะไรๆ มันไม่น่าจะง่ายขนาดนั้นก็มีคำถามง่ายๆ ว่า ถ้าถึงจุดหนึ่งที่มนุษย์เราใช้ AI ทำทุกอย่างแล้ว วันดีคืนดีถ้า AI หายไปเราจะทำอย่างไร?

นี่ไม่ใช่เรื่องตลก การสูญเสียทักษะเพราะใช้เทคโนโลยีมากๆ มีจริง มันไม่ใช่แค่เราไม่ต้องจำอะไรเองอีกแล้วเพราะเรามีสมาร์ทโฟนและ Google แต่มันมีเรื่องซีเรียสกว่านั้นมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขับรถจนตกข้างทางเพราะเชื่อ Google Maps จนไม่ได้ดูเส้นทาง หรือกระทั่งเรื่องในระดับที่เครื่องบินตก เพราะระบบรวนเปิด Autopilot ไม่ได้ แล้วนักบินลืมวิธีการบังคับเครื่องบิน เพราะเปิด Autopilot มายาวนาน

และก็บอกเลยว่าจะมีอะไรแบบนี้อีกมาก ในยุคสมัยของ AI ที่กำลังจะมาถึง ไม่ว่านั่นจะเป็นการที่นักบัญชีทำตัวเลขบัญชีผิดพลาด เพราะซอฟต์แวร์ที่ใช้มีบั๊ก (bug) หรือกระทั่งโปรแกรมเมอร์ไม่รู้จะแก้โปรแกรมของตัวเองที่ใช้ให้ AI เขียนยังไง

และนี่ก็เป็นแค่ ‘ตัวอย่าง’ เท่านั้น แล้วเราจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้

จริงๆ แล้วคำตอบง่ายมาก และเป็นคำตอบเดียวกับว่าเราควรจะ ‘ทำงาน’ กับ AI อย่างไรดี ที่เป็นคำถามในทุกวันนี้

อย่างแรกคือเราต้องหาความรู้อัปเดตอย่างสม่ำเสมอในสิ่งที่เราทำ เช่นถ้าเป็นนักบัญชีก็อาจต้องอัปเดตกฎหมายภาษีเรื่อยๆ ไม่ใช่หวังพึ่งแต่อัปเดตของซอฟต์แวร์ทำภาษี เป็นโปรแกรมเมอร์ก็อาจต้องอัปเดตทั้งภาษาและโมดูลต่างๆ รวมถึงช่องโหว่ต่างๆ ที่ AI อาจไม่รู้ และที่จริงนั้นเป็นนักอะไรก็ตามควรจะอัปเดตข้อมูลให้ใหม่เสมอ ให้สมกับเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

อย่างที่สอง เมื่อเรามีความรู้เราก็ต้องรู้เสมอว่า ‘ระบบ’ ที่เราสั่งการ (ไม่ว่าจะเป็นอัลกอริทึมโง่ๆ หรือ AI) มีกระบวนการทำงานอย่างไร อย่าใช้มันเป็น ‘กล่องดำ’ อย่างน้อยเราต้องรู้กลไกการทำงานของมันบ้าง จะได้รู้ว่ามันอาจผิดพลาดและมีปัญหาอย่างไร เช่นอย่างน้อยๆ ก็ต้องรู้ว่าตัวโปรแกรมอัปเดตล่าสุดเมื่อไหร่ และนั่นจะทำให้มันอัปเดตก่อนการเปลี่ยนแปลงสำคัญด้านข้อมูลที่อาจส่งผลกับงานของเรา

อย่างสุดท้าย เช็กผลงานของ AI หรือระบบใดๆ ที่เราสั่งงานเสมอ กรณีนี้ก็เป็นเรื่องพื้นฐาน ระบบพวกนี้ทำงานเร็วก็จริงแต่ความผิดพลาดและความคลาดเคลื่อนมีได้เสมอ เราจึงควรตรวจสอบทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราต้อง ‘รับผิดชอบ’ หากงานออกมาผิดพลาด

ทั้งนี้จะไม่จำ 3 ข้อนี้ก็ได้ เพราะประเด็นคือ เราต้องทำตัวเองให้อยู่ในสภาพที่พร้อมทำงานแทน AI ได้ และเราต้องหมั่นตรวจสอบการทำงานของมันตลอด ประเด็นมีแค่นี้

ทั้งหมดก็เป็นหลักทั่วไปที่พูดกันมานานแล้ว เพราะมันก็มีคน ‘พลาด’ เพราะพึ่งพาและไว้ใจเครื่องจักรและระบบคอมพิวเตอร์มาแล้วไม่น้อย แต่ในอดีตมนุษย์ไม่ได้พึ่งพาเครื่องจักรในการคิดและตัดสินใจแทนเท่าที่เป็นอย่างทุกวันนี้และกำลังจะเป็นมากขึ้น

ซึ่งนั่นหมายความว่าถ้าไม่ ‘ระวัง’ และพยายามสร้าง ‘มาตรฐานความปลอดภัยพื้นฐาน’ ในการใช้ AI ทำงานในวงกว้างแล้ว ‘ความผิดพลาด’ เหล่านี้ก็จะเพิ่มขึ้นๆ ในโลก

เต็มที่เราก็ได้แต่หวังว่ามาตรการที่ว่านี้จะเกิดขึ้นบ้าง ก่อนที่ ‘ความผิดพลาด’ ระดับที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้จะเกิดขึ้นมากเกินไป

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/photo/?fbid=962838528737817&set=a.811136570574681