‘ไอซ์แลนด์’ เปิดโรงงานเก็บคาร์บอนใหญ่สุดในโลก ความหวังใหม่ลดโลกร้อน?

Share

Loading

  • Climeworks เปิดตัว แมมมอธ (Mammoth) โรงงานดักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ประเทศไอซ์แลนด์ หากเปิดให้บริการเต็มรูปแบบจะสามารถดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 36,000 ตันต่อปี
  • Climeworks ใช้วิธีการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไว้ใต้ดิน โดยผสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำเข้าด้วยกัน แล้วฉีดเข้าไปในหินบะซอลต์ที่ระดับความลึก 1,000 เมตร จากนั้นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะทำปฏิกิริยากับหิน จนกลายเป็นแร่ตระกูลคาร์บอเนตอยู่ใต้ดิน
  • จากการใช้น้ำมันและก๊าซในปัจจุบัน โลกจะต้องกักเก็บหรือกำจัดคาร์บอนประมาณ 32,000 ล้านตัน ถึงจะลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งการกักเก็บก๊าซคาร์บอนใช้ทุนสูงถึง 1,000 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งอาจสูงเกินไปจนไม่คุ้มทุน

เมื่อต้นเดือนพ.ค. 2023 บริษัทเทคโนโลยีสภาพอากาศของสวิส Climeworks เปิดตัว แมมมอธ (Mammoth) โรงงานดักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่เมืองเฮลลิสไฮดิ ประเทศไอซ์แลนด์ โดยใช้กระบวนการดักจบอากาศโดยตรง หรือ DAC และวางจะสร้างโรงงานอีกในหลายพื้นที่ทั่วโลก

DAC เป็นหนึ่งวิธีที่ใช้ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นการกำจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศ แต่ยังคงต้องพิสูจน์ว่าจะสามารถนำไปใช้จริงได้มากเพียงใด และช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้มากเท่าไหร่

Mammoth นับเป็นโรงงาน DAC ขนาดใหญ่ที่สุดที่ดำเนินกิจการอยู่ แต่โดยรวมแล้วถือว่าค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับโครงการอื่น ๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่ของ Climeworks ซึ่งจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าเทคโนโลยีนี้สามารถใช้งานได้จริง และเป็นธุรกิจที่สามารถเติบโตได้

โรงงานดูดคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ย้อนกลับไปในปี 2017 Climeworks กลายเป็นบริษัทแรกที่ให้บริการดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ บริษัทได้พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นอย่างต่อเนื่องจนในปี 2021 ได้เปิด ออร์กา (Orca) โรงงาน DAC สำหรับดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ครั้งแรกในไอซ์แลนด์ โดยมีให้บริการแก่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft

ภายนอกโรงงานจะมีตู้คอนเทนเนอร์แบบแยกส่วนวางเรียงราย พร้อมพัดลมดูดอากาศทำหน้าที่คอยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อดูดก๊าซจนเต็มแล้ว แผ่นกรองอากาศจะได้รับความร้อนประมาณ 100 องศาเซลเซียส ในการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา

เพื่อให้แน่ใจว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับได้จะไม่หลุดออกสู่ชั้นบรรยากาศอีก Climeworks ร่วมมือกับบริษัท Carbfix สตาร์ทอัพในไอซ์แลนด์ ในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไว้ใต้ดิน โดยผสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำเข้าด้วยกัน แล้วฉีดเข้าไปในหินบะซอลต์ที่ระดับความลึก 1,000 เมตร จากนั้นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะทำปฏิกิริยากับหิน จนกลายเป็นแร่ตระกูลคาร์บอเนตอยู่ใต้ดิน

นอกจากนี้ Climeworks ยังใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพที่มีอยู่มากมายและแหล่งกักเก็บคาร์บอนใต้ดินใน เฮลลิสไฮดิ ทำให้ไม่จำเป็นต้องสร้างเครือข่ายท่อขนาดใหญ่สำหรับขนส่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับได้ ตลอดจนมีพลังงานทดแทนในการขับเคลื่อนโรงงาน

ปัจจุบันแมมมอธได้รับการติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์ไปแล้ว 12 ตู้ โดยทาง Climeworks จะติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มอีก 60 ตู้ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2024

หากแมมมอธเปิดให้บริการเต็มรูปแบบจะสามารถดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 36,000 ตันต่อปี คิดเป็นเกือบ 10 เท่าของออร์ก้า แต่ก็ยังไม่มากพอเมื่อเทียบกับปริมาณก๊าซคาร์บอนเกือบ 13 ล้านเมตริกตัน ที่ Microsoft ปล่อยออกมาในปี 2022

ขยายธุรกิจไปยังสหรัฐ

Climeworks และบริษัทเทคโนโลยีด้านสภาพอากาศอื่น ๆ ยังคงเดินหน้าธุรกิจต่อ เพราะเห็นโอกาสทางธุรกิจ โดยเฉพาะในสหรัฐ ที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จัดสรรเงินทุนจำนวน 35,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว เพียงพอสำหรับสร้างฮับโรงงาน DAC อย่างน้อย 4 แห่ง

ในตอนนี้ได้คัดเลือกโครงการขนาดใหญ่ 2 แห่ง สำหรับเงินทุนมูลค่า 12,000 ล้านดอลลาร์แล้ว โดยตั้งเป้าไว้ว่าฮับเหล่านี้จะสามารถดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างน้อย 1 ล้านเมตริกตันต่อปี

Climeworks กำลังพัฒนาโครงการริเริ่มที่ใช้เทคโนโลยี DAC ในรัฐลุยเซียนา โดยที่ยังคงมี Microsoft เป็นลูกค้าหลักเหมือนเดิม พร้อมกับตั้งสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ในรัฐเท็กซัส เมื่อต้นปี 2024 เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจในสหรัฐ รวมถึงกำลังพัฒนาโครงการในนอร์เวย์ เคนยา และแคนาดา

อย่างไรก็ตาม สภาพภูมิประเทศของสหรัฐไม่ได้เหมือนกับไอซ์แลนด์ การจะสร้างโรงงาน DAC ที่นี่ ต้องเผชิญกับต้นทุนสูง และการให้พลังงานที่ก่อให้เกิดมลพิษ อีกทั้งอาจจะเกิดการต่อต้านการสร้างท่อลำเลียงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง

ดักจับคาร์บอน การลงทุนที่ไม่คุ้มค่า?

DAC และ การดักจับและกักเก็บคาร์บอนรูปแบบอื่น ๆ มักถูกมองว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และมีบทบาทสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรม แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าเทคโนโลยีเหล่านี้อาจไม่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างรวดเร็วและจำนวนมาก จนลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ด้วยซ้ำ

องค์การพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA ประมาณการว่า จากการใช้น้ำมันและก๊าซในปัจจุบัน โลกจะต้องกักเก็บหรือกำจัดคาร์บอนประมาณ 32,000 ล้านตัน เพื่อรักษาอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส แต่ปัจจุบันสามารถกักเก็บคาร์บอนทั่วโลกเพียง 45 ล้านตันต่อปีเท่านั้น และอาจจะไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ไม่มากนัก

OceanCare องค์กรอนุรักษ์ทะเล เปิดเผยว่า โรงงานออร์ก้า ของ Climeworks ใช้ต้นทุนมูลค่ามากกว่า 1,000 ดอลลาร์ ในกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ตัน ซึ่งดูแล้วอาจจะเป็นตัวเลขสูงเกินไปจนแทบไม่คุ้มทุน แต่บริษัทกล่าวว่ากำลังพยายามลดต้นทุนของเทคโนโลยีลงเหลือ 400-600 ดอลลาร์ต่อตันภายในปี 2030

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/environment/1128476