หุ่นยนต์ดินสอสัญชาติไทย ผู้ช่วยประจำบ้านดูแลผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมง

Share

Loading

ชวนรู้จักหุ่นยนต์ดินสอสัญชาติไทย “Home AI Assistance” ผู้ช่วยประจำบ้านเพื่อการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลในยามฉุกเฉิน

ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้จำนวนผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่จำนวนผู้ดูแลไม่เพียงพอ ปัญหานี้นำมาซึ่งความท้าทายในการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งในแง่ของค่าใช้จ่าย ความปลอดภัย และคุณภาพชีวิต

ท่ามกลางความท้าทายนี้ คุณเฉลิมพล ปุณโณทก นิสิตเก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนา “หุ่นยนต์ดินสอ” ขึ้นมาเพื่อเป็นทางออกของปัญหา โดยเฉพาะรุ่นล่าสุด “Home AI Assistance” ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นผู้ช่วยดูแลผู้สูงอายุประจำบ้าน

หุ่นยนต์ดินสอ Home AI Assistance มีความสามารถหลากหลาย ทั้งการเฝ้าระวังผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมง การเชื่อมต่อกับโรงพยาบาล การวัดสัญญาณชีพ และการแจ้งเตือนการรับประทานยา นอกจากนี้ ยังสามารถเป็นเพื่อนคลายเหงา ชวนทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อฝึกความจำและชะลอภาวะสมองเสื่อม

“บ่อยครั้ง เมื่อคนสูงวัยป่วย ก็อาจจะลังเลว่าควรไปหาหมอตอนนี้เลยดีหรือไม่ ยิ่งถ้าเกิดป่วยกลางดึก อาจลำบากในการเดินทางไปโรงพยาบาล หุ่นยนต์รุ่นนี้จะเข้ามาแก้โจทย์นี้ สมมติมีกรณีที่คุณยายไม่สบาย ไอและเวียนหัวมาก ก็สามารถกดพูดคุยกับพยาบาลที่โรงพยาบาลผ่านหุ่นยนต์ได้ พยาบาลจะประเมินอาการเบื้องต้นและวินิจฉัยว่าอาการลักษณะนี้ควรนอนพัก กินยา หรือรีบส่งรถฉุกเฉินไปรับ”  คุณเฉลิมพลให้ความเห็น

หุ่นยนต์ดินสอ Home AI Assistance เพื่อนผู้สูงอายุประจำบ้าน

จุดเริ่มต้นของหุ่นยนต์ดินสอมาจากวิสัยทัศน์ของคุณเฉลิมพล ที่เชื่อว่าหุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะในด้านการแพทย์และการดูแลผู้สูงอายุ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างนวัตกรรมที่มีคุณค่าสำหรับประเทศไทย หุ่นยนต์ดินสอจึงถือกำเนิดขึ้นในปี 2552 และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนในปี 2558 คุณเฉลิมพลได้เปิดตัวหุ่นยนต์ดินสอสำหรับดูแลผู้สูงอายุและสนับสนุนการบริการในโรงพยาบาล ถึงปัจจุบัน หุ่นยนต์ดินสอมีใช้ในโรงพยาบาล ทั้งมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ของรัฐและโรงพยาบาลเอกชนมากกว่า 50 แห่ง โดยแต่ละรุ่น มีการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถและความฉลาดให้หุ่นยนต์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“ผู้ช่วยประจำบ้าน” Home AI Assistance เป็นรุ่นที่มีการเพิ่มเติมความสามารถและความฉลาด อาทิ  

  • ติดตั้งนวัตกรรมที่ชื่อ DinsawSpond เป็นระบบเรียกให้โทรกลับ เพื่อแจ้งให้แพทย์หรือลูกหลานติดต่อกลับหาผู้สูงอายุได้อย่างรวดเร็ว
  • ระบบปฏิบัติการแบบ Real Time Monitoring เชื่อมต่อกับอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ เช่น Smartphone หรือ Notebook ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ช่วยให้บุตรหลานสามารถดูแลและเห็นสภาพความเป็นไปของผู้สูงอายุจากสถานที่ต่าง ๆ ได้ แจ้งเตือนกรณีมีเหตุผิดปกติผ่านแอปพลิเคชัน เช่น เมื่อผู้สูงอายุหายไปจากสายตาของหุ่นยนต์ดินสอ
  • ติดตั้งอุปกรณ์เช็กสัญญาณชีพ (vital sign) ส่งข้อมูลตรงไปยังแพทย์ผู้มีหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุรายนั้น ๆ ช่วยให้แพทย์สามารถเก็บข้อมูลผู้สูงอายุได้โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเดินทางไปที่โรงพยาบาล รวมทั้งสามารถวัดไข้ได้ ช่วยเตือนการทานยาและการดูแลสุขภาพด้วย

หุ่นยนต์ดินสอเป็นที่รู้จักและเข้ามาประจำการช่วยงานในโรงพยาบาลได้หลายปีแล้ว ในฐานะหุ่นยนต์ผู้ช่วยพยาบาล (OPD) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีหุ่นยนต์ดินสอ 5 ตัว ส่วนโรงพยาบาลศิริราช 30 ตัว หุ่นยนต์รุ่นนี้ช่วยให้บริการผู้ป่วย เมื่อคนไข้เสียบบัตรประชาชน เจ้าหุ่นยนต์จะเช็กให้ทันทีว่ามีประวัติเคยป่วยเป็นอะไร มีนัดตรวจกับคุณหมอวันไหน สิทธิ์ในการรักษามีอะไรบ้าง เป็นต้น

คุณเฉลิมพลมองว่า อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ทางการแพทย์และการดูแลผู้สูงอายุเป็นโอกาสสำคัญสำหรับประเทศไทย ด้วยศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ไม่น้อยหน้าชาติใดในโลก การพัฒนาหุ่นยนต์ดินสอจึงไม่เพียงแต่เป็นการตอบสนองความต้องการของสังคมสูงวัยเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับประเทศอีกด้วย

ในอนาคต คุณเฉลิมพลมีความฝันที่จะพัฒนาหุ่นยนต์ดินสอให้เป็นผู้ช่วยแพทย์ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกพื้นที่ ทั้งในเมืองและชนบท เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการรักษาและทำให้การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แนวคิด “1 ตำบล 1 หุ่นยนต์ดินสอ” จึงเป็นเป้าหมายที่ท้าทายแต่มีความเป็นไปได้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและผู้ป่วยทั่วประเทศ

หุ่นยนต์ดินสอจึงไม่เพียงแต่เป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังเป็นความหวังในการแก้ปัญหาสังคมสูงวัยและการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนในอนาคต

จุดเด่นของหุ่นยนต์ดินสอรุ่นอื่น ๆ
  • Dinsaw Pro4 OPD: ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานในโรงพยาบาลและสถานพยาบาล มีระบบการสื่อสารและตอบสนองที่รวดเร็ว ช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยผู้ป่วยนอก (OPD) จุดเด่นคือการเคลื่อนที่ได้อิสระและสามารถสื่อสารกับผู้ป่วยได้
  • Dinsaw Mini 3 IPD: มีขนาดเล็กกะทัดรัด เหมาะสำหรับการใช้งานในบ้านหรือสถานพยาบาลขนาดเล็ก แบ่งเบาภาระงานของพยาบาล บันทึกคำสั่งแพทย์ ให้ข้อมูลยา การสั่งอาหารสำหรับรับประทานในห้องพักผู้ป่วย ฯลฯ จุดเด่นคือความสามารถในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อัจฉริยะและระบบ AI ที่ช่วยในการสื่อสารและตอบสนองต่อคำสั่ง หุ่นยนต์รุ่นนี้ได้รับการยอมรับในหลายประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น
  • Dinsaw Mini 3 Home AI : ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานในบ้าน มีระบบ AI ที่ช่วยในการสื่อสารกับผู้สูงอายุ ช่วยเตือนการทานยา แจ้งเตือนการนัดหมายทางการแพทย์ และให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ จุดเด่นคือการเป็นผู้ช่วยที่สามารถเรียนรู้และปรับตัวตามความต้องการของผู้ใช้งาน

แหล่งข้อมูล

https://www.posttoday.com/smart-life/712460