หากพูดถึง IoT (Internet of things) หลายคนคงพอจะคุ้นเคยกันมาบ้างแล้วเรื่องเทคโนโลยีล้ำสมัยต่างๆ ที่เป็นการเชื่อมทุกสรรพสิ่งบนโลกเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ และสิ่งของ แต่เคยสงสัยไหมว่าอะไรกันล่ะ ที่จะมาเป็นตัวเชื่อมทุกสิ่งทุกอย่างที่ว่านี้เข้าไว้ด้วยกัน มีหน้าตาแบบไหน แล้วมันทำงานอย่างไร
รู้จัก 5G ให้ดียิ่งขึ้น
5G คือ ระบบสื่อสารไร้สายที่ถัดมาจาก 4G และ 3G นั่นเอง ซึ่ง G ในที่นี้มีความหมายมาจาก Generation of Cellular Mobile Communications หรือก็คือยุคของโทรศัพท์มือถือ แต่ละยุคการใช้งานก็จะพัฒนาเพิ่มสมรรถนะขึ้นไปตามยุคเรื่อยๆ หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าแต่ละ G คืออะไร ทำความเข้าใจง่ายๆ คือ 1G – การสนทนาด้วยเสียง, 2G – การส่งข้อความ, 3G – การใช้งานอินเทอร์เน็ต, 4G – การสตรีมมิ่งวิดีโอ และ 5G – เชื่อมต่อทุกสรรพสิ่งเข้ากับอินเทอร์เน็ต
แล้วทำไมต้อง 5G แค่ 4G ยังไม่พออีกหรือ
ถ้าคุณยังเข้าใจเช่นนั้น นี่คือการใช้งานเทียบความต่างระหว่าง 5G กับ 4G ให้ชัดเจนขึ้น
Latency การตอบสนองที่ไว้ขึ้น สามารถสั่งงานควบคุมสิ่งต่างๆได้อย่างรวดเร็ว หรือเรียกว่าแทบจะทันที เพราะ 5G จะลดลงไปถึง 10 เท่า เหลือน้อยกว่า 1ms
Data Traffic รองรับการรับส่งข้อมูลที่มากกว่า เพิ่มขึ้นราว 7 เท่าจากเดิม
Peak Data Rates ความเร็วเพิ่มขึ้นสูงสุด 20 Gbps หรือราว 20 เท่าจากเดิม
Available Spectrum ความถี่สำหรับใช้งาน สามารถใช้งานคลื่นได้จนถึงความถี่ 30GHz
Connection Density ความหนาแน่นของการใช้งาน เพิ่มขึ้น 10 เท่าจากที่สามารถรับคนได้ราว 1 แสนคนต่อพื้นที่ 1 ตร.กม. กลายเป็น 1 ล้านคนต่อพื้นที่ 1 ตร.กม.
ด้านการใช้งานอินเทอร์เน็ตดีขึ้นอย่างแน่นอน ด้วยความเร็วระดับ 5G เราสามารถดูภาพยนตร์ในระดับความคมชัด 4K หรือ 8K ได้อย่างไม่มีปัญหา, เล่นเกมโดยไม่ต้องกลัวกระตุกเพราะความหน่วงน้อยมาก ทำให้เล่นได้อย่างไม่สะดุด และการโหลดข้อมูลต่างๆ สามารถทำได้โดยเวลาไม่กี่วินาที
ด้านการแพทย์ การผ่าตัดทางไกลของโรงพยาบาลในชนบทที่ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่ประจำไม่ใช่เรื่องน่ากังวลอีกต่อไป เพราะเทคโนโลยี 5G นี้สามารถทำให้แพทย์ผ่าตัดคนไข้ได้อย่างแม่นยำถึงแม้ตัวอยู่คนละที่ก็ตาม หรือการขับขี่รถยนต์แบบไร้คนขับก็สามารถทำได้อย่างไม่มีปัญหา ด้วยความเสถียรของตัว 5G นี้เอง ทำให้เราไม่ต้องกังวลเรื่องสัญญาณขาดหาย หรือก็เชื่อมต่อข้อมูลที่ล่าช้าอีกต่อไป เพราะเมื่อเราสั่งเบรก รถสามารถหยุดได้ในทันที
การพัฒนาด้าน IoT และ Security ในชีวิตประจำวัน
ตอบโจทย์ด้าน IoT (Internet of things) หรือแปลตรงตัวก็คืออินเทอร์เน็ตที่เชื่อมโยงกับทุกสิ่ง ตั้งแต่ควบคุมระบบไฟในบ้าน ควบคุมระบบกล้องวงจรปิด ไปจนถึงควบคุมสิ่งของต่าง ๆ เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ทุกอย่างสามารถใช้งานควบคู่กันได้อย่างไม่มีปัญหา และเมื่อต้องนำมาเชื่อมต่อกับทุกสรรพสิ่งนี่เอง จึงทำให้ต้องมีระบบ 5G มารองรับเพราะ 5G สามารถรองรับอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้มากกว่าล้านอุปกรณ์ในพื้นที่ 1 ตร.กม. เลยทีเดียว
การเชื่อมต่อที่เพิ่มขึ้นในเรื่องความปลอดภัยก็มีผลดีมากขึ้น เมื่ออุปกรณ์ต่างๆ จะทำงานประสานกัน ก็จะง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูล เช่น ด้านจราจรสามารถตรวจดูเส้นทางได้ว่าจุดไหนติดควรเลี่ยง หรือการตรวจจับผู้ร้าย เราสามารถใช้กล้องวงจรปิดที่มีอยู่มากมายภายในประเทศไทย ตรวจจับใบหน้าผู้ร้ายและนำไปสู่การจับกุมได้ในที่สุด เป็นต้น นี่สิ่งเรานี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นสำหรับประโยชน์ของ 5G เชื่อว่าเมื่อถึงวันที่เราได้ใช้งานกันแล้ว เราจะยังได้รับประโยชน์อย่างต่อเนื่องและมากมายจาก 5G แน่นอน
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า 5G เป็นตัวแปรที่สำคัญมากในการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ให้เห็นผลชัดเจนยิ่งขึ้น ด้วยประโยชน์ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้แทบจะอดใจรอไม่ไหวในการมาของมันเลยทีเดียว แต่หากใครกังวลว่าจะต้องรอนาน อยากบอกว่าในปี 2020 นี้ 5G ก็พร้อมให้ประชาชนชาวไทยก็จะได้ยลโฉมกันแล้ว และเราเองก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากมันให้ได้มากที่สุดกันด้วย
ขอขอบคุณแหล่งที่มา :
https://www.marketingoops.com/reports/understand-what-is-5g
https://droidsans.com/introducing-5th-generation-5g
https://www.gqthailand.com/toys/article/which-smartphone-should-you-choose