เจาะลึกพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยี ในยุค AI พุ่งทะยานรุกโลกการทำงาน

Share

Loading

ผลสำรวจ Work Trend Index เผย พนักงานคนไทยกว่า 92% ได้นำนวัตกรรม AI มาใช้ในการทำงานแล้ว ขณะที่ผู้บริหารในไทยกว่า 64% ยังมีความกังวลว่าองค์กรของตนยังขาดแผนงานและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในด้านการนำ AI มาใช้ ซึ่งเป็นหนึ่งในโจทย์ใหญ่ที่ผู้บริหารและองค์กรต้องก้าวผ่านไปให้ได้

ในปัจจุบัน Generative AI เป็นเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับและนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายในที่ทำงาน จะเห็นได้ว่าพนักงานส่วนใหญ่เลือกนำ AI มาช่วยสะสางภาระงานในแต่ละวัน โดยที่ไม่ได้รอดูว่าองค์กรจะมีเครื่องมือ บริการ วิสัยทัศน์หรือแนวทางการใช้งานอย่างไร ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารจะต้องเร่งตอบสนองต่อปรากฏการณ์นี้ เพื่อให้องค์กรและพนักงานได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้งาน AI ทั้งในเชิงประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น และการพัฒนาขีดความสามารถใหม่ๆ ควบคู่ไปกับความปลอดภัยที่เพิ่มสูงขึ้นจากแนวทางและนโยบายด้านการใช้ AI ที่ชัดเจน ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย จึงร่วมกับ LinkedIn เผยผลงานวิจัย Work Trend Index 2024 เปิดข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับสถานะความคืบหน้าของคนทำงานในประเทศไทยและทั่วโลก ในการนำนวัตกรรม AI มาใช้ในที่ทำงาน

รายงาน Work Trend Index 2024 รวบรวมข้อมูลจากการสำรวจพนักงานและผู้บริหารกว่า 31,000 คน ใน 31 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย พร้อมด้วยแนวโน้มตลาดแรงงานและเทรนด์การจ้างงานผ่านทาง LinkedIn รวมถึงข้อมูลที่เก็บรวบรวมมานับล้านล้านรายการจากการใช้งาน Microsoft 365 และการศึกษาวิจัยลูกค้าของบริษัทที่อยู่ใน Fortune 500 เพื่อแสดงให้เห็นว่า ในช่วงระยะเวลาเพียง 1 ปีที่ผ่านมา นวัตกรรม AI ได้มีอิทธิพลต่อรูปแบบการทำงาน การบริหาร และการจ้างงานของผู้คนทั่วโลก

ปี 2024 ถือเป็นปีของ AI เพื่อการทำงานอย่างแท้จริง หลังจากที่มีพนักงานทั่วโลกนำ Generative AI มาใช้ทำงานเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ใช้ LinkedIn จำนวนไม่น้อยได้นำเอาทักษะความสามารถที่เกี่ยวกับ AI มาเพิ่มเติมลงในเรซูเม่ของตนมากขึ้น ทางด้านผู้บริหาร ส่วนใหญ่มีมุมมองว่าจะไม่จ้างผู้สมัครที่ไม่มีทักษะด้าน AI แต่ขณะเดียวกัน ผู้บริหารจำนวนมาก ทั้งในเอเชียและทั่วโลก ยังคงกังวลเกี่ยวกับการขาดวิสัยทัศน์ด้าน AI ของบริษัท และการที่พนักงานนำเครื่องมือ AI ส่วนตัวมาใช้ในสถานที่ทำงาน ด้วยเหตุนี้ ผู้บริหารในหลายองค์กรจึงต้องเผชิญความยากลำบากกับการปรับตัว เมื่อการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ต้องเปลี่ยนผ่านจากช่วงการทดลองใช้งาน ไปสู่การสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

ทั้งนี้ รายงานการสำรวจ Work Trend Index 2024 ได้สรุปข้อมูลเชิงลึกใน 3 ประเด็นที่มีความสำคัญอย่างมากต่อทั้งผู้บริหารและพนักงานในประเทศไทย และสะท้อนถึงผลกระทบของ AI ที่มีต่อการทำงานและตลาดแรงงานตลอดทั้งปีนี้

1.พนักงานต้องการนำนวัตกรรม AI มาช่วยในการทำงาน โดยไม่รอให้บริษัทมีความพร้อม

ผลสำรวจ Work Trend Index เผยว่าพนักงานคนไทยกว่า 92% นำนวัตกรรม AI มาใช้ในการทำงานแล้ว ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 75% โดยในกลุ่มผู้ใช้งาน AI ยังพบอีกว่า 81% เลือกนำเครื่องมือ AI ของตนเองมาใช้งาน จนเกิดเป็นกระแสที่เรียกได้ว่า Bring Your Own AI (BYOAI) ซึ่งอาจทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการใช้งาน AI อย่างไม่เต็มที่ เนื่องจากยังขาดทิศทางและกลยุทธ์ในระดับองค์กร และยังเสี่ยงต่อการรั่วไหลของข้อมูล

แนวโน้มการนำ AI มาใช้ในที่ทำงานนี้ อาจเป็นผลมาจากภาระงานที่พนักงานแต่ละคนต้องแบกรับ โดย 68% ของพนักงานทั่วโลกระบุว่าพวกเขาต้องเจอกับปัญหาในการทำงานจำนวนมากให้เสร็จทันเวลา ดังนั้น AI จึงเป็นตัวช่วยประหยัดเวลา เสริมความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งทำให้มีเวลาจดจ่อกับเนื้องานในส่วนที่สำคัญที่สุดได้มากขึ้น

ทางด้านผู้บริหาร พบว่า 91% ของผู้บริหารในประเทศไทยเชื่อว่าบริษัทของตนจำเป็นต้องนำนวัตกรรม AI มาใช้เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันกับตลาด ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 79% แต่ยังมีผู้บริหารในประเทศไทยกว่า 64% ที่มีความกังวลว่าองค์กรของตนยังขาดแผนงานและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในด้านการนำ AI มาใช้ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเล็กน้อยที่ 60% นอกจากนี้ ผู้บริหารจำนวนไม่น้อยยังพบกับอุปสรรคในการประเมินผลลัพธ์ที่ได้รับจากการใช้ AI ออกมาเป็นตัวเลขหรือตัวเงิน ซึ่งเป็นหนึ่งในโจทย์ที่ผู้บริหารและองค์กรยังต้องก้าวผ่านไปให้ได้

2.ผู้ใช้งาน AI ในระดับ Power Users มีเพิ่มมากขึ้น  และอาจช่วยปลดล็อกเส้นทางสู่ความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ผลสำรวจได้เผยให้เห็นถึงความแตกต่างในพฤติกรรม AI ของกลุ่มพนักงานที่เป็น AI Power Users หรือผู้ใช้งาน AI ระดับสูง มักจะนำเครื่องมือและบริการ AI ต่างๆ มาปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานในแต่ละวัน และสามารถลดเวลาที่ใช้ทำงานที่มีอยู่เดิมลงได้วันละ 30 นาที หรือเฉลี่ยออกมาเป็น 10 ชั่วโมงต่อเดือน

ในประเทศไทย กว่า 86% ของพนักงานกลุ่มนี้เลือกที่จะเริ่มและจบวันทำงานด้วย AI สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของ AI Power Users ทั่วโลกที่ 85% แต่ในทางกลับกัน ผู้ใช้ AI ระดับสูงในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะทดลองใช้ AI ในรูปแบบหรือวิธีการใหม่ๆ เพียง 45% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระดับโลกที่ 68%

นอกจากนี้ โครงสร้างในการสนับสนุนการใช้งาน AI ในองค์กรไทยมีความแตกต่างอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลจากทั่วโลก โดยกลุ่ม AI Power Users ในไทย มีเพียง 28% เท่านั้นที่มีโอกาสได้ฟังเนื้อหาสาระหรือความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับบทบาทของ AI ในการทำงานจากแผนกหรือฝ่ายที่ตนเองทำงานอยู่ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 40% ขณะที่ด้านการเรียนรู้และฝึกอบรมทักษะเพิ่มเติม พบว่ามีผู้ใช้งาน AI ระดับสูงในประเทศไทยเพียง 22% เท่านั้นที่ได้รับโอกาสจากองค์กรให้ฝึกฝนทักษะด้าน AI เพิ่มเติม เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 42%

3.AI กลายเป็นมาตรฐานใหม่ด้านทักษะ และช่วยทำลายขีดจำกัดในสายอาชีพ

ทักษะการใช้งาน AI ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในตลาดแรงงานไปแล้ว ทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก โดยผู้บริหารในไทยกว่า 74% ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะทางด้าน AI ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 66% นอกจากนี้ หากต้องเลือกระหว่างทักษะ AI กับประสบการณ์การทำงาน ผู้บริหารไทยกว่า 90% ก็เลือกที่จะจ้างพนักงานที่มีประสบการณ์น้อย แต่มีทักษะด้านการใช้ AI แทนที่จะเลือกพนักงานที่มีประสบการณ์สูงกว่า แต่ขาดทักษะในด้านนี้ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 71%

ในด้านแนวโน้มการจ้างงาน ผลสำรวจระบุว่าผู้บริหารทั่วโลกราว 55% มีความกังวลว่าจะเผชิญสภาวะการขาดแคลนแรงงานที่มีความสามารถในปีนี้ โดยเฉพาะในสาขาความปลอดภัยทางไซเบอร์ วิศวกรรม และการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสาขาที่กังวลว่าจะขาดแคลนมากที่สุด

ข้อมูลทั่วไป เจาะลึกตลาดแรงงานจาก LinkedIn
  • Generative AI ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับเนื้องานและส่งผลกระทบต่อทักษะที่จำเป็นในการก้าวสู่ความสำเร็จ ถึงแม้ว่าเราเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับ AI แล้ว แต่ความสำคัญของทักษะด้านบุคคลก็ยังคงเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
  • ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คาดการณ์ว่าทักษะที่ใช้ในการทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปมากถึง 68% ภายในปี 2030 โดยเป็นผลพวงมาจาก AI / GenAI
  • ผู้บริหารหรือนายจ้างในประเทศไทยต้องการให้พนักงานมีทั้งทักษะอย่างสมดุล ทั้งในด้านฮาร์ดสกิล (Hard Skill) และซอฟท์สกิล (Soft Skill) ซึ่งซอฟท์สกิลสำคัญที่ผู้บริหารต้องการ ได้แก่ การสื่อสาร (Communication) ทักษะการวิเคราะห์ (Analytical Skills) ภาวะผู้นำ (Leadership) และการแก้ปัญหา (Problem Solving)
  • คนทำงานในประเทศไทยต่างรับรู้ถึงแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงนี้ และกำลังเดินหน้าเสริมทักษะที่ผู้บริหารและนายจ้างให้ความสำคัญ
  • ทักษะที่ผู้ใช้งาน LinkedIn ในประเทศไทย เพิ่มเติมลงในโปรไฟล์ของตนเองมากที่สุด ได้แก่ การคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking) การบริหารความสัมพันธ์ผู้มีส่วนได้ส่วนสีย (Stakeholder Management) การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) การใช้งาน AI (Artificial Intelligence) และการวิเคราะห์ธุรกิจ (Business Analysis)
  • สำหรับความแพร่หลายของทักษะด้าน AI ในประเทศไทย นับว่ายังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก แต่แนวโน้มความสนใจที่จะพัฒนาทักษะในด้านนี้กำลังเติบโตขึ้นอย่างทวีคูณ โดยหลักสูตรจาก LinkedIn Learning ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศไทย รวมไปถึงหลักสูตรซอฟท์สกิลอย่าง พื้นฐานการสื่อสาร (Communication Foundations) เทคนิคการแก้ไขปัญหา (Problem-Solving Techniques) และ การพูดอย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ (Speaking Confidently and Effectively) โดยหลักสูตรที่ได้รับความนิยมสูงสุดยังคงเป็นคอร์สทักษะด้าน Generative AI
  • คนทำงานในประเทศไทยไม่เพียงมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตนเองให้ตามทันเทรนด์ใหม่นี้ แต่ยังพร้อมเปิดรับโอกาสใหม่ๆ ในการทำงานอีกด้วย โดยพบว่ามีผู้ใช้ LinkedIn กว่า 36 ล้านคนทั่วโลกที่ระบุสถานะในโปรไฟล์ของพวกเขาว่า พร้อมรับโอกาสใหม่ๆ
  • 77% ของผู้ใช้ LinkedIn ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กำลังมองหางานใหม่ในปีนี้
  • ประเทศไทยยังคงมีอัตราการว่างงานในระดับต่ำ แต่ความเคลื่อนไหวที่เพิ่มขึ้นในการมองหางานใหม่ก็บ่งชี้ว่าคนทำงานยังคงมองหาโอกาสใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการของพวกเขา โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ค่าจ้างที่สูงขึ้น (41%) และความสมดุลของชีวิตการทำงาน (36%) เป็นเหตุผลหลักที่พนักงานนำมาพิจารณาในการเปลี่ยนงาน

แหล่งข้อมูล

https://www.posttoday.com/smart-life/710332