AI แทนที่คนเร็วกว่าที่คิด: ทางออกของพนักงานและองค์กร

Share

Loading

องค์กรต้องทบทวน Job Description ของแต่ละตำแหน่งให้เหมาะสมพร้อมกับจัด Flow กระบวนการทำงานใหม่ที่ต้องทำงานร่วมกับ AI เพื่อให้พนักงานสามารถใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในสิ่งที่ AI ไม่สามารถทำได้ จนไปถึงปรับวิธีการวัดผลงานให้สอดคล้องกัน

AI กับการแทนที่คน

AI ช่วยให้การทำงานที่เคยใช้เวลานานสามารถเสร็จได้ในเวลาไม่กี่วินาที งานที่ต้องทำซ้ำ ๆ งานที่ต้องใช้ความจำหรือการค้นหาจากแหล่งฐานข้อมูลใหญ่ ๆ ไม่ต้องพูดถึง เพราะความสามารถล้ำหน้ามนุษย์ไปนานแล้ว และจากการที่ค่ายเทคโนโลยีต่าง ๆ แข่งกันเปิดตัวสมองเวอร์ชั่นใหม่กันรัว ๆ งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ก็เริ่มทำได้สมบูรณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างก้าวกระโดด จนแซงมนุษย์ที่มีทักษะระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของมนุษย์ด้วยกันเองสำหรับงานในหลายอุตสาหกรรมแล้ว

เห็นความรวดเร็วของพัฒนาการของ GenAI แบบนี้ ผมอดกังวลไม่ได้กับประโยคเคยผมเองก็เคยเขียนไว้ว่า “AI ไม่ได้มาแย่งงานมนุษย์ แต่มนุษย์ที่ใช้ AI เป็น จะแย่งงานมนุษย์ที่ใช้ AI ไม่เป็น“ ซึ่งประโยคแรกอาจเริ่มไม่เป็นจริงแล้ว

วันนี้ผมได้เห็น AI Chatbot ที่ภาษาเริ่มเข้าใกล้คนจริง ทีมงานผมเดโมโดยพิมพ์สด ๆ เข้า Chat 2 หน้าต่างด้วยประโยคเดียวกัน บางคนในห้องเริ่มทายไม่ถูกว่าหน้าต่างไหนคือพนักงานจาก Chat Center หน้าต่างไหนไหนคือบอท ซึ่งความต่างที่เรารู้แน่นอนคือบอทสามารถทำงานได้ 24 ชั่วโมง ตอบคำถามได้ทันทีไม่ดีเลย์ และให้ข้อมูลที่ไม่มีทางผิดพลาด (หากได้รับการอัพเดท Data อย่างถูกต้อง และ Set ให้ไม่ตอบนอกกรอบ)

ที่สำคัญ ไม่ต้องจัดการฝึกอบรมเพื่อทบทวนความจำ เป็นระยะ ๆ หรือกังวลว่าพนักงานที่รับเข้ามาใหม่คุณภาพจะได้มาตรฐานหรือไม่แต่อย่างใด

ผมเห็น AI Dashboard ที่สามารถให้คำแนะนำ CEO ของบริษัท โดยรวมข้อมูลสำคัญครบถ้วนตั้งแต่ยอดขาย ต้นทุน ข้อมูลคลังสินค้า และกิจกรรมการทำงานของพนักงานแผนกต่าง ๆ และแนะนำว่าจุดใดควรเข้ามาโฟกัส พร้อมทางเลือกในการแก้ไขปัญหากับตัวเลขผลกระทบที่ประเมินได้หากเลือกแต่ละทาง ทุกอย่างแบบ Real Time

จากหน้าบ้านที่สัมผัสลูกค้า จนถึงหลังบ้านที่ลึกที่สุดอย่างหน้าจอทำงานของ CEO AI ก็เริ่มเข้ามาแบ่งเบางานได้มากขึ้นเรื่อย ๆ

McKinsey เตือนว่าอาจมีพนักงานทั่วโลกถึง 375 ล้านคนที่จำเป็นต้องเปลี่ยนอาชีพเนื่องจากถูกแทนที่งานด้วย AI

มนุษย์ต้องมองหากิจกรรมใหม่ทำแล้วจริง ๆ

ทางออกของพนักงาน

1 พัฒนาทักษะการใช้ AI: สิ่งที่มาพร้อมกับ AI แน่ ๆ คือความต้องการพนักงานที่มีทักษะสั่งงาน AI ให้ผลิตผลงานให้ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ จนไปถึงทักษะการตรวจงานและเพิ่มคุณภาพของงานที่ได้จาก AI

2 พัฒนาความคิดสร้างสรรค์และความฉลาดทางอารมณ์: ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความสัมพันธ์ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน การช่วยเหลือผู้อื่น การแสดงความเห็นใจ ความเข้าใจผู้อื่น ความมีจริยธรรมและธรรมาภิบาล ยังมีความเสี่ยงต่ำที่จะถูกแทนที่

3 พัฒนาความสามารถในการปรับตัว: ความรวดเร็วของพัฒนาการของ AI มีแนวโน้มก้าวกระโดดขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่อยากถูกแทนที่ ต้องเปิดกว้างและพร้อมปรับตัวอย่างเนื่อง เพราะบรรทัดสุดท้ายของ Job Description คือ “และงานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมาย”

ทางออกขององค์กร

1 ลงทุนการฝึกอบรมการใช้ AI ให้พนักงาน: เพื่อช่วยให้พนักงานสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ โดย Mercer พบว่า 77% ของพนักงานคาดหวังให้องค์กรของพวกเขาจัดการฝึกอบรมเรื่องการทำงานที่ขับเคลื่อนด้วย AI ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรไปพร้อมกัน

2 นิยามบทบาทงานใหม่: องค์กรต้องทบทวน Job Description ของแต่ละตำแหน่งให้เหมาะสมพร้อมกับจัด Flow กระบวนการทำงานใหม่ที่ต้องทำงานร่วมกับ AI เพื่อให้พนักงานสามารถใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในสิ่งที่ AI ไม่สามารถทำได้ จนไปถึงปรับวิธีการวัดผลงานให้สอดคล้องกัน

จากต้นปีที่ผมเคยนับจำนวน AI ที่ช่วยงานผมได้ 8 ตัว ผ่านไป 4 เดือนตอนนี้เพิ่มเป็น 24 ตัวแล้วครับ ด้วยค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ 3 วันครึ่ง

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1127020