Kaspersky เผยรายงานความเป็นส่วนตัวในโลกดิจิทัล ผู้ใช้งานเลือกเปิดโหมดไม่ระบุตัวตน 40 เปอร์เซ็นต์

Share

Loading

แคสเปอร์สกี้ เปิดเผยผลสำรวจเกี่ยวกับทัศนคติด้านความเป็นส่วนตัวบนโลกดิจิทัลของผู้ใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ต โดยผู้ใช้งานเลือกที่จะปิดเว็บแคม และการใช้งานโหมดไม่ระบุตัวตน แต่ก็มีลักษณะนิสัยการใช้งานบางอย่างที่มีความขัดแย้งกัน

แคสเปอร์สกี้ ผู้ให้บริการด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ และผู้พัฒนาซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัส เปิดเผยการศึกษาที่มีชื่อว่า Excitement, Superstition and great Insecurity – How global Consumers engage with the Digital World ถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า ความตื่นเต้น ความเชื่อ และความไม่ปลอดภัยอย่างยิ่ง – ผู้บริโภคทั่วโลกมีส่วนร่วมกับโลกดิจิทัลอย่างไร โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเปิดเผยมุมมองที่ขัดแย้งกันในกลุ่มผู้ใช้เรื่องการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของตน

แคสเปอร์สกี้ ได้ร่วมมือกับ Arlington Research เพื่อดำเนินการทำแบบสอบถามออนไลน์กับผู้ตอบแบบสอบถาม 10,000 คน เมื่อเดือนมิถุนายน 2024 เพื่อสำรวจทัศนคติของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีต่อความเชื่อทางดิจิทัลในปัจจุบัน บทบาทของ AI ในชีวิตของมนุษย์ และหัวข้อความเป็นอมตะทางดิจิทัล

ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม 1,000 คน มาจากสหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส และ 500 คน จากสเปน อิตาลี โปรตุเกส บราซิล เม็กซิโก รัสเซีย คาซัคสถาน อินเดีย จีน อินโดนีเซีย ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และแอฟริกาใต้

ในรายงานได้ยกตัวอย่างว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 49 เปอร์เซ็นต์ มองว่า การปิดเว็บแคมของอุปกรณ์ดิจิทัลช่วยรักษาความเป็นส่วนตัว ขณะเดียวกัน ผู้ตอบแบบสอบถาม 40 เปอร์เซ็นต์ เลือกที่จะใช้โหมดไม่ระบุตัวตน (Incognito mode) บนอินเทอร์เน็ต เพื่อปกป้องกิจกรรมออนไลน์ของตัวเอง

ตัวเลขจากแบบสอบถาม แคสเปอร์สกี้ชี้ว่า แม้จะใช้เครื่องมือดิจิทัลมานานหลายทศวรรษ และยอมรับว่าความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นปัญหาสำคัญที่แท้จริง แต่การแยกแยะระหว่างสิ่งที่ปลอดภัยและสิ่งที่ไม่ปลอดภัยยังคงเป็นเรื่องยาก

ในทางกลับกัน ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่งหนึ่งราว 44 เปอร์เซ็นต์ เล่นมินิเกมออนไลน์ และทำแบบทดสอบเพื่อความสนุกสนาน พร้อมกับส่งรายละเอียดส่วนตัวไปยังแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือเพื่อเข้าเล่นเกมเหล่านั้น และโพสต์ผลลัพธ์ลงในโซเชียลมีเดีย โดยให้เพื่อนๆ มีส่วนร่วมในกิจกรรมลักษณะนี้โดยไม่ระวังเรื่องการแชร์ข้อมูล

พร้อมกันนี้ ผู้ใช้เกือบครึ่งหนึ่งกังวลว่าฟีเจอร์ Voice Assistant อาจคอยฟังและรวบรวมข้อมูลส่วนตัวอยู่ตลอดเวลา และพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามเกือบหนึ่งในสาม หรือราว 28 เปอร์เซ็นต์ มักเลือกใช้เป็นโหมดเครื่องบินระหว่างการสนทนาส่วนตัวที่สำคัญ

ขณะเดียวกัน ผู้ใช้ 40 เปอร์เซ็นต์ เข้าใจผิดว่าการเปิดใช้งานโหมดไม่ระบุตัวตน จะทำให้ตัวตนทางออนไลน์ไม่ถูกเปิดเผย นอกจากนี้ ผู้ใช้ 24 เปอร์เซ็นต์ ยังยินดีที่จะคลิกลิงก์ที่ไม่คุ้นเคยในโปรแกรมส่งข้อความ ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงด้านความปลอดภัยได้

แอนนา ลาร์คินา นักวิเคราะห์เนื้อหาบนเว็บของแคสเปอร์สกี้ อธิบายเพิ่มเติมว่า การวิจัยนี้ เป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ และความเป็นส่วนตัวทางดิจิทัล เพื่อเน้นเรื่องความปลอดภัยและการป้องกันที่จำเป็นต้องมีการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ โดยอาศัยแหล่งข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ได้รับการยืนยันเท่านั้น

แหล่งข้อมูล

https://www.thairath.co.th/lifestyle/tech/2805974