7 แนวทางการใช้ประโยชน์ CO2 เป็นผลิตภัณฑ์เมทานอล

Share

Loading

ในวันนี้ที่ ภาวะโลกร้อน ยกระดับความรุนแรงขึ้นเป็น ภาวะโลกเดือด “ภาคอุตสาหกรรม” ทั่วโลก ต่างต้องตกเป็นจำเลยสำคัญตัวการก่อให้เกิดวิกฤตนี้แบบยากที่จะถกเถียงอะไรได้ เพราะตั้งแต่โลกเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (The Industrial Revolution) เพื่อให้มนุษย์มีนวัตกรรมใหม่ๆและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นก็ต้องแลกด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาลขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศอย่างมีนัยสำคัญ

มาในวันนี้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นและส่งผลต่อมวลมนุษยชาติในเชิงประจักษ์ นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือ Climate Chage ที่ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มสูงขึ้น เกือบทุกภูมิภาคบนโลกต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนมากขึ้น ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิส่งผลต่อปริมาณฝน โดยทำให้เกิดพายุที่รุนแรงขึ้นและถี่ขึ้น

ส่วนมหาสมุทรก็ต้องดูดซับความร้อนอันเกิดจากภาวะโลกร้อน ส่งผลให้น้ำแข็งละลายและระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ชุมชนริมชายฝั่งและผู้คนที่อยู่อาศัยบนเกาะต่างได้รับผลกระทบอย่างหนักเป็นกลุ่มแรกๆ และการที่มหาสมุทรต้องดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 ไม่ให้ขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ จะส่งผลให้น้ำทะเลเป็นกรดและเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลอีกด้วย

นี่เป็นแค่หายนะเพียงส่วนหนึ่งที่เกิดจากการปล่อยก๊าซ CO2 สู่ชั้นบรรยากาศ โดยตัวการสำคัญคือภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ ก็มาจากอุตสาหกรรมการผลิตเป็นอันดับหนึ่ง

  • อุตสาหกรรมการผลิต ร้อยละ 31
  • การผลิตไฟฟ้า ร้อยละ 27
  • การเกษตรกรรมและปศุสัตว์ ร้อยละ 19
  • การขนส่ง ร้อยละ 16
  • กระบวนการปรับอากาศ ร้อยละ 7

ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะเป็นจากอุตสาหกรรมการผลิต การผลิตไฟฟ้า การเกษตรกรรมและปศุสัตว์ และการขนส่ง ต่างตื่นตัวและตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จนนำสู่การประกาศเป้าหมายที่จะเดินหน้าสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อบรรลุ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050” ซึ่งแนวทางในการนำประเทศไปสู่เป้าหมายได้อย่างยั่งยืน คือ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงเข้ามาสนับสนุน รวมถึงการสร้างต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำในพื้นที่ที่มีศักยภาพ ภายใต้ความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ เอกชน และชุมชน

และในส่วนการสร้างต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำในพื้นที่ที่มีศักยภาพ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (Thai Cement Manufactures Association: TCMA) สมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย (Thailand Concrete Association: TCA) และภาคีต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดสระบุรี ร่วมขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเขตนวัตกรรม Net Zero Emission “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ (Saraburi Sandbox)” เพื่อดำเนินการด้านนวัตกรรม การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงเข้ามาสนับสนุนการช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับประเทศไทย

โดยแนวทางที่ สอวช. และหน่วยงานพันธมิตรจะได้เดินหน้าดำเนินการ คือ โครงการการศึกษาการใช้ประโยชน์ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์เมทานอล ที่จะช่วยเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการพัฒนานโยบาย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศ และสนับสนุนการดำเนินการ สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ โดยเป็นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนเทคโนโลยีสีเขียวในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของพื้นที่จังหวัดสระบุรี

ทั้งนี้ การศึกษาจะครอบคลุมเกี่ยวกับเมทานอลที่ผลิตได้จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการใช้ก๊าซไฮโดรเจนร่วมด้วย ทั้งในด้านความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี การวิเคราะห์ศักยภาพตลาด ความคุ้มทุน ภาพรวมของตลาด ราคาของสินค้า Value chain ปริมาณอุปสงค์และอุปทาน และข้อจำกัด กฎหมายต่างๆ ของเมทานอลจากการใช้ประโยชน์ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจในการลงทุนเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อย่างไรก็ดี มีการคาดการณ์ว่าหากมีการดำเนินการใช้ประโยชน์ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ผลิตภัณฑ์เมทานอลอย่างแพร่หลาย คาดว่าจะสามารถช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของไทยลงได้ถึง 12 ล้านตัน โครงการนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยน “วิกฤติโลกร้อน” ให้เป็นโอกาสในการพัฒนา “เศรษฐกิจสีเขียว” ที่จะช่วยทั้งลดก๊าซเรือนกระจก และยังได้พัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศอีกทางหนึ่งด้วย

โดย 7 แนวทางการดำเนินโครงการการศึกษาการใช้ประโยชน์ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์เมทานอล มีดังนี้

  1. การวิเคราะห์ปริมาณและความสามารถในการผลิตไฮโดรเจนในประเทศไทย
  2. การวิเคราะห์ปริมาณและความสามารถการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ ในประเทศไทยและในสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ (Saraburi Sandbox)
  3. การวิเคราะห์ปริมาณและความสามารถในการใช้งาน Methanol ในประเทศไทย
  4. นโยบาย และ Roadmap ของประเทศไทย ในการทำ Carbon Neutrality และการอัปเดตข้อมูลการประชุมประเทศภาคี COP28
  5. การทำวิจัยเกี่ยวกับเงินช่วยเหลือภาษีคาร์บอน Carbon Credit ในประเทศไทย
  6. การทำวิจัยเกี่ยวกับ Carbon Capture and Utilization
  7. ออกแบบแนวทางการเชื่อมโยงการใช้ข้อมูลจากการศึกษากับงานสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ (Saraburi Sandbox)

และในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการความร่วมมือการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพัฒนาเขตนวัตกรรม Net Zero Emission สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า

“สอวช. เป็นหน่วยประสานงานกลางการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (National Designated Entity: NDE) ภายใต้กลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Mechanism) ของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC)”

“และจากการเข้าร่วมประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ (COP) ทุกปี ได้เห็นว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญของการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) เข้าถึงโอกาสการได้รับการสนับสนุนจากกลไกระดับนานาชาติที่ปัจจุบันมีการพัฒนาต่างจากในอดีตเป็นอย่างมาก”

“แต่เพื่อไม่ให้ประเทศไทยต้องพึ่งพาเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology) จากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว มีศักยภาพและทรัพยากรต่างๆ เพียงพอที่จะพัฒนา เล็งเห็นการมีพื้นที่นำร่องนวัตกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อย่าง SARABURI SANDBOX จะเป็นการแสดงให้เห็นความเอาจริงเอาจังกับระดับนานาชาติ และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างพุ่งเป้า ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการสนับสนุนระดับนานาชาติและสร้างผลกระทบสูงจากการรวมกันดำเนินการใน 1 พื้นที่”

“โดยพื้นที่จังหวัดสระบุรีมีความพร้อมด้วยภาคอุตสาหกรรมซีเมนต์เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของพื้นที่นี้ จึงมีความจำเป็นในการใช้เทคโนโลยีในการเปลี่ยนผ่านและสร้างผลกระทบสูงในการให้เกิดพื้นที่ Net Zero Emission ซึ่งภายใต้บันทึกข้อตกลงนี้ สอวช. ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อการศึกษาการใช้ประโยชน์ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์เมทานอล เป็นโครงการเริ่มต้นด้วย”

ด้าน ดร.ชนะ ภูมี นายก TCMA ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “การลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่าง TCMA และ สอวช. ในวันนี้ นับเป็นอีกก้าวของความร่วมมือเดินหน้าสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำที่จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี มาสนับนุนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่การบรรลุเป้าหมาย Thailand 2050 Net Zero Cement and Concrete รวมถึงเชื่อมโยงการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และแหล่งทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการพัฒนาเขตนวัตกรรม Net Zero Emission สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ (SARABURI SANDBOX)”

“โดยโครงการแรกที่จะร่วมกันดำเนินการ คือ ‘การศึกษาการใช้ประโยชน์ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์เมทานอล’ ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ครอบคลุมด้านเทคโนโลยีห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ปริมาณอุปสงค์ อุปทาน (Demand Supply) กฎระเบียบและข้อจำกัดต่างๆ และเชื่อมโยงผลการศึกษากับการดำเนินงานภายใต้สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ เพื่อให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกลไกระดับนานาชาติ”

*“เพราะการสามารถใช้ประโยชน์ CO2 ให้เป็นผลิตภัณฑ์เมทานอล (Methanol) จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการหมุนเวียนคาร์บอนสำหรับเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนเทคโนโลยีสีเขียวในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของจังหวัดสระบุรี ทั้งนี้ ประมาณการว่า ด้วยวิธีการนี้ จะสามารถช่วยประเทศไทยลดก๊าซเรือกระจกได้ถึง 12 ล้านตัน CO2 ต่อปี”

และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งปฏิบัติการที่เราต้องติดตามผลลัพธ์ของการนำไปปรับใช้จริงตามแผนยุทธศาสตร์ที่กล่าวมานี้ ซึ่งแน่นอนว่าหากทำได้ นอกจากเราจะได้ต้นแบบเขตนวัตกรรม Net Zero Emission สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ แล้ว ภารกิจนี้ยังจะช่วยยกระดับให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยค่อยๆ หลุดพ้นจากการเป็นตัวการสำคัญในการปล่อย CO2 และขยับเข้าใกล้เส้นชัยของการมี “เศรษฐกิจสีเขียว” ดังที่หลายภาคส่วนคาดหวังไว้ได้ ไม่นานเกินรอ

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/08/18/7-ways-to-use-co2-to-methanol-product/