5 เมืองยั่งยืน จากทั่วโลก ต้นแบบการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสีเขียว

Share

Loading

ในวันนี้ หากชวนคนทั่วไปพูดคุยถึงประเด็นเรื่อง “ภาวะโลกร้อน” ที่พัฒนาเป็น “ภาวะโลกเดือด” เชื่อว่าหลายคนเริ่มมีความสนใจและรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องปรับพฤติกรรมหรือทำอะไรสักอย่างเพื่อร่วมบรรเทาวิกฤตการณ์นี้กันแล้ว เหตุผลหลักที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะผลกระทบที่แต่ละคนได้รับจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกนั้น ทวีความน่ากลัวขึ้นทุกวัน

ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติแทบทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันให้ใครได้ตั้งตัว ไปจนถึงสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นทุกปี อย่างช่วงเดือนเมษายนของ ปี 2024 ซึ่งเป็นช่วงที่อุณหภูมิสูงขึ้นจนทำลายสถิติ นี่ยังไม่รวมถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ที่เราสังเกตเห็นได้ด้วยตาอย่าง ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว บทลงโทษที่กล่าวมานี้เองเป็นสาเหตุสำคัญให้หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกหันว่าเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในเมืองให้กลายเป็น “เมืองยั่งยืน”

กลไก นวัตกรรม เทคโนโลยี ที่ทำให้เกิดความยั่งยืนได้รับการคิดค้น ต่อยอด นำไปปรับใช้ อย่างจริงจังในเมืองต่างๆ ทั่วโลก ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การทำให้การดำเนินชีวิตของมนุษย์เป็นมิตรกับโลกใบนี้มากขึ้น ช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ให้กลับมาสวยงามดังเดิม และไม่ใช่เพียงเท่านั้น นอกจากในแง่สิ่งแวดล้อมแล้ว “ความยั่งยืน” ยังรวมไปถึงเรื่องความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ อาหาร และองค์กรอีกด้วย ซึ่งการปรับเปลี่ยนทุกด้านนี้เองที่จะช่วยสร้างอีโคซิสเตมสีเขียว ที่จะช่วยโลกใบนี้ไว้ได้

และที่ผ่านมา มีต้นแบบเมืองใหญ่ทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับการสร้าง เมืองยั่งยืน และประสบความสำเร็จน่าชื่นชม มาในวันนี้ เว็บไซต์ TAT Academy ได้นำเสนอบทความเรื่อง “สำรวจ 5 เมืองยั่งยืน กับแนวทางเป็นมิตรต่อโลก” เพื่อถอดบทเรียนกลยุทธ์ วิธีการต่างๆ ที่เมืองเหล่านั้นใช้ ซึ่งหลายเรื่องสามารถนำมาปรับใช้เพื่อสร้างเมืองใหญ่ในประเทศไทยให้เป็น เมืองยั่งยืน ได้เช่นกัน

กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

แน่นอนว่าทวีปยุโรปเป็นทวีปที่ขึ้นชื่อเรื่องการปรับใช้แนวคิดความยั่งยืนมาพัฒนาเมือง ทั้งยังปลูกฝังทัศนคติเรื่องความยั่งยืนให้แก่ประชาชนมาอย่างยาวนานจนเป็นปกติ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ก็เช่นกัน

ผลสำรวจความเห็นผู้คนกว่า 27,000 คน จากนิตยสาร Time Out พบว่าผู้ทำแบบสำรวจเกินครึ่งให้ความเห็นว่า กรุงโคเปนเฮเกน เป็นเมืองที่มีความยั่งยืนมากที่สุดในโลก โดย โคเปนเฮเกน เป็นเมืองที่เคยให้คำมั่นเอาไว้ว่าจะเป็นเมืองหลวงแห่งแรกที่เป็น Carbon Neutral หรือมี ความเป็นกลางทางคาร์บอน คือ ความสมดุลระหว่างการปล่อยก๊าซคาร์บอนและการดูดซับจากแหล่งกักเก็บ

โดยการดำเนินการเพื่อพิชิตเป้าหมายนี้ของ กรุงโคเปนเฮเกน เริ่มจากการวางงบประมาณหลายพันล้านบาทเพื่อปรับปรุงเลนสำหรับจักรยานโดยเฉพาะ ทำให้ผู้คนใช้จักรยานเดินทางกันเป็นจำนวนกว่าแสนคนต่อวัน โดยคนโคเปนเฮเกนนิยมเดินทางด้วยจักรยานถึงขั้นที่ว่าในเมืองนี้มีจำนวนจักรยานมากกว่ารถยนต์ถึง 5 เท่า

ขณะที่ โคเปนเฮเกน ยังนำขยะจำนวนหลายแสนตันมาเปลี่ยนให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราวๆ หนึ่งแสนตัน นอกจากนี้ยังมีระบบการจัดการน้ำที่ดี ระบบบำบัดน้ำเสียที่ทำให้สามารถหมุนเวียนการใช้น้ำได้ ทั้งที่ในอดีต โคเปนเฮเกน เคยเป็นเมืองที่น้ำเต็มไปด้วยขยะจากโรงงานอุตสาหกรรม น้ำมันรั่วไหล เรียกได้ว่าเต็มไปด้วยมลพิษ จนกระทั่งเกิดการปฏิรูปทรัพยากรทางน้ำในช่วงปี 1980 ด้วยการแยกระบบบำบัดน้ำเสียและระบบกักเก็บน้ำฝนออกจากกันเพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ จนได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีน้ำสะอาดที่สุดในโลกในที่สุด

ที่สุดแล้ว การที่ โคเปนเฮเกน สามารถเป็น “เมืองสีเขียว” และ เมืองยั่งยืน อันดับหนึ่งของโลกได้นั้นก็เพราะ โคเปนเฮเกน เป็นเมืองที่ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในเรื่องของการพัฒนาเมืองด้วยแนวคิดความยั่งยืน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ที่จับมือกันสร้างเมืองสีเขียว และการปลูกฝังแนวคิดเรื่องความยั่งยืนให้กับประชาชน ทำให้เกิดความร่วมมือในการเปลี่ยนเมืองให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา

ซานฟรานซิสโกเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ผู้คนนิยมไปท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากทุกปี และยังเป็นเมืองเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของสหรัฐอเมริกาเลยก็ว่าได้ แต่นอกจากจะโด่งดังในเรื่องของการเป็นเมืองท่องเที่ยวแล้ว ซานฟรานซิสโกยังเด่นเรื่องของการเป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

เพราะที่ผ่านมา ซานฟรานซิสโก เป็นเมืองแรกในสหรัฐอเมริกาที่ห้ามใช้ถุงพลาสติกและหลอด และเครื่องใช้พลาสติกเป็นสิ่งผิดกฎหมายตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2019 เมืองนี้ส่งขยะไปฝังกลบน้อยกว่าที่อื่นๆ ในประเทศ โดย 80% ของขยะที่นี่ถูกนำไปรีไซเคิล ทำปุ๋ยหมัก หรือนำกลับมาใช้ใหม่

นอกจากนั้น เรื่องราวของการสร้าง “เมืองยั่งยืน” ของที่นี่ ยังต่อยอดมาจากภาพจำของซานฟรานซิสโก ที่คงหนีไม่พ้น “รถราง” อันเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของเมือง ถึงแม้ว่าจะวิ่งมานานกว่าร้อยปี แต่ซานฟรานซิสโกก็ยังคงมีการปรับปรุงรถรางอยู่เสมอ

โดยล่าสุดได้พัฒนารถรางให้แล่นด้วยพลังงานไฟฟ้าอย่างสมบูรณ์ ระบบขนส่งอื่นๆ ก็เปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนเกือบจะ 100% แล้ว โดยคาดว่าจะสามารถเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนได้อย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2025

ไม่เพียงเท่านั้น ภาคส่วนสำคัญที่ต้องมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนโฉมเมืองให้มีความยั่งยืน นั่นคือ ภาคธุรกิจ ยังให้ความสำคัญกับเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอน ด้วยการบอกผู้บริโภคถึงจำนวนคาร์บอนที่ถูกสร้างออกมาในธุรกิจด้วย เช่นเดียวกับโคเปนเฮเกน  ซานฟรานซิสโกก็ลงทุนกับระบบบำบัดน้ำเสียที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยซานฟรานซิสโกตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ให้สำเร็จภายใน 2030

ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวถึง 235.73 ตารางเมตรต่อคน เมื่อไม่ได้มีปัญหาในเรื่องพื้นที่สีเขียวไม่เพียงพอ ซิดนีย์จึงเน้นวางแผนเรื่องการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อรองรับประชากรที่จะย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่อาศัยแทน โดยออกแบบให้ประชาชนเดินทางด้วย Active Transports เช่น การเดินหรือขี่จักรยานมาต่อรถบัสประจำทาง เรือข้ามฟาก รถรางไฟฟ้า และรถไฟ ซึ่งมีสถานีอยู่ที่ทางเข้าสวนสาธารณะต่างๆ เพื่อลดการใช้รถยนต์ เป็นการลดก๊าซเรือนกระจกให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ และเพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชน

กลยุทธ์ Green Global Connect ที่วางไว้เป็นแนวทางถึงปี 2030 เน้นการพัฒนาพื้นที่เดิมที่มีอยู่ให้ตอบสนองการใช้งานและวิถีชีวิตในปัจจุบันพร้อมๆ กับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปในศตวรรษนี้ โดยที่เมืองและผู้คนต้องมีความสามารถในการปรับตัวได้

ขณะที่ อย่างที่รู้กันดีว่าประเทศที่ใกล้เส้นศูนย์สูตรย่อมได้รับผลกระทบจากภาวะโลกเดือดอย่างหนักหน่วง ซิดนีย์ก็เป็นหนึ่งในนั้น เมืองนี้เคยเผชิญกับภาวะแล้งอย่างหนักในช่วงปี 2000 จึงต้องบริหารจัดการระบบน้ำใหม่ และนำไปสู่แผนการ Sustainable Sydney 2030 ที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้างเมืองสีเขียว และได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำทางสิ่งแวดล้อม ในปี 2015 ซิดนีย์ริเริ่มโครงการ “Sydney Park Water Re-Use Project”

โดยเป็นโครงการเกี่ยวกับการกักเก็บน้ำฝน มีจุดประสงค์เพื่อลดการใช้น้ำลง 10% ก่อนปี 2030 ซึ่งทำให้ซิดนีย์สามารถบำบัดและนำน้ำฝนกลับมาใช้ต่อได้หลายล้านแกลลอน ซึ่งวิธีนี้สามารถแก้ปัญหาภัยแล้งในซิดนีย์ มีน้ำหมุนเวียนใช้อย่างเพียงพอ และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ซิดนีย์ยังตั้งใจที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อให้กลายเป็น “เมืองน่าอยู่” ทั้งนี้ ซิดนีย์วางแผน Sustainable Sydney 2030 ต่อเนื่องไปจนถึง 2050 เลยทีเดียว

กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

มาถึงประเทศแถบเอเชียกันบ้าง เชื่อว่าหลายคนอาจจำได้ว่า “Tokyo 2020 Games” โอลิมปิกฤดูร้อนปี 2020 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพนั้น นำแนวคิดเรื่องความยั่งยืนมาปรับใช้เป็นธีมของงานจนเป็นที่สนใจแก่ผู้คนทั่วโลก โดยวัสดุที่นำมาใช้ในช่วงระหว่างการแข่งขัน สามารถนำไปรีไซเคิล ใช้ใหม่ได้ รวมไปถึงของที่ระลึกให้นักกีฬา ไม่ว่าจะเป็นเหรียญรางวัล หรือ ดอกไม้ที่ระลึก เตียงนอน หรือ แม้กระทั่งสนามกีฬา นั่นแสดงให้เห็นว่า เป็นอีกหนึ่งเมืองหลวงที่ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม นโยบายรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อมของกรุงโตเกียว

โดยที่ผ่านมา โตเกียวตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2050 และยังมีนโยบายการกำจัดขยะและอาหารเหลือ โตเกียวมีแคมเปญ “Renewable Electricity Together” ที่ช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรพื้นฐานได้อย่างทั่วถึง โดยเดิมทีแคมเปญนี้เริ่มที่กรุงโตเกียว และมีแผนการขยายไปยังภูมิภาคอื่นๆ

ขณะเดียวกัน กรุงโตเกียวมีกฎหมายพัฒนาพื้นที่สีเขียวและสาธารณะ โดยมีพื้นที่สีเขียว ประมาณ 12 ตารางเมตรต่อคน ถือว่าสูงกว่ามาตรฐานโลก ที่อยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน (สำหรับกรุงเทพฯ มีพื้นที่เสียวต่อคนเพียง 3 ตารางเมตรเท่านั้น) โดยคนโตเกียวเชื่อว่า ถ้ามีพื้นที่สีเขียวมาก ก็จะทำให้ประชาชนใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ มลพิษน้อย และรายล้อมด้วยธรรมชาติ

นอกจากนั้น กรุงโตเกียวยังมีกฎหมายที่เข้มงวดเกี่ยวกับการมีรถยนต์ส่วนตัว หากประชาชนต้องการซื้อรถ ถ้าไม่มีที่จอดรถส่วนตัว ก็ไม่สามารถซื้อได้ เพราะจะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบอยู่เสมอ นอกจากนี้ค่าจอดรถในเมืองยังมีราคาสูงอีกด้วย เมื่อการครอบครองรถทำได้ยาก ก็เลยส่งผลให้จำนวนรถบนถนนในกรุงโตเกียวลดลงโดยอัตโนมัติ ลดการปล่อยมลพิษบนท้องถนน

เมืองสิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์

สิงคโปร์เป็นเมืองที่มีความหนาแน่นของพื้นที่สีเขียวมากที่สุดในโลก โดยมากถึง 66 ตารางเมตรต่อคน และยังมีแผน “Singapore Green Plan 2030” ซึ่งเป็นแผนพัฒนาเมืองสิงคโปร์สู่การเป็นเมืองสีเขียวอย่างยั่งยืน โดยการสร้างทางสำหรับปั่นจักรยานและสวนสาธารณะเพิ่ม 1,300,000 ตารางเมตร เพิ่มการรีไซเคิล หันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น ลดจำนวนขยะต่อครัวเรือนให้ได้มากที่สุด และสร้างเศรษฐกิจสีเขียว หรือ “Green Finance” ดึงดูดการลงทุนด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม

อาจกล่าวได้ว่าผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการออกนโยบายและพัฒนาเมืองก็คือรัฐบาลสิงคโปร์ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาก มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน และมีนโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สิงคโปร์มีกฎหมาย Environmental Protection and Management Act : EPMA ซึ่งใช้ในการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการควบคุมการปล่อยมลพิษในอากาศ ในส่วนของโรงงานก็ต้องบำบัดน้ำเสียก่อนจะปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ

นอกจากนั้น ประเทศสิงคโปร์ยังมีความโดดเด่นในเรื่องของการปรับเอาแนวคิดนวัตกรรม มาใช้ในการเปลี่ยนเปลี่ยนเมืองให้มีความยั่งยืนมากขึ้น โดยตัวอย่างที่ทำให้เห็นแนวทางนี้ชัดขึ้นก็เช่น Kampung Admiralty ต้นแบบอาคารสำหรับผู้สูงอายุแห่งแรก (First Retirement Village) ของสิงคโปร์ ซึ่งตอบรับต่อรูปแบบเมืองแห่งอนาคตที่นำสิ่งอำนวยความสะดวกมาไว้ในที่เดียวกัน ประกอบด้วยพื้นที่สีเขียวให้ผู้อยู่อาศัยได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ โดยเฉพาะบริเวณชั้น 8 ซึ่งนับว่าเป็น “ปอด” ของอาคาร สวนหย่อมบนชั้นนี้มีการปลูกต้นไม้นานาพรรณลดหลั่นกันคล้ายภูเขาขนาดเล็ก และมีการออกแบบสิ่งต่างๆ ที่คำนึงถึงผู้สูงอายุ ทั้งทางลาดสำหรับรถเข็น และจุดนั่งพักขาตลอดทางเดิน

ขณะที่ แลนมาร์คที่ไม่ว่าใครจะมาเยือนสิงคโปร์ก็ต้องไปเช็คอิน อย่าง Marina Bay ก็มีการปรับเอาการบริหารจัดการแบบสมาร์ทมาออกแบบให้ Marina Barrage ที่ตั้งอยู่บริเวณช่องแคบมารีน่า ซึ่งเป็นจุดบรรจบกันของเส้นทางน้ำถึง 5 สาย เป็นอ่างกักเก็บน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ และมีหน้าที่สำคัญในการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมอีกด้วย

นอกจากนี้ที่แห่งนี้ ยังเป็นสถานที่อเนกประสงค์ที่มีทั้งสวน Solar Park ที่มีแผงโซลาร์เซลล์รับพลังงานแสงอาทิตย์กว่า 400 แผง พิพิธภัณฑ์ให้ความรู้การจัดการน้ำ ศูนย์กิจกรรมทางน้ำ และสวนลอยฟ้าที่เป็นสนามหญ้าขนาดใหญ่อยู่บนชั้นลอยที่ทุกคนสามารถมานั่งเล่นพักผ่อนพร้อมชมวิวสถานที่สำคัญรอบอ่าวมารีน่าเบย์ได้ด้วย

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/06/15/lesson-learn-from-5-world-sustainability-cities/