หากเปรียบเทียบเป็นโปรไฟล์ของคน เมืองน่าน นับเป็นคนคุณภาพที่สมบูรณ์แบบในแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นความรุ่มรวยของศิลปวัฒนธรรมอันมีเอกลักษณ์ แหล่งท่องเที่ยวที่มีหลากหลาย และผู้คนเมืองน่านที่ล้วนน่ารัก มีมิตรไมตรีต่อผู้มาเยือน ทั้งหมดนี้ทำให้ เมืองน่าน เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางยอดนิยมในใจของนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ ที่ได้มาแล้วก็ต้องอยากมาอีกแบบไม่รู้เบื่อ
ไม่เพียงเท่านั้นความครบเครื่องของเมืองน่าน ยังได้รับการเติมเต็มด้วยโปรไฟล์ด้าน “การท่องเที่ยวยั่งยืน” จากการที่ ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ได้รับรางวัลแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก ในประเด็นการจัดการขยะท่องเที่ยวด้วยกระบวนการทางสังคมของเมืองเก่าน่าน จาก Green Destinations ซึ่งเป็นองค์กรรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนชั้นนำของประเทศเนเธอร์แลนด์อีกด้วย
มาในปี 2568 ที่จะถึงนี้ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ได้ประกาศข่าวดีให้ชาวไทยได้ร่วมลุ้นไปพร้อมกันอีกครั้ง เมื่อเมืองน่านได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (The Creative Cities Network : UCCN) ในด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ซึ่งถ้าเมืองน่านได้รับรางวัล จะทำให้เรามี ‘เมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก แห่งที่ 8’ ของไทย หลังจากที่ 7 จังหวัดในประเทศไทยได้รับการประกาศให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกแล้ว ได้แก่ ภูเก็ต เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ เชียงใหม่และสุโขทัย เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน และ เพชรบุรี เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร สุพรรณบุรี เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี เชียงราย เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ
เปิดโปรไฟล์ “เมืองน่าน” ต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก สมศักดิ์ศรีว่าที่ ‘เมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก แห่งที่ 8’ ของไทย
ตามนิยามที่ยูเนสโกได้กำหนดไว้ องค์ประกอบสำคัญของ เมืองสร้างสรรค์ (Creative City) คือ “ความร่วมมือระหว่างชุมชนท้องถิ่นและภาครัฐในการสร้างสรรค์เมืองผ่านการพัฒนาสภาพแวดล้อม โครงสร้างทางสังคม ระบบโครงสร้างและเศรษฐกิจ และการนำทรัพย์สินทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีของท้องถิ่นมาผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อนำไปสู่การเป็นเมืองที่เอื้อต่อการสร้างธุรกิจหรืออุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ (Creative Industry)”
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตามนิยามนี้แล้ว เมืองน่าน นับว่ามีองค์ประกอบที่พร้อมได้รับการพัฒนาให้เป็น เมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้เมืองน่านมีการพัมนาอย่างยั่งยืนภายใต้วิสัยทัศน์ น่าน เมืองเก่ามีชีวิต โดยขับเคลื่อนด้วยศักยภาพและความเข้มแข็งของชุมชนใน 15 อำเภอ ที่มีภูมิปัญญาด้านหัตถกรรมซึ่งได้รับการต่อยอดพัฒนาผ่านการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ และมีสินค้าที่เป็นหัตถกรรมพื้นบ้านอย่าง “ผ้าทอเมืองน่าน” ที่มีความโดดเด่น ด้วยลวดลาย สีสัน เส้นไหม ฝ้าย คุณภาพ ผสานกับฝีมือของผู้ทอ รังสรรค์เป็น ผ้าทอไทลื้อลายน้ำไหล ด้วยเหตุนี้ ผ้าทอเมืองน่านจึงเป็นงานหัตถกรรมกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ของผลิตภัณฑ์ในจังหวัดทั้งหมด จึงสื่อถึงอัตลักษณ์เมืองน่านได้เป็นอย่างดี
ศุภรดา กานดิศยากุล รองผู้จัดการปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองเก่าน่าน ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงความโดดเด่นของจังหวัดน่านว่า
“ตามแนวทางการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองเก่าน่าน อพท. ได้ดำเนินการตามแนวทางเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) เพื่อพัฒนาและยกระดับให้พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและระดับสากล”
“โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา อพท. ได้ร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนให้ ตำบลในเวียง จังหวัดน่าน (Nan Old City) ในธีม “เมืองเก่ามีชีวิต” ทำให้เมืองเก่าน่านได้รับเลือกเป็น 1 ในแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก ในประเด็นการจัดการขยะท่องเที่ยวด้วยกระบวนการทางสังคมของเมืองเก่าน่าน จาก Green Destinations ซึ่งเป็นองค์กรรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนชั้นนำของประเทศเนเธอร์แลนด์”
“มาในปีนี้ อพท. ได้เดินหน้าผลักดันจังหวัดน่านเข้าชิงเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (The Creative Cities Network : UCCN) ในด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน เพื่อเป็นการย้ำความสำเร็จของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและเพื่อสร้างต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนในระดับประเทศและในระดับสากล รวมทั้งส่งเสริมให้จังหวัดน่านเกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม”
“แต่อย่างไรก็ดี โจทย์ที่ท้าทายที่สุดของเมืองน่าน คือ การดึงเอาทุนทางวัฒนธรรมที่น่านมีอยู่มาสร้างคุณค่า สร้างมูลค่า สร้างรายได้ให้กับคนเมืองน่านตามแนวทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Tourism ซึ่งที่ผ่านมามีหลายต้นแบบ ที่ทาง อพท. เข้าไปร่วมมือกับชุมชน ส่งเสริมให้เกิดการยกระดับทุนวัฒนธรรมหรืออัตลักษณ์ของเมืองน่านให้มาสร้างรายได้ให้กับชาวเมือง”
ต้นแบบ 5 กิจกรรมท่องเที่ยวเมืองน่าน ตัวแทนบ่งชี้ “แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน” ที่พร้อมต่อยอดสู่ Green Destination
เพื่อให้เห็นภาพการพัฒนาเมืองน่านด้วยการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อพท. พื้นที่พิเศษน่าน ได้ยกตัวอย่าง กิจกรรมท่องเที่ยวที่ทาง อพท. ได้ร่วมมือกับชุมชนออกแบบขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนเมืองน่านได้สัมผัสถึงวัฒนธรรม เอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของเมืองน่านผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้
กิจกรรมการแต้มสีหัวเรือจิ๋ว การนำลวดลายหัวเรือเอกลักษณ์ของน่านมาปรับเป็นกิจกรรมการแต้มสีหัวเรือจิ๋ว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งต้นแบบของการแปลงเอาทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นภูมิปัญาและอัตลักษณ์ของเมืองน่านมาปรับเป็น กิจกรรมการแต้มสีหัวเรือจิ๋ว (เรืออัตลักษณ์น่าน) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนเมืองน่านสามารถทำของที่ระลึกแบบที่มีชิ้นเดียวในโลกด้วยตัวเอง โดยมีผู้สอนทำหัวเรือที่มีประสบการณ์ในชุมชนตำบลม่วงตื้ด อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน เป็นผู้สอนและให้คำแนะนำ
กิจกรรมการทำโคมมะเต้าหรือโคมหม่าเต้า เป็นโคมแขวนที่ในอดีตจะใช้สำหรับคนชั้นสูงนำไปปรับดับตกแต่งคุ้มเจ้านายเพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองหรืองานประเพณีสำคัญ โดยโคมมะเต้าจะมีลักษณะเป็นมุมเหลี่ยมเหมือนเพชรและทรงกลมเหมือนแตงโมเป็นที่ม่ของชื่อ “มะเต้า” ที่แปลว่า แตงโม ในภาษาเหนือ จากนั้นนักท่องเที่ยวสามารถนำโคมมะเต้าที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้ไปถวายที่พระธาตุแช่แห้งเพื่อที่ทางพระธาตุแช่แห้งจะนำออกมาประดับในช่วงงานประเพณีประจำปี
โดยกิจกรรมการทำโคมมะเต้านี้เป็นกิจกรรมที่ อพท. ได้ร่วมกับชุมชนบ้านโคมคำ ตำบลม่วงตื้ด อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน รื้อฟื้นขึ้น เพื่อให้เป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวจะได้มาเรียนรู้อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของเมืองน่าน ซึ่งเมื่อก่อนโคมมะเต้าในรูปแบบเฉพาะของเมืองน่านนี้แทบจะเลือนหายไปด้วยการไปนำโคมสำเร็จรูปที่จำหน่วยในจังหวัดเชียงใหม่มาใช้ ทาง อพท. และชุมชน จึงร่วมกันพลิกฟื้นภูมิปัญญานี้ขึ้นและใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นมาประดิษฐ์เป็นโคมมะเต้าแทนที่การซื้อวัสดุมาจากที่อื่น
กิจกรรมการเขียน “ตั๋วเมือง” หรือ “ตัวเมือง” เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เป็นต้นแบบของการฟื้นฟู รักษา และสืบสานอักษรธรรมล้านนาให้คงอยู่ ถือได้ว่าเป็นอักษรแห่งภาษาแม่ของชาวล้านนาและภูมิปัญญาแห่งนักปราชญ์ เป็นเอกลักษณ์และอักษรอันสูงสุดของภาคเหนือ ใช้เขียนพระธรรม คำสั่งสอนและพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ศิลาจาริก ประวัติศาสตร์ โหราศาสตร์ กฎหมายอาณาจักรหลักคำของนครน่าน สัพพะองค์ความรู้ศาสนา ตำรายาสมุนไพรต่างๆ โดยกิจกรรมนี้เปิดให้นักท่องเที่ยวได้ฝึกเขียน ฝึกอ่าน จนเกิดความคล่องแคล่ว จากนั้นให้นำไปเขียนบนกระเป้าย่ามเพื่อเป็นของที่ระลึก โดยมีวิทยากรเป็นปราชญ์ท้องถิ่นและสล่าของเมืองน่าน เป็นผู้ให้ความรู้ตลอดกิจกรรม
กิจกรรมโฮงฮักสมุนไพร “บ่อสวกเฮิร์บ” นักท่องเที่ยวจะได้มารับฟังเรื่องราวของการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมและพัฒนาสมุนไพร “บ่อสวกเฮิร์บ” พร้อมเข้าร่วมกิจกรรมโฮงฮักสุขภาพ ที่มีกิจกรรมไฮไลต์อย่างกิจกรรมฮมยาสมุนไพร กิจกรรมนี้เป็นการใช้สมุนไพรพื้นบ้านที่หาได้ในท้องถิ่น โดยนำขิง ข่า หอมแดง ตะไคร้ ใบกะเพรา โหระพาใส่ลงในกะละมัง จากนั้นเทน้ำร้อนลงในภาชนะ บีบน้ำมะนาว ผิวมะกรูดและลูกมะกรูดผ่าครึ่ง นำผ้าคลุมศีรษะและภาชนะ แล้วเอาใบหน้าไปอังเหนือภาชนะ สูดดมไอระเหยของสมุนไพรผ่านไอน้ำ ในแต่ละครั้งสุมนาน 3-5 นาที ช่วยบรรเทาอาการหวัดคัดจมูกได้ และด้วยวิธีนี้เองที่ช่วยให้ชุมชนนี้สามารถผ่านวิกฤตโควิดด้วยการรักษาและดูแลตนเอง นอกจากนั้นที่ชุมชนบ่อสวกยังมีกิจกรรมเดินชมแปลงสาธิตปลูกสมุนไพรและสวนเมี่ยงยายไหว สวนเมี่ยงอายุกว่า 200 ปี ที่นักท่องเที่ยวสามารถชิมเมี่ยงค่ำสูตรโบราณอีกด้วย
โดยที่ผ่านมา อพท. ได้เป็นทั้ง “พี่เลี้ยง” และ “ที่ปรึกษา” ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมและพัฒนาสมุนไพร “บ่อสวกเฮิร์บ” ด้วยการร่วมยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนบ่อสวกเฮิร์บและให้ความรู้เรื่องการทำการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้ร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เข้ามาศึกษาวิจัยเพื่อยกระดับการหาสรรพคุณและต่อยอดสมุนไพรในท้องถิ่นให้มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นด้วย
กิจกรรมเยี่ยมชมโฮงเจ้าฟองคำ โฮงเจ้าฟองคำเป็นบ้านทรงไทยล้านนาเก่าที่สร้างขึ้นในปี 2368 และในปัจจุบัน ได้เปิดให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ แหล่งเรียนรู้ต้นแบบด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตการทอผ้า บอกเล่าการเดินทางของดอกฝ้ายสู่ผ้าซิ่นผืนงาม โดยเฉพาะผ้าซิ่นลายน้ำไหลที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองน่าน
และนอกเหนือจากแง่งามของวัฒนธรรมน่านที่ทุกคนจะได้มาซึมซับที่โฮงเจ้าฟองคำแล้ว ที่นี่ยังเป็นแหล่งรวมตัวของเยาวชนเมืองน่าน ที่ส่วนหนึ่งเข้ามาร่วมกิจกรรมของกองทุนพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน หรือ DNYC ที่เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือกับ สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 (อพท.6) ซึ่งปัจจุบันมีน้องๆ เยาวชนในพื้นที่จังหวัดน่านกว่า 36 คน ได้รับโอกาสมาเป็นทั้งอาสานักสื่อความหมายให้กับโฮงเจ้าฟองคำ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวน่าสนใจให้แก่นักท่องเที่ยว และร่วมเป็นเยาวชนอาสาให้การต้อนรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาเยือน ตลอดจนทำการแสดงที่สื่อถึงวัฒนธรรมเมืองน่าน ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของการดึงเอากลุ่มเยาวชนเมืองน่านให้ได้มาเรียนรู้และร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมของเมืองน่านให้อยู่สืบไป
นอกเหนือจากกิจกรรมท่องเที่ยวที่เป็นจิ๊กซอว์แต่ละชิ้น ปะติดปะต่อให้ภาพของความเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่ Green Destination และเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกได้แล้ว สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 (อพท.6) ยังได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์อิวเมี่ยนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในด้านปราชญ์ ศิลปิน และครูภูมิปัญญา เพื่อยกระดับงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านจังหวัดน่านเชิงสร้างสรรค์
โดยร่วมกับ บริษัท ดอยซิลเวอร์แฟคตอรี่ จำกัด และกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง จัดทำโครงการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วมเกี่ยวกับภูมิปัญญาการผลิตเครื่องเงินของจังหวัดน่าน ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์อิ่วเมี่ยน ผลักดันโครงการฝึกอบรมแรงงานเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ สามารถต่อยอดภูมิปัญญาการทำเครื่องเงินสู่รุ่นต่อไป
โครงการนี้ ได้เปิดรับเยาวชนชาวชนเผ่ามาฝึกอาชีพที่ บริษัท ดอยซิลเวอร์แฟคตอรี่ จำกัด พร้อมกับศึกษาต่อในระบบทวิภาคี หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และปริญญาตรี สาขาวิชาช่างทองหลวง สาขางานเครื่องประดับอัญมณีและสาขางานออกแบบเครื่องประดับอัญมณี กับ กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง ด้วยการดำเนินโครงการนี้ ส่งผลให้ อพท. ได้รับรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประเภทราชการส่วนกลาง ระดับดี ประจำปี 2566 (Human Rights Awards 2023)
โอกาสที่ซ่อนอยู่ในความท้าทาย ดันเมืองน่านเป็น “เมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก แห่งที่ 8’ ของไทย ให้ได้ ในปี 2568
จากจุดเด่นและความเข้มแข็งของชุมชน ตลอดจนการจับมือกันแน่นมากพอของทุกฝ่ายนี่เองที่เป็นปัจจัยผลักดันให้ เมืองน่าน ครบเครื่องในฐานะ “เมืองท่องเที่ยวยั่งยืน” ทว่าเมื่อเหรียญยังมีสองด้าน อีกด้านหนึ่งของเส้นทางการพัฒนาเมืองน่านสู่การเป็น “เมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก แห่งที่ 8’ ก็มีความท้าทายซ่อนอยู่ ซึ่งตอนนี้ได้รับการแทนที่ด้วย “โอกาส” แล้ว โดยคุณศุภรดา บอกเล่าให้เราเห็นภาพความสำเร็จนี้เพิ่มเติมว่า
“ที่ผ่านมา อพท. ได้สนับสนุนให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เชิงสร้างสรรค์และนำเสนอผลงานด้านงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านจังหวัดน่าน ส่งเสริมให้ศิลปิน ผู้ประกอบการงานหัตถกรรมในพื้นที่จังหวัดน่าน ได้มีพื้นที่ในการจัดแสดงผลงานและนำเสนอขายสินค้าหัตถกรรมท้องถิ่น เกิดการพัฒนาทักษะบุคลากรเชิงสร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเมืองน่านและหัตถกรรมพื้นบ้าน”
“และได้ขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านกับการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) เพื่อตอบโจทย์วิสัยทัศน์เมือง คือ “เมืองแห่งความสุข และสร้างสรรค์” ส่งผลให้เยาวชนในพื้นที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนพื้นที่สร้างสรรค์ และต่อยอดสู่การเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) รองรับการกลับมาทำงานที่บ้านเกิดของเยาวชนในอนาคต สร้างความมั่นคงทางด้านอาชีพในพื้นที่น่านและเกิดการผลักดันโมเดลสู่การกระจายไปยังพื้นที่อำเภอต่างๆ ในจังหวัดน่าน ภายใต้ความร่วมมือของ อพท.น่าน หน่วยงานรัฐ เอกชนและชุมชน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน”
ด้าน ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ รองผู้อำนวยการ อพท. ได้เน้นย้ำถึง Key Success สำคัญของการพัฒนาพื้นที่เมืองน่าน ให้คงความเป็น “เมืองเก่ามีชีวิต” แต่สามารถขับเคลื่อนศักยภาพของเมืองไปบนเส้นทางความเป็นเมืองท่องเที่ยวยั่งยืน เมืองท่องเที่ยวสีเขียว และ “เมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก แห่งที่ 8’ ของไทย ให้ได้ ในปี 2568
“จังหวัดน่าน หรือ เมืองน่าน มีความพิเศษตามการขนานนามว่า เมืองเก่ามีชีวิต เพราะในเมืองเก่าแห่งอื่นในประเทศไทยแม้จะมีเมืองเก่าหรือโบราณสถานตามนิยาม แต่ก็ไม่เหมือนกับเมืองน่าน เพราะนอกจากน่านจะมีองค์ประกอบความเป็นเมืองเก่าแล้ว ยังมี “ชีวิต” ด้วยเรื่องราวความเป็นมาของเมืองเก่า บวกกับผู้คน ชุมชน ที่เข้มแข็ง ปัจจัยเหล่านี้จึงสามารถขับเคลื่อนเมืองน่านให้เติบโตในด้านการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน”
“โดยผลสำเร็จในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในเขตพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมืออย่างดียิ่งของภาคีพัฒนาทุกภาคส่วน โดยเฉพาะทีมท่องเที่ยวน่าน ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ประกอบกับชุมชนในเขตพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ตระหนักถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วม และจิตสำนึกในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพในรูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว เชิงวัฒนธรรมอาหาร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและได้จัดตั้งชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านได้รับรางวัลด้านการท่องเที่ยว ด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติมากมาย จนก่อให้เกิดการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการพัฒนาทุกด้านที่กล่าวมานี้เอง ที่จะเป็นรากฐานสำคัญให้เมืองน่านมีความพร้อมเข้าชิงเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ในปี 2568 ได้อย่างแน่นอน”
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2024/08/24/nan-way-to-the-creative-city-network-uccn/