Startup อเมริกันสามารถนำ ‘อากาศ’ มาทำ ‘เนย’ ได้แล้ว

Share

Loading

ภายใต้กระแสสู้โลกร้อนโซลูชั่นแบบหนึ่งที่อาจฟังดูเพี้ยนแต่ไม่เกินจริง คือการนำเอาก๊าซเจ้าปัญหาอย่าง ‘คาร์บอนไดออกไซด์’ มาทำอาหาร ซึ่งในอดีตมี Startup หลายเจ้าเสนอไอเดียและพัฒนาผลิตภัณฑ์มาแล้ว เช่น Deep Branch ของอังกฤษ ทำคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นอาหารสัตว์, Solar Foods ของฟินแลนด์ก็ทำคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นโปรตีนที่เป็นอาหารมนุษย์ หรือ NovoNutrients ของอเมริกา ที่พยายามเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นโปรตีนเพื่อการบริโภคของทั้งมนุษย์และสัตว์

ล่าสุด Savor สตาร์ทอัพสัญชาติอเมริกันก็อ้างว่าสามารถนำคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมาใช้ทำเนยได้ ซึ่งวิธีการก็คือเขาจะนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาทำสารประกอบไฮโดรคาร์บอนก่อน แล้วใส่ออกซิเจนเข้าไปทำให้มันกลายเป็นกรดไขมัน ผลที่ออกมาคือไขมัน หลังจากนั้นก็เอาไปผสมน้ำและสารทำอิมัลชัน แล้วก็แต่งกลิ่นนิดหน่อย เราก็จะได้เนยที่สร้างมาจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยทาง Savor อ้างว่ามันให้รสชาติดีแบบเนยจริงๆ

นี่ก็อาจเป็นแค่อีกหนึ่ง Startup ที่มีแผนจะผลิต ‘อาหาร’ จาก ‘อากาศ’ ที่ไม่มีใครสนใจ ถ้าหนึ่งในนักลงทุนในบริษัทไม่ใช่มหาเศรษฐีแบบบิล เกตส์ ผู้ซึ่งมาช่วยโปรโมตบริษัทผ่านการชิมเนยที่ผลิตจากคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเจ้าตัวก็บอกว่ามันรสเหมือนเนยจริงๆ แบบที่บริษัทอ้างนั่นแหละ และไม่แปลกที่เมื่อผลิตภัณฑ์พร้อมแบบนี้แล้ว ตอนนี้บริษัทก็กำลังขออนุญาตทาง อย. ของสหรัฐฯ เพื่อนำผลิตภัณฑ์ออกมาจำหน่าย

ทางบริษัทอ้างว่า ถ้าคิดว่าไขมันคือสิ่งที่จำเป็นต่อมนุษย์แล้ว ‘ไขมันจากคาร์บอนไดออกไซด์’ ที่บริษัทผลิตขึ้น คือไขมันที่ดีต่อโลกที่สุด เพราะรอยเท้าคาร์บอนมันต่ำสุด แน่นอนว่าต่ำกว่าการเลี้ยงวัวมาทำเนยอยู่แล้ว แต่เขาอ้างว่ารอยเท้าคาร์บอนก็ต่ำกว่าการทำน้ำมันมะพร้าวและน้ำมันปาล์มด้วยซ้ำ ก็ว่ากันไป เพราะสุดท้ายเราก็คงจะบอกอะไรไม่ได้จนกว่าผลิตภัณฑ์จะออกมาสู่ท้องตลาดให้เราเห็นราคา เนื่องจากผลิตภัณฑ์แบบเดียวกันนี้ก่อนหน้า มีไม่น้อยที่เปิดตัวมาอย่างตื่นเต้น แต่พอมาขายในท้องตลาดกลับมีราคาแพงเกินไป สุดท้ายคนก็ไม่ซื้อ และบริษัทก็ต้องถอยกันไปหมด

แต่สิ่งที่เราได้จากเรื่องราวนี้คือ เราเห็น ‘เทรนด์’

นี่ไม่ใช่บริษัทแรกในโลกที่พยายามจะสร้างอาหารจากคาร์บอนไดออกไซด์ มันมีบริษัทนับไม่ถ้วนที่มีไอเดียแบบเดียวกันและเป็นข่าวก่อนหน้านี้ และถ้าจะบอกกันตรงๆ ก็คือ น่าจะมีอีกเป็นสิบบริษัทที่รับเงินจากแหล่งทุนมาเพื่อพัฒนาสิ่งเดียวกัน และสิ่งที่ว่าก็คือการนำก๊าซที่ทำให้โลกร้อนมาแปลงเป็น ‘อาหาร’

น่าจะเรียกว่านี่เป็นเทรนด์การลงทุนและเทรนด์ธุรกิจที่ใหญ่มากๆ และไอเดียพื้นฐานก็คือการสู้โลกร้อน โดยใช้วิธีไม่ได้ต่างจากวิธีที่คนไทยเสนอให้ใช้จัดการ ‘ปลาหมอคางดำ’ แรกๆ คือการจับกินให้หมด เพียงแต่ในเรื่องนี้มันเปลี่ยนตัวละครจากสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นไปเป็นก๊าซเรือนกระจกเท่านั้นเอง

ว่ากันตรงๆ สำหรับคนที่สู้โลกร้อนจริงๆ ก็อาจมองประเด็นพวกนี้เป็นเรื่องตลก เพราะกระบวนการและความวุ่นวายทั้งหมดในการนำ ‘ก๊าซ’ มาทำอาหารด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ซับซ้อนมันไม่น่าจะคุ้มค่าเหนื่อยเท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่มนุษย์เรารู้จักสิ่งที่แปลงคาร์บอนไดออกไซด์มาเป็นอาหารมานานแล้ว และมันไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ลึกล้ำจาก Startup เจ้าไหน แต่เป็นสิ่งพื้นๆ ที่เราเรียกว่า ‘ผัก-ผลไม้’ ที่มนุษย์ปลูกกันมาตั้งแต่ยุคหินใหม่ เพราะสิ่งที่เรียกว่าพืชทั้งหมดบนโลก โดยกระบวนการสังเคราะห์แสงของมัน ก็คือการเปลี่ยนแสงและคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลายเป็น ‘ชีวิต’ เท่านั้นเอง

ใช่แล้ว นี่เลยทำให้คำถามต่อ Startup พวกนี้ก็คือ ถ้าหนทางลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศและเปลี่ยนก๊าซพวกนี้เป็นอาหารมันทำได้ง่ายๆ อย่างแค่การปลูกต้นไม้ เราจะไปใช้กระบวนการทางเคมีอันซับซ้อนเพื่อจะสร้างโปรตีนและไขมันจากอากาศกันไปทำไมกัน? คำตอบก็ชัดเจนว่าถ้าจะทำอะไรอย่างการปลูกต้นไม้หรือทำฟาร์มแหล่งทุนก็ไม่ให้เงินหรอก มันต้องเป็นอะไรเท่ๆ อย่างการเปลี่ยนอากาศเป็นอาหาร เงินทุนถึงจะมี แม้ว่าจริงๆ แล้วกระบวนการเหล่านี้ก็ไม่ใช่วิธีการลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีประสิทธิภาพเลยสักนิด

แต่แน่นอนว่าถ้าจะไม่ด้อยค่าสิ่งที่เหล่า Startup กำลังทำจนเกินไป กระบวนการแปลงคาร์บอนไดออกไซด์เป็นอาหารที่มนุษย์บริโภคได้ ก็อาจมีความสำคัญมากๆ ในอนาคต ยุคที่มนุษย์ออกไปบุกตะลุยอวกาศกันเยอะๆ เพราะบนดาวเคราะห์ หลายๆ ดวงก็อาจปลูกต้นไม้ไม่ได้แบบบนโลก และเทคนิคการเปลี่ยนก๊าซที่มนุษย์หายใจออกมาอย่างคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นอาหาร ก็อาจเป็นตัวเลือกด้านอาหารที่ดีที่สุดในเงื่อนไขแบบนั้น

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/photo/?fbid=1052768279744841&set=a.811136570574681