เทคโนโลยี Internet of Things ซึ่งเชื่อมโยงอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้านเข้าหากัน เครื่องใช้ไฟฟ้า ระบบรักษาความปลอดภัย และอื่น ๆ สามารถควบคุม (Control) ได้อย่างง่ายดาย ก่อให้เกิดความสะดวกสบาย (Convenience) และประหยัด (Savings) ไม่ว่าจะเป็นเวลา หรือใช้จ่ายด้านพลังงาน รวมไปถึงความปลอดภัย (Safety) ที่เพิ่มมากขึ้น
จากการมีระบบอัตโนมัติต่างๆ มาเป็น “ผู้ช่วย” ภายในบ้าน เช่น ตรวจจับผู้บุกรุกบ้าน ตั้งอุณหภูมิที่เหมาะสมภายในบ้าน ไปจนถึง วัดค่าแก๊สในอากาศจากเซนเซอร์เพื่อป้องกันการรั่วไหล เป็นต้น นอกจากนี้ อุปกรณ์สมาร์ทโฮมที่มีให้เลือกมากมายในตลาด ทำให้ราคาลดลง และเป็นที่ต้องการในระยะยาว
การคาดการณ์ของ Gartner Research ระบุว่าในปี 2563 จะมีอุปกรณ์ประเภท IoT สูงถึง 2.08 หมื่นล้านชิ้น ขณะที่ IDC ก็คาดว่ามูลค่าตลาด IoT ทั่วโลกจะแตะ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ การคาดการณ์เหล่านี้ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและโอกาสในการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฮม
รายงานของ PwC ได้ทำการสำรวจผู้บริโภคจำนวน 1,000 รายที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 64 ปี โดยระบุว่า แม้ว่าการนำคอนเซ็ปต์ของเทคโนโลยีสมาร์ทโฮมมาใช้ในหมู่ผู้บริโภคจะเติบโตอย่างช้าๆ ในช่วงที่ผ่านมา และเป็นไปในลักษณะของการเลือกใช้อุปกรณ์เป็นรายชิ้นมากกว่าการใช้โซลูชั่นเชื่อมต่ออุปกรณ์ทั่วทั้งครัวเรือน แต่ “ประตูของตลาดสมาร์ทโฮม ยังคงเปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการ เพราะเมื่อผู้บริโภคมีความรู้และตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีมากขึ้นก็จะกลายเป็นตลาดที่ได้รับความนิยมในที่สุด” โดยพบว่า 65% ของผู้บริโภคที่ทำการสำรวจตื่นตัวกับอนาคตของเทคโนโลยีสมาร์ทโฮม ที่จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตของคนในอนาคต
อายุ
“อายุ” ไม่ได้เป็นเพียงตัวเลขสำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการใช้เทคโนโลยีสมาร์ทโฮม เพราะจากการศึกษาของ PwC พบว่า ในขณะที่ผู้บริโภค “กลุ่มมิลเลนเนียล” (กลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 29 ปี) ให้การตอบรับกับเทคโนโลยีนี้เป็นอย่างดี แต่มิลเลนเนียลส่วนใหญ่ยังคงเป็นเพียงแค่กลุ่มที่พิจารณาจะใช้ (Considerers) โดยไม่มีกำลังซื้อมากพอในเวลานี้ แม้จะมีความต้องการที่จะซื้อบ้านเป็นของตัวเองในอนาคตก็ตาม ทั้งนี้ กลุ่มผู้ใช้สมาร์ทโฮมในปัจจุบัน (Current users) พบว่า เป็นผู้บริโภค “กลุ่มวัยกลางคน” (กลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 30 ถึง 49 ปี) เป็นเพศชาย ส่วนใหญ่แต่งงานและมีบุตร มีรายได้สูง ชื่นชอบการใช้เทคโนโลยี และไม่มีเวลาในการจัดการดูแลบ้าน สำหรับกลุ่มที่ปฏิเสธการใช้สมาร์ทโฮม (Rejectors) ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 50 ถึง 64 ปีขึ้นไป เป็นเพศหญิง ไม่มีเด็กในบ้าน มีความลังเลที่จะใช้เทคโนโลยี หรือมีรายได้ต่ำ และมีเวลาในการดูแลบ้านด้วยตนเอง ขณะที่กลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มที่ยอมรับสมาร์ทโฮม (Acceptors) โดยมองว่า เป็นเทคโนโลยีที่มีความจำเป็นแต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการใช้มาก โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นเพศหญิงและมีอายุระหว่าง 50 ถึง 64 ปีขึ้นไปเช่นกัน โดยจะซื้อเทคโนโลยีก็ต่อเมื่อราคาน่าสนใจ และช่วยประหยัดบิลค่าไฟจริงๆ เท่านั้น
ราคา
รายงานฉบับข้างต้นของ PwC ยังระบุไว้ชัดว่า ปัจจัยสำคัญอันดับหนึ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้ออุปกรณ์สมาร์ทโฮมนั้น ไม่ได้อยู่ที่ความปลอดภัยหรือ ความเป็นส่วนตัว แต่อยู่ที่ราคา โดยผู้ตอบแบบสอบถามที่ไม่เคยใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฮม (Non-users) ถึง 42% บอกว่าราคาเป็นปัจจัยหลัก
ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคกว่าครึ่ง (52%) บอกว่า หากผู้ประกอบการมีการให้ซื้อสินค้าประเภทนี้แบบแบ่งจ่ายก็มีความสนใจที่จะซื้ออุปกรณ์สมาร์ทโฮมมากขึ้น
รายงานยังระบุว่า สินค้าสมาร์ทโฮมที่ปัจจุบันผู้บริโภคเลือกใช้เพราะมีราคาไม่แพงและคุณภาพสูง ได้แก่ สมาร์ทไลท์ (Smart lights) รองลงมาคือ กล้องวงจรปิด ล็อค ถังขยะที่ใช้เซนเซอร์ในการควบคุม เทอร์โมสตัต ไปจนถึงอุปกรณ์ราคาแพงอื่นๆ แม้กระทั่ง รถยนต์
แนวโน้มตลาดสมาร์ทโฮมในไทย
สำหรับประเทศไทยนั้นต้องยอมรับว่า เทรนด์ของตลาดสมาร์ทโฮมกำลังค่อยๆ เข้ามาจับลูกค้าที่เป็นชนชั้นกลางที่มีรายได้และมีกำลังซื้อ โดยมีการคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฮมในปี 2563 จะสูงถึง 2,500 ล้านบาท โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 40% ต่อปี ซึ่งที่ผ่านมา เราจะเห็นว่ามีผู้เล่นรายใหม่ทั้งในไทยและต่างประเทศเข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาดอุปกรณ์สมาร์ทโฮมเพิ่มขึ้น รวมไปถึงเกิดความร่วมมือใหม่ๆ ระหว่างเจ้าของเทคโนโลยีสมาร์ทโฮม กับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในการสร้างโครงการที่อยู่อาศัยอัจฉริยะ และการพัฒนาแอปพลิเคชันระบบบ้านอัจฉริยะเพื่อดูแลผู้สูงอายุ โดยคาดว่าจะมีความต้องการสูงขึ้น ตามแนวโน้มสังคมผู้สูงอายุของไทยที่กำลังใกล้เข้ามาเรื่อยๆ
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
www.pwc.com