iCube เอไอจัดการข้อมูลโรงงาน พลิกโฉมอุตสาหกรรมด้วยดีพเทค

Share

Loading

ยุคที่ “ข้อมูล (Data)” มีความสำคัญเทียบเท่าทองคำ โรงงานอุตสาหกรรมกำลังเผชิญความท้าทายในการจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาล “ไอคิวบ์ (iCube)” สตาร์ตอัปไทยมองเห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้พัฒนา “แพลตฟอร์มการบริหารจัดการข้อมูลสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม” นำพาอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

กรุงเทพธุรกิจชวนรู้จัก สิงหดิศร์ จันทรักษ์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท ไอคิวบ์ จำกัด กล่าวว่า หลังจากสำเร็จการศึกษาในสาขาวิศวกรรมระบบควบคุมและเครื่องมือวัดก็ได้ริเริ่มการต่อยอดธุรกิจเกี่ยวกับ Manufacturing Tech เพราะเห็นว่ามีผู้ที่พัฒนาธุรกิจด้านนี้ค่อนข้างน้อย จึงสร้างต้องการสร้างแพลตฟอร์มที่สามารถช่วยยกระดับอุตสาหกรรมและการผลิตของประเทศด้วยการใช้งานข้อมูลในการขับเคลื่อนกระบวนการผลิต

iCube จึงไม่ใช่แค่บริษัทซอฟต์แวร์ทั่วไป แต่เป็นผู้ให้บริการโซลูชันที่ช่วยแก้ปัญหาการทำงานซ้ำซ้อนในโรงงาน ตั้งแต่การกรอกข้อมูล การจัดการ ไปจนถึงการบริหารจัดการและติดตามข้อมูลแบบเรียลไทม์ โดยมีแนวคิดหลักคือ การนำข้อมูลทั้งโรงงานมาไว้บนอุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์ ทำให้การเข้าถึงและจัดการข้อมูลเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว

“ไอคิวบ์เป็นแพลตฟอร์มการบริหารจัดการข้อมูลสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ที่จะเข้ามาลดการทำงานซ้ำซ้อนของพนักงาน ในแง่ของการกรอกข้อมูล, การจัดการข้อมูล และการแสดงผลข้อมูลให้เป็นเรื่องง่าย ทำให้เกิดการเชื่อมต่อข้อมูลแบบไร้รอยต่อ (Data Automation)”

จุดเด่นของ iCube คือ การออกแบบแพลตฟอร์มบนแนวคิด Automation as a Service (AaaS) ทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกรับบริการตามความต้องการได้อย่างยืดหยุ่น และยังเป็น Low-Code Platform ที่ใช้งานง่าย แม้ผู้ที่ไม่มีความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมก็สามารถใช้งานได้

นอกจากนี้ ประโยชน์ของ iCube ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การจัดการข้อมูล แต่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ลดการทำงานซ้ำซ้อน และใช้ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อนในการยกระดับกระบวนการผลิต ที่สำคัญ iCube สามารถเชื่อมต่อกับระบบต่างๆ ในโรงงานได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ERP, MES, IoT, SCADA หรือระบบไฟล์ต่างๆ

เอไอบริหารงานในโรงงาน

ในแง่ของการนำ AI มาใช้ในการบริหารจัดการโรงงาน iCube ได้นำเสนอแนวโน้มสำคัญสำหรับปี 2024 ไว้ดังนี้

1) AI-Driven Management: ใช้ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากเพื่อการตัดสินใจที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพ

2) Predictive Maintenance: ใช้ AI และ Machine Learning ในการคาดการณ์ปัญหาของเครื่องจักรก่อนที่จะเกิดความเสียหาย 3) AI Visual Inspection: ใช้ AI และกล้องความละเอียดสูงในการตรวจสอบคุณภาพสินค้า

4) AI for Smart Energy: ใช้ AI ในการบริหารจัดการพลังงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพ และ 5) AI for Smart Warehouse: ใช้ AI ในการจัดการคลังสินค้าเพื่อเพิ่มความแม่นยำและประสิทธิภาพ

“การนำ AI มาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มผลผลิต แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล iCube จึงไม่ใช่แค่ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ แต่เป็นพันธมิตรสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง”

อย่างไรก็ดี สิงหดิศร์ ยังกล่าวต่อไปว่า เป้าหมายหลักด้านธุรกิจของบริษัทฯ คือ การนำพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ให้ได้และต้องมีการโตอย่างยั่งยืนและเป้าหมายทางด้านการพัฒนาแพลตฟอร์ม

“เราอยากเห็นแพลตฟอร์มของไทยที่พัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับของประเทศอื่นๆ โดยเราเน้นเรื่องคุณภาพและการบริการเป็นหลัก โดยมีแนวคิดว่า เติบโตแบบสตาร์ตอัปแต่ยั่งยืนแบบ SMEs” เขากล่าวทิ้งท้าย

ในปี 2023 ไอคิวบ์ได้รับรางวัล Creator Awards จากเวที “สุดยอดนวัตกรรม 7 Innovation Awards” ถือได้ว่าเป็นผลงานสำคัญชิ้นแรกที่เกิดขึ้นจากโครงการความร่วมมือขับเคลื่อน นวัตกรรมสำหรับประเทศโดย 11 องค์กรระดับประเทศ

ภาคอุตสาหกรรมโตด้วย DeepTech

สำหรับความก้าวหน้าปี 2024 ไอคิวบ์ ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ “ส่งเสริมสตาร์ตอัปที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกสู่การขยายตลาด หรือ FTI DeepTech Startup Connext 2024” โดยเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการพัฒนาโซลูชันเพื่อแก้ปัญหาให้ภาคอุตสาหกรรม

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กล่าวว่า NIA เห็นความสำคัญของการพัฒนาดีพเทคสตาร์ตอัป ซึ่งเป็นรูปแบบธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกที่มีความซับซ้อนบนพื้นฐานการวิจัยขั้นสูง สามารถช่วยสร้างให้เกิดตลาดใหม่ โดยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นส่วนใหญ่จะถูกปกป้องด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่ยากต่อการลอกเลียนแบบ จึงสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันหรือเป็นอุปสรรคต่อคู่แข่งได้

“NIA ได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการส่งเสริมสตาร์ตอัปที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกสู่การขยายตลาดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อเฟ้นหาและคัดเลือกสตาร์ตอัปที่มีความสามารถพร้อมแก้ปัญหาให้กับภาคอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม มุ่งสร้างโอกาสการจับคู่และร่วมมือทางธุรกิจกับภาคอุตสาหกรรมของไทยให้เกิดการทดสอบใช้งานเป็นต้นแบบระดับภาคอุตสาหกรรม

ผลการดำเนินงานปีที่ผ่านมาสามารถสร้างยอดขายให้กับสตาร์ตอัปที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 300 ล้านบาท นับเป็นการพัฒนาศักยภาพสตาร์ตอัปที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกให้มีความพร้อม เพิ่มผู้ใช้งาน และสามารถขยายการใช้งานทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ต่อไป”

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1141406