สวัสดีปีใหม่ 2562 ครับเพื่อนสมาชิกทุกท่าน ขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย โปรดดลบันดาลให้ท่านและครอบครัว ประสบแต่ความสุข ความเจริญ ด้วยจตุรพิธพรชัยและสัมฤทธิผล ในสิ่งอันพึงปรารถนาทุกประการ
ปีหมูนี้คงจะไม่หมูแน่ ๆ เลยครับ ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องของความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติที่เราไม่สามารถจะแก้ไขได้ (อย่างเก่งก็ทำได้เพียงแค่ป้องกันหรือแก้ไขภายหลังจากภัยนั้น ๆ สิ้นสุด) หรือภัยที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ ซึ่งปัจจุบันก็ได้เริ่มก่อตัวเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งบางเรื่องกลายเป็นปัญหาของโลกที่เรียกกันว่า “สภาวะโลกร้อน” หรือ Global Warming
กราฟของ Our World in Data ได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของประชากรบนโลก กับเติบโตของมลพิษที่ได้สั่งสมมาเป็นเวลากว่า 1 ศตวรรษ จะเห็นได้ว่าการขยายเผ่าพันธุ์ของชาวโลกมีอัตราไต่สูงชันในช่วงปี ค.ศ. 1920 – 1970 (ช่วงปี พ.ศ. 2463 – 2513) แล้วก็เริ่มลดลง กลายเป็นการเพิ่มขึ้นแบบถดถอย ในขณะที่มลพิษเริ่มมีอัตราเริ่มไต่ขึ้นในปี ค.ศ. 1920 (ช่วงปี พ.ศ. 2463) เช่นเดียวกัน ต่างกันแต่เพียงว่าอัตราการเติบโต
ยังไม่มีการถดถอยลงเลยแม้แต่น้อย
เริ่มต้นปีหมูด้วยผลกระทบที่ผู้เขียนเองชักไม่แน่ใจว่าเป็นภัยธรรมชาติจริงๆ หรือเป็นผลพวงภัยอันเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ ที่มีส่วนทำให้เกิดขึ้น นั่นก็คือพายุโซนร้อนปาบึก (Pabuk) ได้สร้างบันทึกไว้ในรอบ 68 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2494-2561) ว่ายังไม่เคยมีพายุหมุนเขตร้อน (cyclone) เคลื่อนผ่านประเทศไทย ภายหลังจากพายุแฮเรียต (Harriet) ได้สร้างความเสียหายอย่างหนักโดยมีเส้นทางเข้ามาที่แหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช
หลังจากนั้นอีกไม่นานประเทศออสเตรเลียก็เผชิญกับคลื่นความร้อน บางสำนักข่าวได้รายงานว่า “ถือว่าเป็นสถิติร้อนที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบเกือบ 1 ศตวรรษ” สังเกตุดูได้จากแถบความร้อนที่บริเวณไหนมีความเข้มสูงก็จะมีอุณหภูมิสูงตามไปด้วย
แล้วก็ตามมาด้วยทวีปอเมริกาเหนือกำลังเผชิญกับลมวนขั้วโลก หรือที่รู้จักกันในชื่อ โพล่าร์ วอร์เท็กซ์ (Polar Vortex) ที่ทำให้หลายรัฐในพื้นที่ต้องเผชิญกับอากาศเย็นยะเยือกบางที่ติดลบ 50 องศาเซลเซียส (-50oC) ซึ่งตัวผู้เขียนเองก็ไม่สามารถบรรยายได้ว่ามันเย็นขนาดไหน เพราะว่าอยู่บ้านเราได้เจออุณหภูมิซัก 20 กว่า ๆ องศาเซลเซียส ก็ดีใจจะแย่แล้วครับ
สุดท้ายก็วกกลับมาที่ประเทศไทยอีกครั้งก็พบเจอกับปัญหาที่ผู้เขียนได้เคยสะกิดท่านผู้อ่านมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อช่วงมกราคม ปี 2561 พอมาปี 2562 ฝุ่นควันพิษ PM 2.5 ท่านก็ได้กลับมาเยือนพี่น้องชาวกรุงเทพ ปริมณฑล และคราวนี้ได้มีผู้ร่วมชะตากรรมอีกหลายจังหวัดด้วยกัน
โดยสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM 2.5 ในปีนี้เข้าขั้นวิกฤตเนื่องจากสภาพอากาศปิดและมีลมนิ่ง ถึงขั้นได้มีการหารือมาตรการขอความร่วมต่าง ๆ ออกมา เช่น ปิดโรงเรียน อย่าเผาพื้นที่การเกษตรที่เก็บเกี่ยวแล้ว หลีกเลี่ยงการนำยานพาหนะที่มีควันดำออกมาวิ่งบนท้องถนน ลดการจุดธูป/เผาเครื่องเซ่นไหว้ช่วงตรุษจีน ลดการปล่อยควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
ฝุ่นพิษที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่มันได้เกิดขึ้นทั่วทั้งโลกนี้ ตามแผนที่อากาศพิษ (World’s Air Pollution) ที่ผู้เขียนได้นำมาแสดงให้ท่านผู้อ่านได้ชม ซึ่งก็สอดคล้องกับกราฟของ Our World in Data ในช่วงแรกที่ผู้เขียนได้กล่าวถึง
ทุกท่านคงได้เห็นแล้วว่า ปีหมูเริ่มอยู่ยาก โดยเฉพาะเรื่องของภัยต่าง ๆ โอกาสนี้ผู้เขียน ใคร่ขอรวมพลังกับท่านผู้อ่านที่จะช่วยกันลดมลพิษคนละเล็กคนละน้อยโดยเริ่มจากในครอบครัว เพื่อให้ส่งผลกระทบในระดับโลก เพื่อให้โลกของเราน่าอยู่ต่อไปครับ
โดย เตชิต ทิวาเรืองรอง
ข้อมูลอ้างอิง
https://ourworldindata.org/world-population-growth
https://www.trf.or.th/div3download/files/TARC2.pdf
Facebook กรมอุตุนิยมวิทยา และ กองสื่อสาร กรมอุตุนิยมวิทยา
Australian Met Office
https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_2094514
https://workpointnews.com/2019/01/23/สถานการณ์ฝุ่นละออง-pm-2-5-ใน01/