พาณิชย์ ชี้ Climate Tech เทรนด์เทคโนโลยี โอกาสและความท้าทายธุรกิจไทย

Share

Loading

สนค. ติดตาม Climate Tech เทรนด์เทคโนโลยีและธุรกิจเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ช่วยสร้างโอกาสทางการค้าและธุรกิจรูปแบบใหม่ พร้อมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในอนาคต แนะทุกภาคส่วนร่วมผลักดัน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น และก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อผู้คน สิ่งมีชีวิต ธรรมชาติ รวมถึงภาครัฐและภาคธุรกิจ จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Tech ซึ่งหมายถึง ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้สำหรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ บรรเทาหรือเพิ่มความยืดหยุ่นต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้อย่างยั่งยืน

โดยClimate Tech เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ จากรายงานของบริษัทที่ปรึกษา McKinsey คาดการณ์ว่า Climate Tech อาจช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 60% ของปริมาณการปล่อยทั้งหมด นอกจากนี้ Climate Tech ยังเป็นภาคธุรกิจที่กำลังเติบโต และจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั่วโลกในอนาคต

ทั้งนี้ Statista ซึ่งเป็นบริษัทที่รวบรวมข้อมูลสถิติหลายประเด็นทั่วโลก คาดการณ์ว่า ในปี 2566 ตลาด Climate Tech ทั่วโลก มีมูลค่าประมาณ 2.03 หมื่นล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอีก 10 ปีข้างหน้า ทำให้ในปี 2576 อาจมีมูลค่าสูงถึง 1.83 แสนล้านดอลลาร์โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 24.5%  ต่อปี ด้าน McKinsey ระบุว่า Climate Tech จะช่วยพัฒนาศักยภาพและโอกาสทางการค้าและการลงทุนของแต่ละประเทศ เนื่องจาก Climate Tech อาจช่วยดึงดูดเงินลงทุนทั่วโลกได้มากถึง 1.5 – 2 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ภายในปี 2567

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า  การเติบโตของตลาด Climate Tech เป็นผลมาจากหลายปัจจัย อาทิ  ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น กระตุ้นความต้องการเทคโนโลยีสำหรับป้องกันและแก้ไขปัญหา  ความตระหนักของผู้บริโภค ทำให้ความต้องการสินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้นโยบายและมาตรการภาครัฐ ที่สนับสนุนการเงิน ลดหย่อนภาษี ส่งเสริมการลงทุน อำนวยความสะดวกด้านกฎหมาย รวมถึงกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งกลไกราคาคาร์บอน ซึ่งช่วยกระตุ้นภาคเอกชนให้หาแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ โครงสร้างพื้นฐานที่รองรับ Climate Tech โดยเฉพาะระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) โครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และระบบขนส่งสาธารณะ

Climate Tech ยังสร้างโอกาสด้านอื่น ๆ อาทิ การพัฒนานวัตกรรมสำหรับแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม การสร้างงานในการผลิต การติดตั้ง และการบำรุงรักษา การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร รวมถึงโอกาสในการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ อาทิ บริษัท Climeworks จากสวิตเซอร์แลนด์ เป็นธุรกิจบริการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) ได้พัฒนาเครื่องมือและวิธีการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บอากาศโดยตรง ซึ่งสามารถนำไปใช้ชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และช่วยให้แต่ละประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ได้

ขณะที่บริษัท Sonnen จากเยอรมนี ให้บริการออกแบบและติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ในครัวเรือน และก่อตั้ง SonnenCommunity ที่รับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์ส่วนเกินจากครัวเรือนในหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่ส่วนกลาง และบริษัท Nest จากสหรัฐอเมริกา ในเครือของ Google เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าสำหรับบ้านอัจฉริยะ (Smart Home) รวมถึงให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลนิสัยของผู้อยู่อาศัยด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และจัดทำตารางเวลาสำหรับปรับอุณหภูมิภายในบ้าน เพื่อลดการใช้พลังงานและลดค่าใช้จ่ายภายในบ้าน

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า  ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างนวัตกรรมที่ช่วยกระตุ้นการค้า การลงทุน ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อม จึงได้บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยจัดทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาเชื่อมโยงการค้า การตลาด การวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “Innovation for Sustainable Trade ส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อการค้าที่ยั่งยืน” เพื่อส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มปริมาณผลผลิต และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศของไทย

“ในอนาคตอันใกล้นี้ Climate Tech จะกลายเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีและธุรกิจสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ ที่สร้างโอกาสทางธุรกิจและก่อให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่อีกมากมาย “นายพูนพงษ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ธุรกิจ Climate Tech ยังต้องเผชิญกับความท้าทายอยู่ โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีราคาแพง และทักษะของแรงงาน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนากลไก นโยบาย และโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ Climate Tech ซึ่งจะขับเคลื่อนและยกระดับภาคธุรกิจไทยสู่การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมุ่งสร้างเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/environment/1129983