‘เทคโนโลยีทางการแพทย์’ ตัวเปลี่ยนเกม ดึงเม็ดเงิน Medical Hub เข้าไทย!

Share

Loading

ธปท.รวบรวมข้อมูลระบุ Medical Hub ไทยมุ่งการรักษาไม่ซับซ้อน เน้นด้านบริการมากกว่าใช้เทคโนโลยีรักษา ในขณะที่ผู้ป่วยที่ต้องการใช้บริการเพราะต้องการการรักษาที่ดีกว่า แม้ไทยจะอยู่ลำดับที่ 17 ด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดประชุมชี้แจงการเก็บแบบสำรวจข้อมูลสถานพยาบาลในเชิงเศรษฐกิจสุขภาพ รองรับนโยบาย Medical Hub ปี 2566 โดยรายงานมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

ไทยอยู่ลำดับที่ 17 Medical Tourism Index

จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า GHA ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่รับรองคุณภาพและกำหนดมาตรฐานของ Medical Travel Service สำหรับสถานพยาบาลชั้นนำในประเทศต่างๆ ได้จัดทำ Medical Tourism Index (MTI) ปี 2020-2021 ของประเทศที่ให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยต่างชาติ โดยประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 17

สำหรับ Medical Tourism Index (MTI) คือ เครื่องมือที่มีการวัดและเปรียบเทียบความน่าสนใจของประเทศต่างๆ ในการเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ โดยมีการประเมินและจัดอันดับประเทศตามปัจจัย 3 ข้อหลักๆ คือ

1 สภาพแวดล้อมของจุดหมายปลายทาง (Destination Environment)  ประเมินความน่าดึงดูดและความปลอดภัยของจุดหมายปลายทาง รวมถึงเสถียรภาพทางการเมือง สภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ และความน่าสนใจของการท่องเที่ยว

2 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism Industry)  ประเมินคุณภาพและชื่อเสียงของสถานพยาบาลในประเทศนั้นๆ การมีบริการทางการแพทย์เฉพาะทาง ต้นทุนของบริการสุขภาพ และโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์

3 คุณภาพของสถานพยาบาลและบริการ (Quality of Facilities and Services) เน้นที่มาตรฐานของการรักษาพยาบาล คุณวุฒิและความเชี่ยวชาญของบุคลากรทางการแพทย์ ความพึงพอใจของผู้ป่วย และการรับรองคุณภาพของสถานพยาบาล

โดย TOP 5 ของ Medical Hub โลกจากการจัดอันดับครั้งนี้ ได้แก่

  1. แคนาดา
  2. สิงคโปร์
  3. ญี่ปุ่น
  4. สเปน
  5. อังกฤษ

โดยการจัดอันดับดังกล่าวไม่ได้รวมสหรัฐอเมริกาในการจัดลำดับ ซึ่งสหรัฐอเมริกานั้นเป็นเบอร์หนึ่งของ Medical Hub ด้วยโรงพยาบาลชั้นนำที่มีนวัตกรรมทางการแพทย์อย่างยอดเยี่ยมมาโดยตลอด  และเมื่อลงเจาะลึกเข้าไปก็พบว่าบริการและการรักษาที่ชาวต่างชาตินิยมเข้ารับการรักษาที่ไทย คือ ศัลยกรรมความงาม ทันตกรรม และศัลยกรรมกระดูก

ในขณะเดียวกัน เมื่อสำรวจประเทศใกล้เคียงอย่างสิงคโปร์ซึ่งเป็น TOP จากการจัดอันดับใน MTI แต่มีผู้เข้ารับบริการในปี 2018 อยู่ที่ 450,000 คนเมื่อเทียบกับประเทศไทยที่ 2.5 ล้านคนต่อปี

รายรับมาจากตะวันออกกลางและเอเชีย

จากข้อมูลของ Medical Tourism Association ได้ประเมินว่าในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้ป่วยเดินทางไปรับบริการทางการแพทย์ในต่างประเทศประมาณปีละ 14 ล้านคน ขณะที่ Allied Market Research ระบุว่า Medical Tourism ของโลกมีมูลค่าก่า 3.77 ล้านล้านบาทในปี 2566 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 8.5 ล้านบาทหรือมากกว่า 2 เท่าในปี 2570 และประเทศไทยครองส่วนแบ่งในสัดส่วนราว 9% หรือประมาณ 3.1 แสนล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 7.6 แสนล้านบาทในปี 2570 เช่นกัน

โดยสาเหตุที่การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เกิดจากค่ารักษาพยาบาลในประเทศที่พัฒนาแล้วมีราคาสูง ขณะที่คุณภาพการรักษาในบางประเทศอยู่ในระดับที่เทียบเคียงได้ แต่กลับมีราคาที่ต่ำกว่าค่อนข้างมาก

เมื่อมองผลสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งสำรวจสถานพยาบาลเอกชน 95 แห่งที่มีศักยภาพในการให้บริการผู้ป่วยต่างชาติทั่วประเทศไทย พบว่า รายรับส่วนใหญ่มาจากตะวันออกกลางและเอเชีย โดยเป็นประเทศคูเวตที่ 19% ตามมาด้วยกาต้าร์และเมียนมาร์ที่ 10% ตามด้วย UAE กัมพูชา และอื่นๆ โดยส่วนใหญ่จะเป็นรายรับที่ได้จากแผนก IPD หรือผู้ป่วยในอยู่ที่ 18,751 ล้านบาท และผู้ป่วยนอก 15,337 ล้านบาท (ในปี 2565 ) ซึ่งผู้ป่วยนอกนั้นมีแนวโน้มที่จะเป็น Expat หรือนักท่องเที่ยวที่เจ็บป่วย/บาดเจ็บระหว่างเดินทาง ในขณะที่รายรับยังกระจุกตัวอยู่ที่พื้นที่กรุงเทพมหานครราว 28,972 ล้านบาท

ปัญหาและความท้าทายต่อนโยบาย Medical Hub ไทย

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับความต้องการของผู้ป่วยที่เดินทางไปรับบริการทางการแพทย์ในต่างประเทศของ Medical Tourism Association พบว่า 56% ต้องการการรักษาที่ดีขึ้น 22% ต้องการจ่ายค่ารักษาพยาบาลน้อยลง 18% ต้องการการรักษาที่ไม่มีอยู่ในประเทศของตนเอง 10% ต้องการการรักษาทันทีเพราะต้องใช้ระยะเวลานานในการรักษาในประเทศของตนเอง ซึ่งปัจจัยด้านความสะดวกสบายในการรักษา ค่าใช้จ่ายเดินทาง เรื่อง Visa หรือเรื่องประเภทที่พักอาศัย เป็นปัจจัยอื่นๆ รองลงมา

จากการสำรวจนี้ จึงพบว่าปัญหาที่ไทยยังคงต้องได้รับการพัฒนาหากอยากจะผลักดัน Medical Hub ให้ไปไกลกว่าเดิมคือ

1 ปัญหาด้านโครงสร้างที่ไทยมุ่งเน้นการรักษาที่ไม่ซับซ้อน เน้นจุดเด่นด้านการบริการมากกว่าการใช้เทคโนโลยีและการรักษาที่อาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เนื่องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมีจำกัด และยังมีการนำเข้ายาและเวชภัณฑ์อยู่ในระดับสูงซึ่งมีผลต่อค่ารักษา ซึ่งประเด็นนี้จึงขัดต่อความต้องการของผู้ป่วยในสองข้อแรก ที่ต้องการการรักษาที่ดีและค่ารักษาพยาบาลที่น้อยลงอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นจึงควรส่งเสริมระบบนิเวศของ Health Tech ให้มากขึ้น มุ่งสู่การแพทย์เฉพาะทาง การแพทย์จีโนมิกส์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ยุคใหม่ให้มากขึ้น    นอกจากนี้จะพบว่า Health Tech หรือเทคโนโลยีทางการแพทย์นั้นมีขอบเขตที่ค่อนข้างกว้าง ซึ่งสามารถต่อยอดได้ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์และการบริการ เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์การรักษาและการวินิจฉัย AIทางการแพทย์ การแพทย์ทางไกล เทคโนโลยีด้านชีววิทยา ฯลฯ

2 ต้องพบเจอกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นระหว่างประเทศในภูมิภาคที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เป็นอุตสาหกรรมดาวเด่นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะสิงคโปร์ มาเลเซีย และเกาหลีใต้

3 ปัจจัยด้านการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ที่เป็นตัวดึงดูดให้ผู้ป่วยเดินทางมาไทย เที่ยวด้วยตรวจเช็คร่างกายด้วยไปพร้อมๆ กัน

อย่างไรก็ตามด้วยส่วนแบ่งการตลาดของโลกที่มากกว่า 3.7 ล้านล้านบาทในปี 2566  หลายโรงพยาบาลเอกชนในไทยซึ่งมีความพร้อมในการรักษาผู้ป่วยต่างชาติ ก็มีกลยุทธ์ให้บริการเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างจุดขายให้แก่โรงพยาบาลของตนเอง อย่างเช่น การจัดตั้งศูนย์ผู้รักษามีบุตรยาก การนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้งาน หรือการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ การให้บริการด้านการแพทย์จีโนมิกส์ หรือศูนย์ให้บริการด้านชะลอวัย  ฯลฯ  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเทคโนโลยีหรือยารักษาจากต่างประเทศ เพราะก็ต้องยอมรับว่าการลงทุนด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ หรือยาแต่ละตัวนั้นมีมูลค่ามหาศาล ซึ่งไทยยังเป็นประเทศที่ต้องได้รับการสนับสนุนอีกมากจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และภาคประชาชน

แหล่งข้อมูล

https://www.posttoday.com/smart-life/710439