ผ่าทางรอด “เอสเอ็มอี” ชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ต้องไม่ตายในสมรภูมิอีวี

Share

Loading

แม้ในช่วงที่ผ่านมา การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี จะเป็นการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศมาประกอบในเมืองไทย แต่ในอนาคตมองโอกาสระยะยาว ทุกค่ายจำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนในเมืองไทย เพื่อต้นทุนที่ถูกกว่า และไม่ขัดกับกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ แต่ปัญหาคือ บริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี มีศักยภาพเพียงพอในการปรับตัวเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี หรือเปล่า

ปัจจุบันค่ายรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ล้วนมาจากจีน แต่เริ่มมีค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นและเกาหลีขอรับการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากบีโอไอบ้างแล้ว ค่ายรถยนต์ชั้นนำของจีน ได้แก่ BYD, MG, Great Wall Motor, NETA, Changan, GAC Aion และ Omoda & Jaecoo เคยร่วมแสดงวิสัยทัศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงแผนการจัดซื้อจัดหาชิ้นส่วนในประเทศไทย พร้อมสนับสนุนการยกระดับผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ Supply Chain

โดยทุกค่ายรถยนต์ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ซึ่งจะมีการลงทุนในส่วนโรงงานผลิต รวมทั้งจัดจำหน่ายในไทยและต่างประเทศ โดยจะร่วมมือกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน และใช้ชิ้นส่วนในประเทศมากกว่าร้อยละ 40 จากผู้ผลิตชิ้นส่วนหลายรายในประเทศไทย และมีแผนการจัดซื้อเพิ่มขึ้นทุกปี ในอนาคตจะยกระดับการผลิตและพัฒนาชิ้นส่วนในประเทศให้เป็น “Made in Thailand” เพื่อสร้างความสำเร็จร่วมกัน บางค่ายตั้งเป้าใช้ชิ้นส่วนในไทยถึงร้อยละ 60 และมีโอกาสที่จะเพิ่มไปถึงร้อยละ 90 จากมาตรการสนับสนุนของรัฐบาลไทย รวมถึงการร่วมมือกับ Supplier ไทย ในการพัฒนานวัตกรรม รวมทั้งสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยเชื่อมั่นว่านโยบายสนับสนุนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการไทย และค่ายรถยนต์ สามารถเพิ่มโอกาสในการเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าในตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม บริษัทผลิตชิ้นส่วนของไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี จำนวนมากกระจายอยู่ในกลุ่มเทียร์ 3 เทียร์ 4 โอกาสที่จะปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือนำนวัตกรรมเข้ามารองรับการเปลี่ยนผ่านเป็นเรื่องยาก และหลายรายเลือกที่จะปิดกิจการหรือหันไปทำอุตสาหกรรมอื่นแทน ซึ่งจะกระทบต่อแรงงานจำนวนนับแสนที่จะต้องตกงานจากการเปลี่ยนดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้ บีโอไอจึงได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ (ประกาศ BOI ที่ 11/2567 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2567) ส่งเสริมให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศมีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ฝึกอบรมบุคลากร นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อยกระดับมาตรฐานและการแข่งขัน พร้อมทั้งส่งเสริมการร่วมทุนระหว่างบริษัทไทยและต่างชาติในกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ (ผ่านบอร์ด BOI เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567) โดยมีเงื่อนไขว่า นิติบุคคลไทยต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 เพื่อสนับสนุนให้ผู้ผลิตไทย มีโอกาสร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสร้างโอกาสทางธุรกิจ ยกระดับเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

มองในมุมของโอกาส นโยบายดังกล่าวจะสร้างความสนใจกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างชาติอยากเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ผ่านการร่วมทุนกับบริษัทชิ้นส่วนของไทย เพราะสามารถถือหุ้นได้สูงถึงร้อยละ 70 โดยไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ เอานอมินีมาถือหุ้นแทน ในขณะที่บริษัทชิ้นส่วนไทยก็จะได้รับนวัตกรรมมาพัฒนาธุรกิจจากบริษัทที่มาร่วมทุน ซึ่งถ้าบริษัทไทยมีศักยภาพมากพอ ก็อาจถือหุ้นมากกว่าผู้ร่วมทุนจากต่างชาติก็ได้ แต่ขั้นต่ำต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 30

เช่นเดียวกับกรมสรรพสามิต ได้ออกมาตรการส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ โดยได้กำหนดเงื่อนไขให้ค่ายรถยนต์ที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3 และ EV3.5 ต้องมีการใช้แบตเตอรี่หรือชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตในประเทศ เช่น มอเตอร์ขับเคลื่อน ระบบ BMS DCU อินเวอร์เตอร์ เกียร์ทดรอบ หรือคอมเพรสเซอร์ระบบปรับอากาศ ขณะที่กรมศุลกากรและกระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดให้ผู้ผลิตรถยนต์ EV ที่ตั้งในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรี จะต้องผ่านกระบวนการผลิตที่สำคัญ เช่น การตรวจสอบคุณภาพ และการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ โดยต้องใช้ชิ้นส่วนและวัตถุดิบที่ผลิตในไทยและอาเซียนไม่น้อยกว่า 40% ของราคาหน้าโรงงาน

การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมครั้งนี้ จึงไม่ปิดกั้นโอกาสผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยเสียทั้งหมด และหากมีการใช้วัตถุดิบประเทศสูงสุดถึงร้อยละ 90 เพื่อให้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกในอนาคต ก็จะเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัวรับเข้าสู่ Supply Chain ครั้งใหม่ได้อย่างมีลุ้น

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/09/06/way-of-thai-automotive-parts-smes/