คนทั่วไปอาจไม่รู้จัก ‘รอดนีย์ บรูกส์’ (Rodney Brooks) แต่เขาผู้นี้คือศาสตราจารย์ด้านหุ่นยนต์คนสำคัญของ MIT (Massachusetts Institute of Technology) ที่มีส่วนในการก่อตั้งบริษัท Startup ด้านหุ่นยนต์ในอเมริกาหลายเจ้า และที่คนไทยน่าจะคุ้นชื่อสุดคือ iRobot เจ้าของหุ่นยนต์ ‘กวาดพื้น’ ชื่อดังอย่างรุ่น Roomba
ล่าสุด ปลายเดือนกรกฎาคม 2024 เขาได้พยายามจะชี้ปัญหาของการพัฒนาหุ่นยนต์ในยุคปัจจุบัน และเสนอแนวทางแก้ไข โดยเขาเสนอในรูปของ ‘กฎสามข้อ’ ของหุ่นยนต์ เพื่อเป็นการคารวะปรมาจารย์ไซ-ไฟอย่างไอแซก อาซิมอฟ แต่แน่นอนว่ามันเป็น ‘กฎสามข้อ’ ที่ต่างกันคนละโลก
ในขณะที่ ‘กฎสามข้อ’ ของอาซิมอฟ คือกฎสำหรับหุ่นยนต์ว่า
1.หุ่นยนต์ห้ามทำร้ายมนุษย์หรือปล่อยให้มนุษย์ได้รับอันตรายโดยไม่ได้กระทำการใดๆ
2.หุ่นยนต์ต้องเชื่อฟังคำสั่งของมนุษย์ ยกเว้นในกรณีที่คำสั่งดังกล่าวขัดแย้งกับกฎข้อแรก
3.หุ่นยนต์ต้องปกป้องการดำรงอยู่ของตนเอง ตราบใดที่การปกป้องดังกล่าวไม่ขัดแย้งกับกฎข้อแรกหรือกฎข้อที่สอง
ส่วน ‘กฎสามข้อ’ ของบรูกส์คือกฎสำหรับนักพัฒนาหุ่นยนต์ ย่อสั้นๆ ได้ดังนี้
1.นักพัฒนาจะต้องพัฒนารูปลักษณ์ของหุ่นยนต์ที่สะท้อนการใช้งานและความสามารถของหุ่นยนต์
2.นักพัฒนาจะต้องให้ความสำคัญกับทางเลือกของมนุษย์มากกว่าการทำงานของหุ่นยนต์ ถ้าทั้งคู่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน
3.นักพัฒนาต้องพัฒนาหุ่นยนต์เป็นเวลา 10 ปี หลังจากการเอามาโชว์ในห้องแล็บ เพื่อให้หุ่นยนต์สามารถใช้งานได้สม่ำเสมอที่สุด
กฎข้อแรก – บัญญัติขึ้นเพราะว่ายุคหลังๆ นักพัฒนามักจะออกแบบหุ่นยนต์ให้มีรูปลักษณ์ภายนอกดูมีความสามารถเกินจริง เพื่อล่อให้นักลงทุนมาลงทุน ในมุมของบรูกส์ การทำแบบนี้ไม่ยั่งยืนเพราะมันเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค และเขาก็ยกตัวอย่าง Roomba ที่คนเห็นแล้วจะรู้เลยว่ามันเป็นหุ่นกวาดพื้นที่ทำได้แค่นั้น มันไต่กำแพงไม่ได้ ขึ้นลงพื้นต่างระดับไม่ได้ และนี่คือการออกแบบที่ดีที่สะท้อนความสามารถในการทำงานของหุ่นยนต์มาแบบไม่ขาดไม่เกิน ซึ่งต่างจากหุ่นยนต์รุ่นหลังๆ ที่เขาเห็นนักพัฒนารุ่นใหม่ๆ ชอบเอามาโชว์
กฎข้อสอง – เขาบัญญัติจากประสบการณ์การใช้ชีวิตในซานฟรานซิสโก ที่ทุกวันนี้ ‘หุ่นยนต์’ ในรูปแบบของรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติมันวิ่งไปทั่ว และรถเหล่านี้ วันดีคืนดีก็จะกีดขวางถนน บางทีก็หยุดตรงแยกทั้งที่ไฟเขียวแล้ว สร้างปัญหาการจราจร หรือในทำนองเดียวกันพวกหุ่นยนต์ในโรงพยาบาลเองก็ชอบ ‘ขวางทาง’ ผู้คน ไม่ว่าจะเป็นตามทางเดินหรือหน้าลิฟต์ และประเด็นก็คือ ถ้านักพัฒนาไม่คิดอย่างละเอียดว่าหุ่นยนต์มันจะกีดขวาง หรือ ‘สกัดทางเลือก’ ของมนุษย์อย่างไรบ้างแล้ว ก็จะเกิดปัญหาแน่ๆ ในระยะยาว และทุกวันนี้ก็เพียงเริ่มต้นมันยังเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ และควรจะเน้นเรื่องนี้มากๆ
กฎข้อสาม – บัญญัติจากประสบการณ์ในการพัฒนาหุ่นยนต์ คือหุ่นยนต์รุ่นหนึ่งๆ กว่ามันจะพัฒนาไปจนให้ประสบการณ์ที่ดีและราบรื่นต่อผู้ใช้ทั่วไปได้ ต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี และเขาบัญญัติกฎข้อนี้เพราะว่านักพัฒนายุคปัจจุบันจะรีบพัฒนาหุ่นยนต์ออกมาขาย และใช้โลกเป็นการทดลองหุ่นยนต์ ซึ่งการทำแบบนี้ถ้าไม่นับเรื่องอันตรายแล้ว มันยังจะสร้างประสบการณ์แย่ๆ ให้กับผู้บริโภค ที่ใช้หุ่นไปแล้วค้างบ้าง ไม่ทำตามสิ่งที่ต้องการบ้าง และจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมหุ่นยนต์โดยรวม ทำให้ผู้บริโภคยอมรับหุ่นยนต์ช้าลงไปอีก ดังนั้นพื้นฐานคือนักพัฒนาต้องสร้างหุ่นยนต์ที่ผู้บริโภคมีประสบการณ์การใช้งานที่ราบรื่นที่สุด และสิ่งนี้มักต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปี จากวันแรกที่นำหุ่นยนต์มาโชว์สำเร็จ
ข้อเสนอทั้งหมดนี้ แน่นอนว่าไม่มีผลบังคับใช้ใดๆ แต่บรูกส์ก็ถือเป็น ‘บิ๊กเนม’ ในการพัฒนาหุ่นยนต์ที่มีประสบการณ์ทั้งพัฒนาหุ่นยนต์ระดับพื้นฐาน และพัฒนาผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์มาขายในท้องตลาดจนสำเร็จ และเขาก็เน้นมากว่าบางทีนักพัฒนาไม่ได้มองจากมุมของผู้บริโภค ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเลิกกระทำ ถ้าเราต้องการให้หุ่นยนต์เป็นที่ยอมรับในสังคม
บรูกส์ทิ้งท้ายว่า โดยพื้นฐานแล้วหุ่นยนต์ทุกตัวที่สร้างขึ้นต้องมี ‘ปุ่มปิดฉุกเฉิน’ (Kill switch) เผื่อสำหรับการใช้งานที่มีความผิดพลาด และโดยหน้าที่ของนักพัฒนา ก็คือการสร้างหุ่นยนต์ที่ผู้ใช้ไม่ต้องมากดปุ่มที่ว่านี้นั่นเอง
แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/photo/?fbid=1066933688328300&set=a.811136580574680