‘การ์ทเนอร์’ เจาะแนวคิด ‘ซีอีโอ’ ‘ความยั่งยืน’ ตัวแปรความสำเร็จธุรกิจ

Share

Loading

  • ความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญ 10 อันดับแรกของการทำธุรกิจ
  • พฤติกรรมที่ไม่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมีราคาที่ต้องจ่ายมหาศาล
  • เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนผลลัพธ์ด้านการเงินและความยั่งยืน

“การ์ทเนอร์” โชว์ผลสำรวจซีอีโอล่าสุด พบผู้บริหารระดับสูงทั่วโลกกว่า 69% เห็น “ความยั่งยืน” คือโอกาสการเติบโตทางธุรกิจที่สำคัญในปีนี้

คริสติน โมเยอร์ รองประธานฝ่ายนักวิเคราะห์ การ์ทเนอร์ กล่าวว่า ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กำหนดกรอบแข่งขันของการปรับกลยุทธ์ระยะยาวของบรรดาซีอีโอทั่วโลก

แม้ว่าจะมีการฟอกเขียว หรือ Greenwash ในองค์กรต่างๆ จำนวนมาก ทว่าสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันยังคงเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดกระแสการวกกลับของความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) รวมถึงการมุ่งเน้นการทำธุรกิจที่สร้างผลกำไร

ผลสำรวจความคิดเห็นซีอีโอและผู้บริหารระดับสูงของการ์ทเนอร์ในหลากหลายอุตสาหกรรมระบุว่า “ความยั่งยืน” ยังเป็นปัจจัยสำคัญของการทำธุรกิจ 10 อันดับแรกอย่างต่อเนื่อง

โดยปีนี้แซงหน้าทั้งเรื่องผลิตภาพ (Productivity) และประสิทธิภาพ (Efficiency) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้นำและนักลงทุนต่างทราบดีว่าองค์กรที่มีพฤติกรรมที่ไม่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมเป็นความเสี่ยงที่สร้างผลกระทบระยะกลางถึงระยะยาวต่อผลลัพธ์ทางธุรกิจ

ขณะเดียวกัน มีราคาที่ต้องจ่ายมหาศาลหากละเลยปัจจัยในด้านสิ่งแวดล้อม อีกทางหนึ่งซีอีโอที่มีความเฉลียวฉลาดจะตระหนักดีว่าความท้าทายด้านความยั่งยืนครั้งใหญ่นี้จะสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มขึ้นด้วย

ปูทางด้วย ‘เทคโนโลยี’

การสำรวจพบว่า แนวทางหลักที่ซีอีโอใช้ความยั่งยืนขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจ 5 อันดับแรก ได้แก่ การใช้ผลิตภัณฑ์และบริการที่ยั่งยืน (33%) ยึดแนวทางปฏิบัติทางธุรกิจที่ยั่งยืน (18%) สร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (18%) และมุ่งลดการปล่อยคาร์บอน (18%) โดยการลงทุนด้านนวัตกรรมและดิจิทัลอยู่ในอันดับที่เก้าที่ 8%

อย่างไรก็ดี นอกจากการปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายต่างๆ อย่างการเปิดรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ และการสร้างช่องทางรายได้ใหม่ๆ “เทคโนโลยีดิจิทัล” มีบทบาทสำคัญในการเร่งการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน

ตามรายงานของการ์ทเนอร์เผยให้เห็นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนผลลัพธ์ด้านการเงินและความยั่งยืน ตัวอย่างเช่น อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT), ข้อมูลและการวิเคราะห์ (Data & Analytics) ที่สามารถปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม ช่วยลดต้นทุนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

โดยมี AI และ IoT คอยช่วยลดต้นทุนของอาหารและขยะที่สูญไป ขณะที่ตลาดในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)สามารถสร้างรายได้ใหม่และลดขยะไปพร้อมๆ กัน

กระทบ ‘ห่วงโซ่อุปทาน’

การ์ทเนอร์รายงานว่า ซีอีโอ 54% ระบุว่าธุรกิจของพวกเขาได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระดับปานกลางเป็นอย่างต่ำ และมากกว่าครึ่งหนึ่ง (51%) ยอมรับว่าสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาต้องอยู่ในขั้นของการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานหรือปรับเปลี่ยนไปแล้ว

“ซีอีโอเห็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังทำให้สภาพอากาศแปรปรวนและกระทบตรงๆ ต่อการดำเนินธุรกิจของพวกเขาแล้ว และการดำเนินงานจะต้องปรับเปลี่ยนใหม่ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห่วงโซ่อุปทาน”

สำหรับ ผลกระทบใหญ่ที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ซีอีโอกล่าวถึงคือ พลวัตการดำเนินงาน (30%) โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านโลจิสติกส์

เช่น การจัดเก็บสินค้า การกำหนดเวลา และกำหนดเส้นทางการจัดส่ง หรือการย้ายสถานที่ (ซึ่งรวมถึงการทำงานในพื้นที่ใกล้เคียง) อยู่ในอันดับสอง (14%) รองลงมาคือระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยี และข้อมูล (13%)

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1133121